ผู้เขียน หัวข้อ: การดำเนินการในการคัดค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.  (อ่าน 2725 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
การดำเนินการในการคัดค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือที่ นร ๐๕๐๓/๖๕๓๖ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ เพื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....เช้าบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องด่วน ในขณะที่สส.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯอีก 5 ฉบับ และยังมีประชาชนเข้าชื่อกันเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....อีก 1 ฉบับ
   ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เช้าสู่สภานั้น คณะรัฐมนตรีชุดของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ส่งร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐  และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เริ่มพิจารณาตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๑ และหลังจากการประชุม ได้พิจารณาแก้ไขในบางมาตรา และได้เปลี่ยนชื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น “ร่างพระราชบัญญัติสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....”
 วันที่ ๒๒ มิถุนายน  ๒๕๕๒ เครือข่ายภาคประชาชน ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาข้อเสนอต่อการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือข้อเสนอต่อการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ของเครือข่ายภาคประชาชน และที่ประชุมได้มีมติให้กลับไปใช้ชื่อร่างพระราชบัญญัติตามเดิม
วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้เปลี่ยนชื่อเป็น“ร่างพระราชบัญญัติสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....” และเห็นว่าควรให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และเสนอให้มีการตั้งผู้แทนจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการด้วย
วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้พิจารณายืนยัน“ร่างพระราชบัญญัติสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....” เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งในขณะนั้น นายวิทยา แก้วภราดัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินกา
    เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้นำผู้พิการนั่งรถเข็นบ้าง นอนบนเปลหามบ้าง มาร้องเรียนที่ห้องรัฐมนตรีว่าเป็นกลุ่มผู้เสียหายทางการแพทย์ ต้องการให้รัฐมนตรีนำ“ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....”เข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป  โดยมีข่าวออกมาว่า นายจุรินทร์ได้สัญญาจะผลักดันให้มีการนำร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ “ล้านเปอร์เซ็นต์”
 และในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เสนอ“ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....” พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำเข้าบรรจุในวาระด่วน
  ในส่วนของคณะกรรมการแพทยสภานั้นได้มีมติในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ และได้ส่งหนังสือที่พส. ๐๑๐/๔๐๙ เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีได้ทบทวนมติใน“ร่างพระราชบัญญัติสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....” ยืนยันตามที่แพทยสภาเคยส่งหนังสือที่ ๐๑๑/๑๓๒๕ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการว่าควรมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพ และคำนิยามของสถานพยาบาลก็กว้างขวางมาก แต่สถานพยาบาลเหล่านั้นไม่เคยได้ทราบข้อมูลที่จะต้อมีภาระผูกพันกับร่างพระราชบัญญัตินี้มาก่อน โดยการต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนและภาระอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้  และในมาตรา ๔๕ นั้น แม้มีการประนีประนอมยอมความและจ่ายเงินชดเชยกันไปแล้ว ก็ยังไม่ยุติคดีความอาญา อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตต่อไปอีก จึงสมควรยุติคดีความ
   อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะสภานายกพิเศษของแพทยสภาได้กล่าวว่าต่อที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๓ ว่า ถ้าพวกแพทย์สามารถไปรวบรวมรายชื่อบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....มาได้ ”มากกว่า ๘๐%”แล้ว  รัฐมนตรีสธ.ก็จะยอมถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกจากระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
