ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เตรียมตั้งองค์กรระดับชาติบริหารข้อมูลสุขภาพ  (อ่าน 854 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
“หมอประดิษฐ” เผยเตรียมตั้งองค์กรกลางระดับชาติ ทำหน้าที่บริหารข้อมูลสุขภาพ การเบิกจ่ายเงิน คาดเป็นรูปธรรม 1 ต.ค.ปีหน้า
วันนี้ (2พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมการตั้งองค์กรระดับชาติมาทำหน้าที่บริหารข้อมูลทางด้านสุขภาพและการเบิกจ่ายเงิน หรือ เคลียริ่ง เฮ้าส์ ว่า ในการประชุมวันนี้เป็นการหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. และ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ( สวปก.)  สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ  (สกส.)  ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย (ศรท. ) และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางการตั้งองค์กรดังกล่าวว่า จะเป็นรูปแบบองค์กรมหาชน หรือรูปแบบบริษัทโดยให้ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการได้ร่วมกันในการออกแบบ รูปแบบขององค์กรกลางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งทางด้านเทคนิคในการทำข้อมูลทางด้านสุขภาพ ทางด้านการเคลียริ่ง คาดว่าวันที่ 1 ต.ค. 2557 องค์กรดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งต้องมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ ที่จะต้องขอข้อมูลทางด้านสุขภาพมาวางแผนดำเนินการ ทางด้านนโยบายสาธารณสุขในอนาคต


นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า องค์กรกลางที่จะตั้งนี้ จะต้องเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ เนื่องจากต้องการความเชื่อมั่นในการให้ข้อมูลต่อหน่วยงานต่างๆ ครบ 100 % องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพด้วย โดยรัฐบาลจะมีอำนาจหรือบทบาทในการกำกับดูแลด้วย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรมหาชนหรือรูปแบบบริษัท เนื่องจากรัฐบาลต้องนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการนโยบายสาธารณสุข โดยประธานขององค์กรนี้ อาจไม่ใช่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่อาจจะเป็น รมว.สาธารณสุข เพื่อความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทั้งนี้ระหว่างที่รอการจัดตั้ง ได้ให้หน่วยงานเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการจัดทำข้อมูลต่อไป ในรูปของการทำงานแบบเดิมหรือจ้างหน่วยงานอื่นเก็บแทนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีงบประมาณอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด โดยจะมีการเสนอแนวทางการดำเนินงานและข้อคิดเห็นในอีก 1 – 2 เดือน.