ผู้เขียน หัวข้อ: พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ฉบับรัฐบาล) – กระจกสะท้อน สถานภา  (อ่าน 3123 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ฉบับรัฐบาล) – กระจกสะท้อน
สถานภาพวิกฤติของสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทย
ปัญหาที่ต้องสนใจและแก้ไขโดยด่วน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล
พ.บ. M.Sc. Med (penn)

ผู้เขียนบทความนี้เป็นอายุรแพทย์ ซึ่งใช้ชีวิตการเป็นอายุรแพทย์มายาวนานถึง 56 ปี  เคยเป็นอาจารย์แพทย์ก่อตั้งหน่วยโลหิตวิทยาในสถาบันการแพทย์ถึง 2 สถาบัน  คือ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี (2510-2522) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (2525-2533)   ปัจจุบันก็ยังเป็นอายุรแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่  ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ไทยมาตลอด โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีหลัง  มีความสะเทือนใจและห่วงใยว่า ความเสื่อมที่เกิดขึ้นนี้เพราะเรากำลังหลงทาง และเดินไปสู่ขอบ “เหว” ซึ่งเมื่อตกลงไปแล้วการแพทย์ไทยก็จะล่มสลาย  เมื่อได้ทราบว่ามี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งประชาชนน่าจะได้ประโยชน์และอาจทำให้วงการแพทย์ไทยฟื้นตัวขึ้น  จึงเกิดความสนใจและศึกษา ซึ่งจะขอสรุปผลดังนี้คือ

จุดมุ่งหมายของ พรบ.ฉบับนี้ มี 4 ประการคือ
   1)  ต้องการชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์แก่ผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว โดยจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายนั้น ๆ
   2)  ผู้ป่วยได้ประโยชน์จาก พรบ. ฉบับนี้ เพราะได้เงินชดเชยเร็วขึ้นโดยมาตรฐานบริการทางการแพทย์มิได้ลดลง
   3)  จะช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้น้อยลง
   4)  จะเป็นการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับ (ผู้ป่วย) และผู้ให้บริการ (แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์)

   พรบ.นี้มี 7 หมวด และ 50 มาตรา  จากการอ่านพิจารณาดูในฐานะแพทย์ซึ่งมิใช่นักกฎหมาย  มีความเห็นว่า พรบ. นี้มีข้อบกพร่องหลายประการที่จะนำไปสู่ความเสียหายแก่การแพทย์และการสาธารณสุขของชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย  ความวกวน ไม่กระจ่างชัด ขัดแย้งกันเอง ทำให้ พรบ. นี้ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย 4 ข้อต้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อ 1  หมวดที่ 1 ตามมาตรา 5 ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุน โดยมิต้องพิสูจน์ความรับผิด  แต่ในมาตรา 6 มีข้อขัดแย้งกันเองกล่าวคือ มีข้อยกเว้นสามข้อซึ่งจะจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 5 ไม่ได้  คือ 1) ความเสียหายเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น ๆ    2) ความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ   และ 3) ความเสียหายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

   ข้อยกเว้นในมาตรา 6 ทั้งสามข้อ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ซึ่งในคณะกรรมการไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว  การใช้ความเห็นของกรรมการที่ปราศจากความรู้ทางแพทย์ และให้ลงมติโดยการใช้คะแนนเสียง ทำให้การตัดสินเป็นไปโดยขาดหลักเกณฑ์ ปราศจากความยุติธรรม เป็นผลเสียหายทั้งแก่แพทย์และผู้ป่วย   นอกจากนั้นการมีข้อยกเว้นต้องพิสูจน์โดยใช้เวลา  การจ่ายเงินชดเชยจึงทำไม่ได้ในเร็ววันตามที่กำหนดไว้ ผิดจุดประสงค์ของ พรบ. ข้อ 1 และ ข้อ 2  การไม่ได้เงินชดเชยในระยะเวลารวดเร็วจะนำไปสู่การฟ้องร้องให้มากขึ้น กระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผิดเจตจำนง ข้อ 3 และ ข้อ 4 ของ พรบ.นี้