  แพทยสภาได้จัดสัมมนาเรื่องพ.ร.บ.นี้ โดยได้เชิญนพ.ธเรศ กรัษนัยระวิวงศ์ผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ มาบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับพ.ร.บ.นี้ รวมทั้งนอ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้บรรยายเกี่ยวกับรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินี้ที่ไม่ชอบมาพากลในทุกมาตรา
 และผู้ที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้อย่างถี่ถ้วนและทำความเข้าใจแล้ว ก็ได้พบว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....” ฉบับของรัฐบาล จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะในแง่ของการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจากสถานพยาบาลจากการรักษาผู้ป่วยทุกคน เป็นการเก็บเงินของประชาชนส่วนใหญ่ มาเพื่อรอจ่ายให้คนส่วนน้อย( เพราะจากสถิติการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียหายตามมาตรา 41ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯมาเกือบแปดปีนั้น มีการจ่ายเงินเพียง .๐๑%ของจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการทางการแพทย์เท่านั้น ) แต่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....”นี้จะเก็บเงินจากการรักษาผู้ป่วยถึง ๙๙.๙๙% มารอจ่ายแก่ผู้ป่วย(ที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการรักษา)จำนวนเพียง ๐.๐๑%  ซึ่งจะมีผลทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนเงินในการรักษาพยาบาลประชาชน แต่กองทุนจะมีเงินมาเก็บไว้มากมายมหาศาล ซึ่งคณะกรรมการสามารถใช้เงินกองทุนตามที่เขียนไว้ในพระรชบัญญัติถึง กองทุนได้ถึง ๑๐% ในการบริหารจัดการ
   และกรรมการที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลก็คือเอ็นจีโอด้านสาธารณสุขเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งคณะ  ส่วนกรรมการที่เหลืออีก 5 คนตามที่กำหนดไว้ก็คงเป็นพวกข้าราชการในกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทำให้มองเห็นเจตนารมณ์ว่า ผู้เขียนและผู้ผลักดันกฎหมายเตรียมตัวมาเป็นกรรมการบริหารกองทุน
 การเขียนบทบัญญัติตามมาตราต่างๆนั้นก็ขัดแย้งกันเอง เช่นมาตรา ๕ บอกว่าไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่มาตรา๖ กำหนดว่าถ้าเป็นความเสียหายที่เกิดตามปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือเป็นความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ (ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ จะรู้ได้ก็ต้องมีการพิสูจน์ว่าทำตามมาตรฐานหรือเปล่าเท่านั้น
  แต่คณะกรรมการที่จะมาตัดสินนั้นมิใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพ และคณะกรรมการประชุมกันโดยใช้เสียงข้างมาก โดยไม่คำนึงถึงหลักวิชาชีพ  จึงถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
   นอกจากนั้นการอ้างว่าไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดก็ไม่เป็นไปได้ เนื่องจากสถานพยาบาลและผู้ประกอบวิชาชีพต้องส่งรายงานและคำชี้แจง หรือต้องไปชี้แจงคณะกรรมการด้วยตนเองตามมาตรา ๑๘ และถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการตามมาตรานี้ จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 มาตรา ๒๐ ให้จัดตั้งกองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข เพื่อไว้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เงินชดเชย ชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาของศาล และใช้ในการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย และเป็นค่าใช้จ่ายในการไกล่เกลี่ย และเป็นค่าบริหารของสำนักงานอีกไม่เกิน ๑๐% และมาตรา ๒๑ ยังกำหนดให้สถานพยาบาลจ่ายเงินสมทบตามจำนวนผู้ป่วย สถานพยาบาลไหนทำงานมาก ยิ่งต้องจ่ายเงินมาก สถานพยาบาลไหนทำงานน้อย(ผู้ป่วยน้อย)ก็จ่ายเงินน้อย และถ้าสถานพยาบาลไหนไม่จ่ายเงินตามกำหนดก็จะถูกปรับเป็นเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน(ซึ่งแพงกว่าดอกเบี้ยนอกระบบอีก)  และถ้าไม่จ่ายเงินและค่าปรับให้ฟ้องบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้มาชำระเงินให้ได้
  โรงพยาบาลภาครัฐ โดยเฉพาะรพ.ของกระทรวงสธ.นั้น มีข่าวขาดทุนอยู่ ๕๗๐ แห่งจากจำนวนโรงพยาบาล๘๔๐แห่ง การจะเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลล่วงหน้าตามรายหัวประชาชน จะทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินซื้อยามารักษาประชาชนอีกต่อไป ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้น ก็คงผลักภาระค่าใช้จ่ายในการนรี้ให้แก่ผู้ป่วยต่อไป ในขณะที่นักกฎหมายมหาชนบอกว่า รัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาลของรัฐได้และไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาลเอกชนได้ เพราะเอกชนย่อมมีพันธะสัญญาที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ป่วยของตนอยู่แล้ว

