ผู้เขียน หัวข้อ: อดีตปลัด สธ.มึนแพทย์ชนบทจากค้าน P4P ลามทุจริตเครื่องตรวจเบาหวาน  (อ่าน 740 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
อดีตปลัด สธ.งง “แพทย์ชนบท” ไม่รู้ค้านอะไร จากเรื่อง P4P กลายเป็นเรื่องทุจริตเครื่องตรวจเบาหวาน บอกเสียดายหากมีการพูดคุยกันให้จบจะได้ประโยชน์ส่วนรวม แนะ P4P ของ รพช.ต้องคิดเกณฑ์การส่งเสริมป้องกันให้มาก
       
       นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านการที่ สธ.ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสานระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay For Performance) ว่า เรื่องดังกล่าวหากงบประมาณเพียงพอก็คงไม่ต้องทะเลาะกัน เพราะปัจจุบันงบประมาณแต่ละปีด้านสาธารณสุขสูงมาก รัฐบาลจึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งคงต้องพิจารณางานให้เหมาะสมกับเงินที่ได้รับ ทั้งนี้ การคิดค่าตอบแทนแบบใหม่นั้นโรงพยาบาลใหญ่ไม่มีปัญหาคือ ตรงไปตรงมาว่าทำเท่าไรก็ได้เท่านั้น แต่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีด้วยกันหลายขนาด หลายตำแหน่งทั้งใกล้และไกล ถือเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงเรื่องของการปฏิบัติงาน
   
       นพ.วัลลภ กล่าวอีกว่า หากคิด P4P ทั้งแง่การป้องกันและการรักษา จะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะเมื่อพูดถึงนโยบายมักจะกล่าวว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา แต่เมื่อปฏิบัติงานจริงกลับพบว่างานด้านการป้องกันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับผลตอบแทน เมื่อ รพช.ต้องทำงานส่งเสริมป้องกัน แต่ไม่ถูกคิดคะแนนให้มากพอที่จะอยู่ได้ จึงกลายเป็นปัญหามากขึ้น อีกทั้ง รพช.มีความเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร สังเกตได้ว่า แพทย์ย้ายไปอยู่ รพช.มากขึ้น แต่เป็นพื้นที่ใกล้ตัวจังหวัดไม่ใช่พื้นที่ห่างไกล หากไม่ใช้ P4P มาจับ แล้วจะใช้อะไรเพื่อทำให้ทราบได้ว่าเงินที่ใส่ไปคุ้มกับงานที่ได้มา
       
       “ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นำเรื่อง P4P มาคุยกัน แต่เสียดายที่ไม่เกิดความชัดเจนในเรื่องส่งเสริมป้องกัน ว่า งานที่ได้คืออะไร และควรได้ค่างานที่มากขึ้นให้สมกับที่เหนื่อยทำงาน แต่ก็ไม่มีการคุยกันต่อกลับไปนำเรื่องทุจริตเครื่องตรวจเบาหวานมาพูดแทน ทำให้ไม่ได้ก้าวต่อไป และเมื่อไม่มีการคุยกันต่อจึงไม่ทราบว่าต้องการอะไรกันแน่” อดีตปลัด สธ.กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ความขัดแย้งดังกล่าวควรมีทางออกร่วมกันอย่างไร นพ.วัลลภ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่อย่างเดียวคือการคุยกัน โดยนั่งโต๊ะร่วมพูดคุยกัน ไม่ใช่คุยนอกรอบหรือคุยผ่านเวที ก็เหมือนกับประเทศ เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องมีผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งผู้พร้อมไกล่เกลี่ยคงมีเยอะ แต่จะทำอย่างไรให้มานั่งโต๊ะร่วมพูดคุยกันได้ เพราะถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากคุยกันต่อไปก็น่าจะได้คำตอบที่ดี และได้ประโยชน์กับคนจำนวนมาก ซึ่งควรมีการคุยเรื่องเกณฑ์ P4P ให้ชัดเจน หากปล่อยให้ยาวไปสังคมก็เข้าใจได้ลำบากว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 เมษายน 2556