ข้อ 2  การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย  ในหมวด 4 (มาตรา 27-37)  มีข้อน่าสังเกตว่า มีการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจ ให้อุทธรณ์ได้ ถ้ายังไม่พอใจกับเงินชดเชยจากการอุทธรณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องศาลได้ทั้งทางแพ่งและอาญา  ดังนั้นจะทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จึงเกิดผลเสียหายตามมาคือ
1)   ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง นำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้น การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล มาตรฐานการแพทย์ต่ำลง เพราะผู้ป่วยขาดความเชื่อถือแพทย์ แพทย์ต้องโดนทำร้ายทางจิตใจอย่างมาก เสียทรัพย์สินและอาจจะเสียอิสรภาพ หมดกำลังใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย
2)   การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียหายเมื่อมีปัญหา ต้องพิสูจน์โดยกรรมการที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์  ทำให้การพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์ เป็นการทำลายหลักวิชาแพทย์ ซึ่งควรตัดสินด้วยความรู้ทางวิชาการร่วมกับเมตตาธรรม แต่กรรมการชุดนี้ทำไม่ได้

ข้อ 3 ที่มาของกองทุน (หมวด 3 มาตรา 20-24)
กองทุนมีที่มาหลายแห่ง ขอวิจารณ์เพียง 2 แห่ง คือ
1.  จากโรงพยาบาลเอกชน
2.  จากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย

ผลที่เกิดขึ้น
1.  โรงพยาบาลเอกชนจะขึ้นค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำมาจ่ายให้กองทุน ผู้ป่วยจะต้องเสียเงินมากขึ้นโดยไม่ได้รับการบริการที่ดีขึ้น
2.  โรงพยาบาลของรัฐซึ่งไม่มีเงินอยู่แล้ว คงต้องหาเงินโดยการหักจากงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานที่ต่ำลงทั้งที่ปัจจุบันก็แย่อยู่แล้ว

ข้อ 4  กรรมการบริหารพรบ. (หมวดที่ 2 มาตรา 7-16)
   1.  คุณสมบัติของกรรมการ ไม่ครบถ้วน ขาดองค์ประกอบที่สำคัญคือ กรรมการวิชาชีพ ได้แก่ ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเภสัชกรรม ผู้แทนสมาคมแพทย์คลินิกไทย ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  ที่ปรากฏใน พรบ.มีเพียงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านบริการสุขภาพ จำนวน 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน สิทธิมนุษยชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุขด้านละหนึ่งคน

   ผู้แทนสภาวิชาชีพเป็นหัวใจสำคัญ จำเป็นมากเพราะต้องดูแลและสร้างมาตรฐานทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปใช้ในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนต่อไป เท่าที่ทราบจากการแก้ไขร่างครั้งแรกได้เพิ่มเติมกรรมการวิชาชีพลงไปในพรบ.โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ถูกตัดทิ้งไปด้วยเหตุผลอย่างใดไม่ชัดเจน

   เป็นที่น่าสังเกตุว่ากรรมการบริหารจำนวนเพียงไม่กี่คนที่ดูแลกองทุนนี้มีสิทธิจ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการบริหารจัดการกองทุนมากถึง 10% จากเงินกองทุน โดยไม่ได้ระบุว่ามีกลไกตรวจสอบการใช้เงินอย่างรัดกุมหรือไม่?

   2)  ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของกรรมการ เขียนไว้ไม่ชัดเจน ไม่มีข้อจำกัด สามารถลงโทษโดยปรับไหมผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าไป สามารถฟ้องศาลพิจารณาผู้ที่ไม่ร่วมมือจำคุกได้ 6 เดือน

        ปรับไหม ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าถูกปรับเดือนละ 2% ปีละ 24% ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์อะไร ในเมื่อดอกเบี้ยนอกระบบยังน้อยกว่านี้  ถ้าพรบ.นี้ร่างโดยนักสิทธิมนุษยชน และแพทย์ที่ได้ MD แต่เลิกไม่ดูแลผู้ป่วยแล้ว ประเทศไทยจะหวังอะไรกับการร่างกฎหมายชนิดนี้?

