ผู้เขียน หัวข้อ: นักวิชาการแนะล้มสวัสดิการ ขรก. ทำประกันสุขภาพระบบเดียวลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน  (อ่าน 984 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นักวิชาการเผยระบบหลักประกันสุขภาพไทยมีความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ คุณภาพการรักษา และค่าเบี้ยประกัน แนะทำระบบประกันสุขภาพระบบเดียว กำหนดชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียว และควรยุบเลิกสวัสดิการข้าราชการแบบค่อยเป็นค่อยไป

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างเสนอเรื่อง “กลไกการอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ภายในการประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 “จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพไทย 3 กองทุนหลัก ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ

1.สิทธิประโยชน์ เช่น ข้าราชการครอบคลุมบิดา มารดา ภรรยาและบุตร 3 คน แต่ประกันสังคมและหลักประกันฯไม่มี หรือข้าราชการและประกันสังคมไม่มีการชดเชยความเสียหายจากการรักษาพยาบาล แต่หลักประกันฯมีมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นต้น

2.คุณภาพการรักษาพยาบาล ระบบข้าราชการจะเบิกจ่ายตามจริง แต่ประกันสังคมและหลักประกันฯจะเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงอัตราการเบิกจ่ายในการรักษาโรคที่ต่างกัน ซึ่งข้อมูลจากสำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เช่น กลุ่มอาการปวดหัวไม่มีภาวะแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายต่อหัวระบบข้าราชการ 4,107.39 บาทต่อคน ประกันสังคม 1,512.23 บาทต่อคน หลักประกันฯ 2,650.90 เป็นต้น และ

3.ภาระค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน พบว่า ข้าราชการและหลักประกันฯได้รับงบประมาณจากภาครัฐ 100% แต่ประกันสังคมจะเป็นการสมทบจากลูกจ้าง/ผู้ประกันตน 33.33% นายจ้าง 33.33% และรัฐ 33.33%

ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า การลดความเหลื่อมล้ำต้องดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยอาจไม่ต้องรวมกองทุน แต่ต้องพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายจะเป็นระบบเหมาจ่ายหรือจ่ายตามจริง การคลังจะเป็นงบประมาณ เงินสมทบ หรือร่วมจ่ายของผู้ป่วย การคุ้มครองตั้งแต่ระยะเวลาที่คุ้มครองและสมาชิกครอบครัวที่คุ้มครอง 2.ต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียวทั้งกรอบของการคุ้มครอง โรคที่ได้รับการคุ้มครอง ระดับของการคุ้มครองหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยหรือสถานพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้ และ 3.สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน ผู้ประกันตน หรือนายจ้างมิใช่รัฐจะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการอุดหนุนด้านบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน

“การยุบเลิกระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ข้าราชการหรือพนักงาน ลูกจ้างบรรจุใหม่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยการเสียสิทธิโดยการเพิ่มเงินเดือน ส่วนข้าราชการรายเดิมให้เลือกที่จะใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย สำหรับการอภิบาลระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรมีหน่วยงานที่เป็นอิสระสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดนโยบายและกำกับดูแล มีการจัดเก็บภาษีสุขภาพ ระบบการเบิกจ่ายเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวและตามกลุ่มโรคร่วม(DRG) และระบบการตรวจสอบจะต้องมีศูนย์ข้อมูล มีหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพของการรักษาพยาบาลและมีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน เป็นต้น” ดร.เดือนเด่น กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์
7 พฤษภาคม 2556