ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอมงคล” เตือนสติ “ประดิษฐ” อย่าทำสาธารณสุขแตกแยก  (อ่าน 1003 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   17 เมษายน 2556 17:29 น.   

   



นพ.มงคล ณ สงขลา

       “หมอมงคล” เตือน “หมอประดิษฐ” อย่าทำสาธารณสุขแตกแยก ถอย P4P จะได้รับการยกย่องก่อนสายเกินไป สะพัด! เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง ไต ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เตรียมจี้ รมว.สธ.ทบทวนตัวเอง ด้านโรงพยาบาลชุมชนเตรียมประท้วงอีก 24 เม.ย.นี้
       
       นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กกรณี สธ.ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขเป็นแบบผสมผสานระหว่างการจ่ายด้วยเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และจ่ายตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) ว่า ประวัติศาสตร์ได้จารึกความแตกแยกใน สธ.ไว้แล้วด้วยความขมขื่น ผู้บริหารทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ ยังภูมิใจในการเป็นผู้นำองค์กรที่แตกแยกอยู่หรือ ใครผิดใครถูกยังไม่ต้องพิสูจน์ แต่การรักษาความเป็นเอกภาพทางการบริหารองค์กรเป็นบทบาทหลักของผู้บริหารมิใช่หรือ หากยังฝืนยื้อให้กลุ่มต่างๆมาชนกันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น ถอยออกมาอย่างผู้ที่มีสติสูง หาทางพูดคุยกันใหม่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานบริการสาธารณะสุขในชนบท มาให้ความเห็นจะทำให้หลงทางกันไปใหญ่
       
       นพ.มงคล กล่าวอีกว่า นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการให้บริการ อยากยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควร ที่มีสถิติว่าการคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีวันละ 370 ราย 10 ราย อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนต้องไปทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น วัด โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่ยากสาหัส ใช้เวลา ประสานงานหลายทิศ ถามว่ามีตัวชี้วัดไหม ถ้ามีให้แต้มเท่าไร งานอย่างนี้มีมากในชนบท แม้แต่งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนจะได้รับเชิญ และต้องไปร่วม เพราะต้องเชื่อมไว้ประสานงานแก้ปัญหาสาธารณะสุขในชุมชน จะทำตัวชี้วัดให้ครอบคลุม และให้แต้มที่เป็นธรรมทำได้ยาก ดังนั้น การถอยอย่างผู้เจริญแล้วในขณะนี้ดูเหมือนจะสายเกินไป แต่เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างพังทลายลงไป
       
       แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของผู้อาวุโสในระบบสาธารณสุข ที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบบริการ ส่งต่อแบบเครือข่ายของ รพ.ระดับต่างๆ และบุกเบิกงานสาธารณสุขมูลฐานในยุคสมัย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีต รมว.สาธารณสุข ต่อเนื่องถึงสมัย นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัด สธ. กำลังหารือเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของไทยที่เคยเป็นเอกภาพ ทำเชิงรุกเป็นทีม ทุกคนทำด้วยใจ หลายคนเป็นห่วงว่าการปล่อยให้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงหน่วยงานต่างๆ และผลักดันนโยบายจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P แบบไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และอาจไม่สอดคล้องกับสภาพงานของพื้นที่ รวมทั้งนโยบายเมดิคอลฮับ จะเอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชน และทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐอ่อนแอลง ประชาชน ผู้ป่วยในชนบทเดือดร้อน ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงของสังคม โดยเฉพาะความมั่นคงใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยจะมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว
       
       “มีรายงานข่าวว่ากลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต ผู้ติดเชื้อ HIV และเครือข่ายคนพิการกำลังจะเคลื่อนไหวขอให้ รมว.สาธารณสุข ทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการออกนโยบายที่ผิดพลาดมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยและประชาชน เหมือนตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับระบบป้องกันและการแพทย์ฉุกเฉินรับมือกับเจ็ดวันอันตรายในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฏว่ามียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นจากเดิมมีแนวโน้มค่อยๆลดลง ขณะที่บทบาทของหน่วยงานต่างๆ เช่นสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ สพฉ. สสส. สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขลดน้อยลง หรือแทบไม่มีบทบาทชัดเจนเหมือนเช่นที่ผ่านมา” แหล่งข่าวกล่าว
       
       นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ เริ่มทราบกันดีว่า การปรับแนวทางค่าตอบแทนดังกล่าว จะทำให้พวกตนได้รับค่าตอบแทนน้อยลง ทั้งสายธุรการ พัสดุ กลุ่มงานทั่วไป โดยจะมีการรวมตัวกันร่วมกับตัวแทนโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะมีเภสัชกร พยาบาล มาร่วมประท้วงกันที่สำนักงานปลัด สธ.ในวันที่ 24 เมษายนนี้ คาดว่าจะมาไม่ต่ำกว่า 500 คน จากโรงพยาบาลชุมชน 738 แห่งทั่วประเทศ ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย เพราะเป็นตัวแทนมา