        ฟ้องศาลจำคุกได้ถึง 6 เดือน เป้าคือใคร? นอกจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วย  ผู้ร่าง พรบ.ควรทราบว่า แพทย์และพยาบาลที่จะมีปัญหาในเรื่องคดีส่วนใหญ่เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลรัฐบาล ที่คนไข้ล้นมือจนทำไม่ไหว เมื่อทำไม่ไหวก็ย่อมมีข้อผิดพลาด ถ้าแพทย์หรือพยาบาลต้องเดินทางมาให้ปากคำ คนไข้ก็ไม่มีคนตรวจรักษาดูแล มาตรฐานการแพทย์ก็ยิ่งต่ำลง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ยิ่งเลวลง คนไข้จำนวนมากอาจพิการหรือเสียชีวิตเพราะมีหมอไม่พอจะรักษา

   ในปัจจุบันนี้ประชาชนที่ยากจนเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเดือดร้อนแสนสาหัส  เพราะแพทย์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการฟ้องร้องระบาดไปทั่วจนแพทย์ “ขยาด” จะให้การรักษาผู้ป่วยหนักในภาวะที่มีความ “จำกัด” ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดย “รัฐ” ไม่เคยเหลียวแลแก้ปัญหาให้อย่างจริงใจ พรบ.ฉบับนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเดือดร้อนมากขึ้นจนนำไปสู่ความล่มสลายของแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศให้เกิดรวดเร็วขึ้น

ปัจจุบันนี้แพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลชุมชนหรือแม้แต่โรงพยาบาลศูนย์ทำงานด้วยความยากลำบาก ทุกคนหมดกำลังใจ ขยาดต่อการรักษาดูแลผู้ป่วยหนักเพราะโรงพยาบาลมีขีดความสามารถจำกัดทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีต่าง ๆ  ถ้าการรักษาไม่ได้ผลจะถูกฟ้องร้อง แพทย์เคยถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา (คดีที่อำเภอร่อนพิบูลย์)   ดังนั้นเมื่อไม่แน่ใจจึงต้องใช้ระบบส่งต่อทั้ง ๆ ที่ไม่อยากทำ เพราะทราบดีว่าเวลาที่ผ่านไปแต่ละนาทีมีค่าต่อชีวิตผู้ป่วยเพียงไร  ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ โอกาสจะพิการและเสียชีวิตมีมาก เพราะเสียเวลาในการเดินทาง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ก็ต้อง “รอคิว” เพราะคนไข้ไปรออยู่มากมาย  ถ้า พรบ.ฉบับนี้ผ่าน การฟ้องร้องทำง่ายขึ้น ผู้ที่เดือดร้อนคือประชาชน และแพทย์ พยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีหัวใจสำหรับผู้ป่วยอยู่

   ในอนาคตจะไม่มีใครเรียนแพทย์ พยาบาล นอกจากคนที่ไม่อยากเรียนแต่ไม่มีทางเลือก  สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยจะล่มสลาย ประชาชนจะไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องตามมาตรฐาน

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
บทส่งท้าย  สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย กำเนิดขึ้นด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ และทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวงของพระบรมราชชนก เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยอย่างยิ่ง  ก่อนมีสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยแผนปัจจุบัน  ประชาชนล้มตายด้วยโรคระบาด  ในอดีตที่ไม่มีการแพทย์แผนปัจจุบันโรคส่วนมากรักษาไม่หาย เช่น วัณโรค ฝีบิดในตับ ไตวาย ยิ่งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ไม่ต้องพูดถึง เราก้าวมาไกลด้วยรากฐานที่พระองค์ทรงวางไว้ให้  แต่ต้องมาเสื่อมลงด้วยกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง กล่าวคือ  1) ความแตกความสามัคคีในหมู่แพทย์  2) ความไร้น้ำใจต่อผู้ป่วยซึ่งเกิดจากการกระทำของแพทย์ส่วนน้อย แต่ทำให้ผู้ป่วยหมดความไว้วางใจในแพทย์ ทำให้เกียรติภูมิของแพทย์ถูกเหยียดหยาม แพทย์ซึ่งมิได้ปฏิบัติตนตามจรรยาเหล่านี้ควรได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาด    3) ความโลภ ของผู้ป่วยที่อยากได้เงินจากการฟ้องร้องที่ไร้เหตุผล (ไม่รู้จักพอ)  และประการสุดท้าย คือ  4) สังคม ซึ่งตั้งความหวังไว้กับแพทย์มากกว่าความเป็นจริง ซึ่งรวมทั้งผู้ป่วย สื่อ ตลอดจนนักคิด นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ทราบความจริงในโลกปัจจุบัน