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
นอกจากคณะกรรมการจะสามารถพิจารณาให้เงินช่วยเหลือและชดเชยแล้ว ยังมีคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาจ่ายค่าช่วยเหลือและชดเชยใหม่ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจจำนวนเงิน นอกจากนั้นผู้เสียหายยังสามารถไปฟ้องศาลได้อีกตามมาตรา ๓๔ และถ้าศาลตัดสินให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยจะพิจารณาจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อชำระค่าสินไหมตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่ก็ได้ และในวรรคสามหากศาลยกฟ้อง ผู้เสียหายอาจมีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายจากคณะกรรมการหรือไม่ก็ได้
   ตามมาตรา ๒๕ นั้นได้กำหนดอายุความไว้ยาวนานถึง ๓ ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย หรือรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ซึ่งเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าผู้เสียหาย “รู้” ตัวเมื่อไร  ซึ่งทำให้การอ้างว่าไม่เพ่งโทษบุคคลจึงไม่เป็นความจริง และในมาตรา ๓๕ หลังการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา ๓๓ แล้ว ถ้าผู้เสียหายเกิดรู้ตัวว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นอีก ก็มีสิทธิไปร้องขอรับเงินชดเชยได้อีกภายในสามปีแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุข หมายความว่าอายุความอาจยาวนานหลายสิบปี เพราะนับจากการ “ร็ถึงความเสียหาย” มิได้นับจากระยะเวลาที่ได้รับการรักษา
 มาตรา ๓๕ ถ้าผู้เสียหายหรือทายาทนำเรื่องไปฟ้องศาล  ให้คณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายหรือทายาทอีกด้วย และในมาตรา ๓๖ ถ้าศาลให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้หักเงินช่วยเหลือเบื้องต้นออกไปด้วย
มาตรา ๓๘ ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีการไกล่เกลี่ย ให้คณะกรรมการดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อตกลงกันในเรื่องอื่นนอกเหนือจากเงินค่าเสียหายตามพ.ร.บ.นี้ หมายความว่าไม่มีการไกล่เกลี่ยหรือตกลงต่อรองการจ่ายค่าเสียหาย
และมาตรา ๔๐ ในระหว่างการไกล่เกลี่ย ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะไกล่เกลี่ยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ แต่ถ้าไม่สามารถยอมความกันได้ ก็จะเริ่มนับอายุความใหม่
 และถึงแม้ว่าจะมีการจ่ายค่าเสียหายแล้ว ผู้เสียหายและทายาทยังสามารถนำคดีไปสู่ศาลแพ่ง ศาลอาญาได้อีก
 ฉะนั้นถ้าอ่านรายละเอียดในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....แล้ว จะเห็นได้ว่า ประชาชนนอกจากจะได้รับการบริการสาธารณสุขแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ เงินชดเชย ถ้าไม่พอใจก็ร้องอุทธรณ์ได้อีก หรือถ้าไม่พอใจก็ยังไปฟ้องศาลแพ่ง ศาลอาญาได้อีก และอายุความก็ยาวนาน
ส่วนแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพนั้น นอกจากจะต้องใช้ความรู้ความสามารถและความเสียสละอดทน เพื่อดูแลรักษาประชาชนอย่างดีที่สุดให้ได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องถูกเรียกเก็บเงินล่วงหน้า ต้องเก็บประวัติผู้ป่วยไว้ตลอดชีวิตของผู้ป่วย มีสิทธิ์ถูกฟ้องต่อคณะกรรมการ ศาลแพ่ง ศาลอาญา และยังจะถูกสภาวิชาขีพสอบสวนอีก ฉะนั้น เมื่อแพทย์รักษาผู้ป่วยหนึ่งคน จะมีความเสี่ยงต่อการถูกพิจารณาการฟ้องร้อง 6 ครั้ง จากคณะอนุกรรมการจ่ายเงินช่วยเหลือ คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการจ่ายเงินชดเชย คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ย คณะกรรมการจริยธรรมของสภาวิชาชีพ ศาลแพ่ง ศาลอาญา
 แต่แพทย์จะมีสิทธิเพียงอย่างเดียวคือไปฟ้องศาลปกครองให้พิจารณายกเลิกคำสั่งของคณะกรรมการเท่านั้น  ทำให้รู้สึกว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
แต่ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ถ้าพ.ร.บ.นี้สามารถออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับแล้ว แพทย์ก็คงต้องระมัดระวังมากเกินความจำเป็นในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยแบบที่เรียกว่า เวชศาสตร์ป้องกันตัวเอง (Defensive Medicine) เพื่อป้องกันความผิดพลาดและป้องกันการถูกพิจารณาคดีทั้งมวล ได้แก่การสั่งการตรวจร่างกายและการตรวจพิเศษเกินความจำเป็น ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านการแพทย์เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ส่งผลไปยังภาระงบประมาณของประเทศ และในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการหนักและยุ่งยากซับซ้อน แพทย์ก็คงต้องเลือกที่จะส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อยังที่อื่น เพื่อให้มีความมั่นใจว่าผู้ป่วยจะปลอดภัย (และตัวแพทย์เองก็คงจะปลอดภัยด้วย) เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยนั้น ย่อมต้องมีความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อน ผลอันไม่พึงประสงค์ หรือเหตุสุดวิสัย อันจะนำไปสู่การร้องเรียนหรือฟ้องร้องอย่างแน่นอนถ้ามีพ.ร.บ.นี้ เพราะประชาชนมองเห็นแต่ทางได้กับได้ลูกเดียว แต่ผลสุดท้ายก็คือประชาชนนั่นเองจะไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วทันเวลาในการช่วยชีวิต เพราะจะถูกส่งไปรักษาที่อื่นต่อไป
