ผู้เขียน หัวข้อ: เผย กทม.แชมป์ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุดในภาคกลาง  (อ่าน 793 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   30 เมษายน 2556 16:14 น.   

   


       กทม.ป่วยไข้เลือดออกมากสุดในภาคกลางถึง 2,986 ราย ระยองอันดับ 2 พบ 608 ราย สธ.เร่งส่งเสริมใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมควบคุมลูกน้ำยุงลาย ทั้งมะกรูดบากผิว ผงซักฟอก ปี๊บดักยุง แม้แต่น้ำยาล้างจานก็ช่วยได้ ขณะที่รองปลัดกทม.ยันจำนวนผู้ป่วยลดลงกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน พร้อมเตรียมร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก สหรัฐอเมริกาวิจัยการดื้อยาของเชื้อยุงลายในยางรถยนต์เก่า
       
       วันนี้ (30 เม.ย.) ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานมหกรรมรณรงค์ไข้เลือดออกภาคกลาง จ.ระยอง จัดโดยกรมควบคุมโรค (คร.) ร่วมกับเครือข่ายในภูมิภาคจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ภูมิปัญญาไทย ต้านภัยไข้เลือดออก” ว่า งานมหกรรมดังกล่าวมีการรวบรวมนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นจำนวนมาก ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อลดไข้เลือดออก โดยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.การใช้มะกรูดบากผิวใส่ลงในภาชนะขังน้ำ 1 ลูกต่อพื้นที่น้ำ 40 ตารางนิ้ว ป้องกันได้ 2 วัน 2.การใช้ตาข่ายไนล่อนหรือผ้าขาวบางมาปิดปากโอ่งรัดด้วยเชือก ป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ 3.โรยผงซักฟอกในภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ ใช้ประมาณ 1 ช้อนแกง ต่อปริมาณน้ำไม่เกิน 2 ลิตร ป้องกันได้ 1 เดือน 4.นำถุงใส่ตะไคร้หอมวางบริเวณที่อับ เช่น ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ จะไล่ยุงไม่ให้มารบกวนได้ 5.ปี๊บดักยุง โดยใช้ปี๊บขนมปังเปิดฝาใส่ผ้าสีทึบหรือถุงเท้า ยุงจะเข้าไปตอนกลางคืน ตอนเช้าเอาปี๊บไปตากแดด 2 ชั่วโมงเพื่อฆ่ายุง และ 6.ใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำหนึ่งกระบอก ฉีดไปตามมุมบ้านจะช่วยลดจำนวนยุงลายในบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในพื้นที่ชุมชนต่อไปด้วย

   

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       นพ.พรเทพ ศิริรวนารังสรรค์ อธิบดี คร. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดและรณรงค์ให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและลูกน้ำก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งจะทำให้ปริมาณยุงเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งและประชาชนในการเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ รวมถึงประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อลดการใช้สารเคมีในการป้องกันควบคุมโรค
       
       ด้าน นพ.สมัย กังสวร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 ชลบุรี กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคกลาง ทั้ง 24 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-24 เม.ย.พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 8,183 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ระยอง นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,986 ราย ระยอง 608 ราย สมุทรปราการ 541 ราย นครปฐม 406 ราย และชลบุรี 360 ราย ตามลำดับ
       
       “หากประชาชนมีอาการป่วย มีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต และหลังการรักษาโรคไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ให้รีบกลับมาหาแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที” นพ.สมัย กล่าว
       
       ด้านนพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือน ม.ค. - เม.ย. 56 พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามกทม.ต้องขอความร่วมมือเจ้าของพื้นที่ในการดูแลและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง หรือจะประสานให้กทม.เข้าไปช่วยดำเนินการก็ได้ นอกจากนี้ กทม.ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการยางรถยนต์ให้รับซื้อคืนล้อยางรถเก่า และจะร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกสหรัฐอเมริกาในการทำวิจัยเพื่อตรวจสอบว่ามีการดื้อยาของเชื้อยุงลายหรือไม่ ทั้งนี้การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออก เพื่อลดตัวเลขจำนวนผู้ป่วยให้น้อยที่สุด