   ทุกสิ่งนี้ได้ฉุดสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทย ซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศให้ตกต่ำลงจนเกือบถึงขอบเหว   ในปัจจุบันประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสเพราะแพทย์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่  เนื่องจากการฟ้องร้องระบาดไปทั่ว  ความบกพร่องเหล่านี้เป็นสนิมในเหล็กทำให้ทุกอย่างพังทลายลงอย่างรวดเร็ว   เราซึ่งเป็นคนไทยจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ช่วยกันแก้ไขหรือ? 

การแก้ไข  โดยการวิเคราะห์ปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดคือ แพทย์

สถานภาพของแพทย์และสังคมปัจจุบัน  ในฐานะของแพทย์คนหนึ่งซึ่งได้ผ่านชีวิตของการเป็นแพทย์มานานถึง 56 ปี  ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแพทย์ในสังคมปัจจุบัน  ต้องยอมรับว่ารู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง  ในอดีตสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อ พอเพียง มีน้ำใจต่อกัน แพทย์ในฐานะผู้รักษา เสียสละความสุขสบายเพื่อชวยเหลือดูแลผู้ป่วย จึงได้รับความยกย่องเชื่อถือจากสังคมว่าเป็น “ผู้ให้”  สังคมในอดีตมิได้คิดประทุษร้ายต่อแพทย์  มีแต่ความมีน้ำใจ เชื่อถือ ไว้วางใจ

      กาลเวลาที่ผ่านไปในท่ามกลางสังคมของวัตถุนิยมที่เชี่ยวกราก ความโลภที่มีมากขึ้น อคติต่อผู้อื่นที่มีมากขึ้น เมื่อเกิดความโลภ โกรธ และหลง   ในขณะเดียวกันความต้องการของผู้ป่วยจากแพทย์ก็มีมากขึ้นอย่างไร้ขอบเขต   ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ จำนวนผู้ป่วยทวีคูณมากขึ้น โดยเฉพาะในชนบทและโรงพยาบาลของรัฐ  แต่จำนวนของแพทย์มิได้มากขึ้นตามสัดส่วน ทำให้แพทย์มีเวลาน้อยมากในการดูแลผู้ป่วย เช่นในห้องตรวจคนไข้นอก แพทย์มีเวลาเพียง 2-3 นาทีให้ผู้ป่วยหนึ่งคน เพื่อดูแลผู้ป่วยให้หมดภายในเวลาจำกัด มิฉะนั้นผู้ป่วยจะมิได้รับการดูแลทั่วถึง แพทย์เองก็หมดแรง สมองตื้อ เวลาจะคิดในการวินิจฉัยและการรักษาก็ไม่มี  แพทย์จะทำงานได้อย่างไรในสภาพเช่นนี้?   ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นเป็นผลร้ายต่อผู้ป่วย  ความยุ่งยากซับซ้อนของโรคที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ สภาพของผู้ป่วยซึ่งอาจมีโรคประจำตัวแต่แพทย์ไม่มีโอกาสทราบ ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นตามมา  สิ่งเหล่านี้ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง   การแก้ไขที่ถูกต้องคือ การให้เวลาแก่แพทย์เพียงพอ ให้ความเข้าใจในการทำงานของแพทย์ ผู้พิพากษาเองยังต้องการเวลาในการศึกษาคดีกว่าจะให้คำพิพากษาได้นานถึง 10 ปีกว่า  (คดีแพะรับบาปซึ่งปรากฏในโทรทัศน์ไทยทีวี เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2553) แต่แพทย์มีเวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที ในการให้การวินิจฉัยโรคทั้ง ๆ ที่ความผิดพลาดนั้นอาจเป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิต  การให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยให้รู้จักดูแลตนเองตามสมควรก่อนจะพบแพทย์ จะช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ไปได้บ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แพทย์เรียกร้อง โหยหา อยากได้ เพื่อให้มีโอกาสทำงานอย่างมีมาตราฐานสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย  แต่มิเคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ  หรือความเข้าใจจากผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยที่ผ่านมา  เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แพทย์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด  สิ่งเหล่านี้คือความจริงในมุมมืดด้านหนึ่งของการสาธารณสุขไทย  รัฐโดยเฉพาะรัฐมนตรีสาธารณสุขควรจะทำความเข้าใจ ช่วยแก้ไข มิใช่ลอยตัวเหนือปัญหา โดยคิดถึงแต่คะแนนเสียงของประชาชนอย่างเดียว  ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งทวีคูณขึ้นเป็นลำดับ และเป็นปัญหาต้นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้การแพทย์และการสาธารณสุขไทยถูกลากมาอยู่ที่ขอบเหวในปัจจุบันนี้

