ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.ยันไม่มีผลกระทบกองทุน แม้ยังไม่ได้เงินคืนจาก สปส.และ ขรก.  (อ่าน 858 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   30 เมษายน 2556 13:34 น.   

   


       สปสช.แจงสำรองจ่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ประกันสังคมและข้าราชการ แม้ยังไม่ได้เงินคืนแต่ไม่กระทบงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ การให้บริการรักษาพยาบาลของ รพ.และไม่ผิดกฎหมาย เผยการดำเนินการทำตามมติบอร์ดสปสช.ที่ให้ทำหน้าที่เคลียริงเฮาส์ตามนโยบายรัฐบาล ชี้ สปส.และกรมบัญชีกลางติดขัดระเบียบ ต้องแก้ไขก่อน มั่นใจ สปสช.ได้รับเงินคืนแน่นอน
       
       จากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่า หลังจาก สปสช.ได้ทำหน้าที่สำรองจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวให้กับสิทธิข้าราชการและสิทธิประกันสังคม แต่ยังไม่มีการคืนเงินให้สปสช.นั้น นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวนั้น รัฐบาลได้มอบให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบข้อมูลต่างๆ (Clearing House) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2555 ที่ให้ สปสช.ทำหน้าที่ Clearing House ในการให้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิตามนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต

       นพ.วินัย กล่าวต่อว่า โดยขั้นตอนคือ เมื่อประชาชนเข้ารักษา รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุด ด้วยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย รพ.รักษาทันทีแล้วจึงบันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลาง ซึ่ง สปสช.รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้น สปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับรพ.ไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและให้รพ.ที่รับการรักษาได้รับเงินภายใน 15 วัน ทั้งนี้ข้อมูลจำนวนเงินที่จ่ายชดเชยในการดำเนินการ 1 ปีที่ผ่านมา จำแนกตามสิทธิการรักษา พบว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการจ่ายชดเชยสูงสุด 157,613,854 บาท รองลงมาเป็นสิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 154,537,901 บาท และสิทธิประกันสังคม 18,492,435 บาท
       
       เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับการเรียกเก็บนั้น ทั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางยังคงติดขัดในเรื่องระเบียบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งต้องมีการแก้ไขและดำเนินการก่อน จึงจะเบิกเงินคืนให้กับ สปสช.ได้ ดังนั้นขอยืนยันว่า จำนวนเงินที่ สปสช.สำรองจ่ายไปก่อนนั้น จะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน และไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณในการให้บริการกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่อย่างใด