ผู้เขียน หัวข้อ: กฎหมายกับปัญหาการทำแท้ง (บทความพิเศษ)  (อ่าน 2996 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
กฎหมายกับปัญหาการทำแท้ง (บทความพิเศษ)
เมื่อไม่กี่วันมานี้ข่าวการลักลอบทำแท้งโดยเก็บซากทารกที่เกิดจากการทำ แท้งกว่า 2000 ศพ ในโกดังเก็บศพภายในวัดไผ่เงิน สร้างความตื่นตระหนกและก่อให้เกิดความสลดแก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหา ทั้งทางสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากการทำแท้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม จึงทำให้ปัญหาการทำแท้งยังคงมีข้อโต้เถียงกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านกฎหมายซึ่งมีประเด็นว่าควรมีกฎหมายรองรับการทำแท้ง หรือกฎหมายควรอนุญาตให้มีการทำแท้งโดยเสรีได้หรือไม่

ตามกฎหมายไทยการทำแท้งเป็นความผิดอาญาฐานทำให้แท้งลูก ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งไว้ในมาตรา 301-305 ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก หญิงนั้นมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก

ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมหรือโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ผู้นั้นมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก และหากการทำแท้งนั้นเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย หรือเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น

เห็นได้ชัดเจนว่าความผิดฐานทำให้แท้งลูกเกิดได้ทั้งจากการกระทำของตนเองหรือ การกระทำของผู้อื่น แม้หญิงนั้นจะให้ความยินยอมหรือไม่ให้ความยินยอมผู้กระทำก็ต้องรับผิดตามที่ กฎหมายกำหนด หากการกระทำนั้นได้ทำให้หญิงแท้ง

การ "แท้งลูก" หมายถึง การที่ลูกในครรภ์คลอดออกมาอย่างไม่มีชีวิต ถ้าเด็กคลอดออกมาอย่างมีชีวิต แต่มาตายภายหลัง ไม่เป็นการทำให้แท้งลูก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2510) การทำแท้งจะใช้วิธีการใดๆก็ได้ไม่จำกัด อาจใช้ยากิน ยาฉีด หรือใช้เครื่องมือหรือใช้กำลังกาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2502) ผลทางกฎหมายหากการทำแท้งไม่สำเร็จ กฎหมายกำหนดว่า "ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดฐานทำให้แท้งลูก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"

อย่างไรก็ตาม การพยายามทำแท้งโดยหญิงยินยอมแต่หญิงได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ไม่ได้รับยกเว้นโทษหรือผู้ที่พยายามทำแท้งโดยหญิงไม่ยินยอม แม้หญิงจะไม่ได้รับอันตรายก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษ ในบางกรณีที่ละเอียดอ่อนกฎหมายยอมให้มีการทำแท้งได้ คือ กรณีที่การทำแท้งมีความจำเป็นต้องทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้นเพราะหาก ปล่อยให้หญิงตั้งครรภ์ต่อไปแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของหญิง และ

กรณีที่หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่กฎหมายกำหนดคือ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาบุคคลไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพาบุคคลไปเพื่อการอนาจาร หากหญิงตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดอาญาตามที่กล่าวมา แพทย์สามารถทำแท้งให้หญิงนั้นได้แต่ต้องได้รับความยินยอมจากหญิงนั้น การที่กฎหมายกำหนดให้แพทย์สามารถทำแท้งได้นั้นก็เพื่อให้หญิงสามารถยุติการ ตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในต่างประเทศ

หลายประเทศในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี หรือประเทศอังกฤษ เป็นต้น กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีได้โดยความสมัครใจของหญิงตั้งครรภ์โดยไม่มี เงื่อนไขในเรื่องเหตุผลของการทำแท้ง แต่กำหนดอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ การกำหนดอายุครรภ์ถูกกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ถือว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้อย่างเสรีภายในช่วงเวลาที่กำหนด

ในสหรัฐอเมริกา ถือว่าการทำแท้งเป็นสิทธิที่เสมอภาคของผู้หญิง แต่มีปัญหาว่า คนจนไม่มีเงินจ่ายค่าทำแท้ง แต่ไม่มีกฎหมายโดยตรง ศาลสูงเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้จะถูกกำหนดแตกต่างกัน ไปในแต่ละรัฐ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ประธานาธิบดี Barack Obama ได้ลงนามในคำสั่งผู้บริหารในการทำแท้งและการดูแลสุขภาพ คำสั่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าการดูแลสุขภาพภายใต้กฎหมายใหม่จะ ยังคงห้ามไม่ให้ใช้จ่ายเงินของรัฐบาลกลางเพื่อการทำแท้ง ยกเว้นในกรณีการตั้งครรภ์จากการข่มขืน การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง (Incest) หรือในกรณีที่ชีวิตของหญิงนั้นตกอยู่ในอันตราย

ในขณะที่บางประเทศยึดถือและให้ความสำคัญกับข้อห้าม และข้อกำหนดทางศาสนามากกว่ากฎหมาย หากกฎหมายที่บังคับใช้ขัดกับหลักข้อเชื่อความศรัทธาตามศาสนา หรือบกพร่องด้านจริยธรรมประชาชนอาจไม่ปฏิบัติตามได้ เช่น กรณีทำแท้ง หรือคุมกำเนิด เป็นต้น ศาสนาอิศลามเชื่อว่าคือการทำลายฆ่าทิ้งย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งผู้ให้กำเนิด ( แม่ ) และผู้ถูกกำเนิด ( ทารก ) ถือเป็นชีวิตที่เท่าเทียมกันไม่สามารถจะให้ชีวิตหนึ่งคงอยู่โดยฆ่าอีกชีวิต หนึ่งได้

นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเด็นที่เป็นข้อโต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่องมากที่สุด คือ ปัญหาว่าการทำแท้งเป็นสิทธิของสตรีที่ตั้งครรภ์ หรือเป็นสิทธิของเด็กที่กำเนิดขึ้นมาในครรภ์ที่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่เช่น กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อสรุปทางความคิดของแต่ละสังคม แต่เหนือสิ่งอื่นใด สังคมควรคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของสังคมด้วย

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
วันที่ 24/11/2010