   ในฐานะของปุถุชน ทุกคนย่อมหนีจากภัยที่เกิดขึ้น แพทย์เป็นปุถุชนเช่นเดียวกัน  ทางเลือกคือ ย้ายเข้าสถาบันที่ตนเองได้ทำงานได้เต็มที่ ปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่บีบคั้น หรือถ้ายังทำได้ต่อไปก็พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อผู้ป่วยที่ยากจน  ซึ่งยังมีสัมพันธภาพเหลืออยู่ด้วยความห่วงใย เพราะถูกอบรมมาว่า “ไม่ให้ทิ้งคนไข้”


khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
จรรยาแพทย์ต่อเพื่อนแพทย์  เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของสถาบันแพทย์ ทำให้เกิดน้ำใจ เอื้ออาทร ปรารถนาดีต่อกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ขยายไปสู่เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน เช่น พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น    อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้กำลังจะเลือนหายไปเพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์ การแบ่งแยกแตกเหล่า ต่างสถาบัน ต่างกลุ่ม ต่างหน้าที่ ปัจจุบันมีกลุ่มอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ แพทย์ทหาร แพทย์ในชุมชน แพทย์ชนบท (ซึ่งจะทำการรักษาพยาบาลคนชนบทจริง ๆ แค่ไหนไม่ทราบ?) แพทย์เอกชน และแพทย์ที่เป็นกรรมการในสถาบันที่มีชื่อเสียงมาก เช่น แพทยสภา ราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพแพทย์ต่างสาขาออกไป แม้ในสถาบันเดียวกันก็ยังมีการแบ่งแยกระหว่างผู้บริหาร และแพทย์ปฏิบัติงานประจำหน่วยหรือกอง ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก  สำหรับผู้เขียนเผอิญผ่านชีวิตของการแพทย์ทหาร อาจารย์แพทย์ แพทย์เอกชน ผู้บริหาร และกรรมการในสมาคมวิชาชีพมาเป็นลำดับ และเนื่องจากไม่เคยยึดติดกับภาวะใดมากนัก จึงมิได้มีความรู้สึกแบ่งแยกดังกล่าว คิดแต่เพียงว่าจะเป็นแพทย์ประเภทใดก็ไม่สำคัญ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และแพทย์ทุกคนล้วนมีกำเนิดมาจาก สมเด็จพระราชบิดาองค์เดียวกัน มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ ประโยชน์สุขของผู้ป่วย และความเป็นปึกแผ่นของสถาบันแพทย์ไทย