   ซึ่งจะยกกรณีตัวอย่างที่ในปัจจุบันนี้ แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนได้งดเว้นการผ่าตัดผู้ป่วยทุกราย แม้เป็นการผ่าตัดไส้ติ่งก็ไม่ทำแล้ว หลังจากศาลได้ตัดสินให้จำคุกแพทย์คนหนึ่งที่บล็อกหลังผู้ป่วยเพื่อผ่าไส้ติ่ง แล้วมีภาวะแทรกซ้อนจนผู้ป่วยเสียชีวิต ฉะนั้นถ้ามีพ.ร.บ.ฉบับนี้ แพทย์ก็คงกริ่งเกรงที่จะถูกสอบสวนและเลือกที่จะส่งผู้ป่วยไปรักษายังที่อื่นต่อไป
 สรุปก็คือ แพทย์ไม่มั่นใจในการรักษาผู้ป่วยอาการหนัก และคงเลือกที่จะส่งผู้ป่วย “ไปตายเอาดาบหน้า” ในกรณีที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการอยู่ และในสภาพของประเทศไทยที่มีความขาดแคลนแพทย์ทั้งแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา ประชาชนย่อมไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการไปรับการรักษาพยาบาลอย่างแน่นอน
    ฉะนั้นแพทย์ที่ได้อ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....ฉบับของรัฐบาลแล้ว จึงได้พยายามที่จะให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....นี้ออกจากระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทน และมาทำประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขให้พ.ร.บ.นี้มีความเหมาะสม ไม่เป็นภาระต่องบประมาณในการรักษาผู้ป่วยและการพัฒนาโรงพยาบาล และไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่ประชาชนจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่สุดกำลังความสามารถของบุคลากรสาธารณสุข
 โดยพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้เขียนจดหมายขอเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าพบ และบอกว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของประธานสภาฯ ไม่สามารถถอนร่างพ.ร.บ.ออกมาได้ คณะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ภญ.พัชรี ศิริศักดิ์ เทคนิคการแพทย์วัฒโนทัย ไทยถาวร  ร่วมกับบุคลากรอื่นอีก ๔-๕ คนจึงได้แต่งชุดดำ (เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ความล่มสลายของวงการแพทย์) ไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓พร้อมยื่นจดหมายร้องขอความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพ  แต่นายกรัฐมนตรีไม่มาให้ได้พบ  และได้ไปพบนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อขอร้องให้รัฐบาลชะลอหรือถอนร่างพ.ร.บ.นี้มาจัดการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนส่วนใหญ่ว่าต้องการให้มีพ.ร.บ.นี้หรือต้องการแก้ไขอย่างใด ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... 

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
    สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปได้จัดการชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....   โดยการแต่งชุดดำ และทำการฌาปนกิจร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ที่หน้าตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อประชุมทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่เป็นผู้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินี้
  แต่ทางฝ่ายแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้ได้เห็นว่าปลัดกระทรวงเบี่ยงเบนผลการประชุมว่ามีความเห็นที่จะให้นำร่างพ.ร.บ.นี้เข้าไปพิจารณาในสภาผู้แทน แล้วค่อยไปแก้ไขในวาระที่สองโดยคณะกรรมาธิการ จึงทำให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลายคนออกมาประกาศไม่รับมติที่ปลัดกระทรวงสรุป และออกมาตั้งเครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข(คปส.) แต่ปลัดกระทรวงก็ได้พยายามตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ และขอให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าประชุม แต่ก็ไม่มีใครเข้าประชุมด้วย และมีการ “walk out”  ออกจากห้องประชุม
โดยคปส.ได้เข้าชื่อเสนอให้แพทยสภาจัดประชุมวิสามัญสมาชิก เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกแพทยสภาเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... 
และบุคลากรหลายวิชาชีพ หลายสังกัด ได้มาประชุมรวมตัวกัน และจัดตั้งองค์กรเป็น “สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)” และมอบให้พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาเป็นประธาน พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ เป็นรองประธาน มีพอ.นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต ภญ.พัชรี ศิริศักดิ์ ทนพ.วัฒโนทัย ไทยถาวร ทนพ.พงษ์เพชร คงพ่วง เป็นกรรมการ โดยคณะสผพท.นี้ ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรสาธารณสุขหลายวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้อาวุโสอย่างอาจารย์พอ(พิเศษ) พญ.ถนอมศรี ศรีชัยกุล นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้รั้งตำแหน่งนายกแพทยสมาคม และนายกแพทยสมาคมโลก และบุคลากรแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ และอื่นๆอีกมากมาย
   ในขณะเดียวกันแพทยสภาได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  โดยแบ่งคณะทำงานเป็น ๙ คณะ ประกอบด้วย
๑.กลุ่มโรงเรียนแพทย์
๒.กลุ่มผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
๓.สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
๔.กรุงเทพมหานคร
๕.ทหาร/ตำรวจ
๖ แพทยสมาคม/โรงพยาบาลเอกชน/คลินิก
๗.แพทยสภา และภาคีสภาวิชาชีพ
๘. เครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข (คปส.)
๙. สผพท.
โดยคณะเหล่านี้ต่างก็ได้ไปช่วยกันทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรและประชาชนทั่วไปจนครบ ๔๑จังหวัด มีผู้เข้าร่วมรับฟังการประชาพิจารณ์มากว่า๑๐๐,๐๐๐  คน และมากกว่า ๙๐%ของผู้ที่ได้ร่วมในการทำประชาพิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... 
 ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนต่างก็ให้ความสนใจและเชิญบุคลากรทางการแพทย์ และเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและเอ็นจีโอด้านสาธารณสุข ทั้งฝ่ายที่คัดค้านและฝ่ายที่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.นี้ ไปให้ความเห็นในรายการวิทยุ โทรทัศน์ และมีการเขียนบทความต่างๆมากมาย ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านพ.ร.บ.นี้
  ในขณะที่สผพท.ก็ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อวิปรัฐบาลหลายครั้ง  วิปฝ่ายค้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ได้เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ. นี้ได้เป็นจำนวนแสนคนและเข้าชื่อมากกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อในการเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... (ที่ยกร่างโดยนพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ) ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีชื่อเป็นกรรมาธิการพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  ในกรณีที่พ.ร.บ.นี้ผ่านการพิจารณาในวาระที่หนึ่งแล้ว
   รวมทั้งมีการไปพบนายกฯที่พรรคประชาธิปัตย์ และการชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภาในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ เพื่อยื่นจดหมายถึงวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
   ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์หลายๆฝ่ายต่างก็หาทางดำเนินการยับยั้งร่างพ.ร.บ.นี้ ฝ่ายเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขก็พยายามผลักดันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วยวิธีการเดินขบวนบ้าง โกนหัวประท้วงบ้าง แต่ในที่สุดเมื่อปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ก็ยังไม่มีการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
  แต่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ในการไปเปิดงาน “Medical Expo” ที่จัดโดยแพทยสภาในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ว่า จะนำร่าสงพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯใหม่ในสมัยประชุมคราวในอีก๒เดือนข้างหน้านี้
 ฉะนั้น ก็คงต้องมีผู้รู้และผู้มีความสามารถไปอธิบายให้นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่า พ.ร.บ.นี้จะมีผลเสียหายอย่างไร และควรคุ้มครองประชาชนอย่างไร โดยกลไกอื่น ที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและจะเกิดหายนะในระบบริการสาธารณสุขตามมา และผลที่สุดแล้ว ประชาชนจะได้รับความเสียหายจากการมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  แบบนี้แน่นอน และควรทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะนำพระราชบัญญัติเจ้าปัญหานี้ เข้าสู่สภาฯอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นก็คงต้องมีมาตรการคัดค้านกันอีก