กฎหมายเกี่ยวข้องกับแพทย์  ในระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายที่ลงโทษแพทย์ออกมาอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พรบ.ฉบับที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลกระทบสามารถลงโทษแพทย์ย้อนหลังไปได้ถึง 10 ปี ความจริงกฎหมายนี้มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของแพทย์เลย กฎหมายนี้ใช้กับกิจการอื่น ๆ ซึ่งป้องกันได้ แต่มิใช่กับร่างกายมนุษย์ซึ่งแม้จะให้การรักษาพยาบาลอย่างดีเพียงไรก็ยังควบคุมไม่ได้ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีการทำงานพื้นฐานของร่างกายต่างกันโดยที่แพทย์ไม่สามารถกำหนดได้  ไม่เหมือนกรณีการก่อสร้างตึกซึ่งคำนวณให้แม่นยำ ใช้วัสดุให้ตรงตามที่คำนวณไว้ ก็จะได้ตึกที่แข็งแรง สวยงาม ตามแปลนที่เขียนไว้

   ข้อที่ควรสังเกตในเรื่องกฎหมายที่ลงโทษแพทย์นี้มีโดยปราศจากเหตุผล  น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้แพทย์สังวรณ์ว่า สังคมทุกวันนี้มิใช่สังคมที่เอื้ออาทรปรารถนาดีต่อแพทย์ และอาจต้องถามตนเองว่าเราได้ทำอะไรลงไป จึงทำให้สังคมเห็นแพทย์เป็น “ผู้กระทำร้าย” ต่อเพื่อนมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้?   

   ถึงเวลาที่เราควรจะพิจารณาตัวเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบาทของแพทย์ที่ดี  และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจกระทำขึ้นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แพทย์ควรจะถามตนเองว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์เพื่อเพื่อนมนุษย์โดยคิดถึงผู้ป่วยก่อนตนเองหรือไม่?  ถ้าตอบปัญหานี้ได้ แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง จะทำให้สังคมมองแพทย์ในลักษณะที่เป็นมิตรและมีน้ำใจมากขึ้นหรือไม่   และน่าจะถึงเวลาที่แพทย์ควรมีกฎหมายคุ้มครองการประกอบอาชีพแพทย์ ซึ่งซับซ้อน ยากแก่ความเข้าใจของคนในสังคมปัจจุบัน เป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยควรมีกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันและสงวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังปฏิบัติงานด้วยความรักและห่วงใยผู้ป่วย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ เรามีเวลาไม่มากนัก

   สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสถาบันแพทย์นั้นเป็นปัจจัยเสริม ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปอย่างสั้น ๆ

   หัวใจสำคัญในการแก้ไขคือ ขอให้ทุคนเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดโดยคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ขอให้เราตอบคำถามต่อไปนี้ เพื่อทราบความจริงและพิจารณาแก้ไข
   1.  แพทย์  ท่านได้ทำหน้าที่ของตนเองโดยคิดถึงประโยชน์ของผู้ป่วยก่อนประโยชน์ของตนเองหรือไม่?
   
        ในปัจจุบันนี้แพทย์ส่วนใหญ่ทำงานหนัก เพราะต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งเอาชีวิตมาฝากไว้  อย่างไรก็ตามอุปสรรคในเรื่องความขาดแคลนทุกอย่างโดยเฉพาะ “เวลา” ทำให้ขาดการติดต่อชี้แจงต่อผู้ป่วย ขอให้แพทย์อดทน เห็นใจ ผู้ป่วยในฐานเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้กำลังใจและเวลาแก่ผู้ป่วยบ้าง

        ถ้าแพทย์รัก ห่วงใย คนไข้ สัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจะเกิดขึ้น เป็นผลดี เป็นบุญกุศล สำหรับแพทย์และผู้ป่วย สถาบันแพทย์จะอยู่รอด

       แพทย์ส่วนน้อยซึ่งยังวนเวียนอยู่ในกิเลส คือ ความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ความหลงและความโกรธ จนประพฤติผิดจรรยาแพทย์ ควรได้รับการลงโทษ เพื่อมิให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แพทย์ส่วนน้อยนี้เป็นผู้ทำให้เกียรติภูมิของแพทย์ต่ำลงและทำลายสถาบันแพทย์

   2.  อาจารย์แพทย์และโรงเรียนแพทย์ซึ่งเป็นผู้กำเนิดแพทย์ ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านในการปลูกฝังวิชาความรู้และคุณธรรม โดยทำตนเป็นตัวอย่างในการปลูกฝังความดีแก่ลูกศิษย์แพทย์ของเราหรือไม่ และเพียงไร?  เพื่อให้ศิษย์แพทย์ได้พึงปฏิบัติหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุด

        อย่าลืมว่า อาจารย์ที่ดีเป็นตัวอย่างผู้ชี้แนะแนวทางอันสว่างให้แก่ศิษย์

3.  ผู้ป่วย  เราให้ความไว้วางใจ ซื่อสัตย์ ต่อแพทย์ที่รักษาเราเพียงไร?
     เราสามารถเข้าใจและให้อภัยแพทย์ได้หรือไม่ เมื่อการรักษาพยาบาลไม่ได้ผล ทั้ง ๆ ที่แพทย์ได้กระทำอย่างดีที่สุดแล้ว 

     อย่าลืมว่าผู้ป่วยเป็นกำลังใจสำคัญของแพทย์


4.  ผู้บริหาร  กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่รัฐมนตรี ลงมาถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง ท่านได้พยายามช่วยเหลือบุคลากรในความดูแลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุด โดยให้กำลังใจ สนับสนุนทั้งกำลังคนและทางเทคนิค ขจัดความขาดแคลน และปกป้องการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จากผู้ที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เช่น นักการเมือง ได้หรือไม่? 
     ถ้าท่านทำได้ หน่วยงานที่ท่านรับผิดชอบจะประสบความเจริญ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

     ถ้าท่านมิได้ทำ โปรดทำหน้าที่ของท่าน เพื่อกอบกู้สถาบัน
     แพทย์ไทยซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของ

   5.  โรงพยาบาลเอกชน  ท่านได้บริหารกิจการโรงพยาบาลตามหลักธรรมะแห่งวิชาชีพของการแพทย์ที่ดี ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ต่อผู้ป่วย และได้ส่งเสริมให้แพทย์ในสังกัดของท่านใช้วิชาชีพตามจรรยาบรรณแพทย์อย่างมีความอิสสระหรือไม่?   ถ้าท่านทำจะเป็นการส่งเสริมสถาบันแพทย์ให้อยู่รอด ถ้าไม่ทำ ท่านกำลังทำลายสถาบันแพทย์ให้เสื่อมลง

     โปรดอย่าหาความร่ำรวยบนความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์

   6.  สังคม ประกอบด้วย สื่อ นักคิด รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน ท่านเคยคิดถึงแพทย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจหรือไม่?  หรือคิดแต่เพียงเป็นแหล่งข่าวที่ทำให้ข่าวมีสีสันยิ่งขึ้น  นักคิดและนักสิทธิมนุษยชน ขอให้ใช้สติและปัญญา ในการคิด ในทางสร้างสรรค์ มิใช่การทำลายแพทย์  เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ยังพยายามให้การรักษาพยาบาลที่ดีต่อผู้ป่วยโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ความมี ความจน ถ้าท่านคิดในทางทำลายกรุณาเลิกเพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ แม้แต่ตัวท่านเอง

     ถ้าขาดสถาบันแพทย์และการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ชีวิตของ
     คนไทยทุกคนก็ไม่มีคุณภาพ

   ถ้าเราทุกฝ่ายสามารถแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ได้ สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยก็จะอยู่รอด เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับลูกหลานเราต่อไป

   ถ้าท่านรู้จักคำว่าพอเพียง ชีวิตและสังคมไทยก็จะมีความสุข


   พระบรมราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนก สำหรับแพทย์ทุกคน

   “หมอไม่ใช่ผู้รับจ้าง        หมอที่ดีไม่รวย แต่ไม่อดตาย”


      ‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัว      เป็นที่สอง
      ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์      เป็นกิจที่หนึ่ง
      ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ      จะตกแก่ท่านเอง
      ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพ      ไว้ให้บริสุทธิ์’


                     24 กันยายน 2553