ผู้เขียน หัวข้อ: ที่มั่นสุดท้ายของมะฮอกกานี-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1282 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ไม้ยืนต้นเจ้าของฉายา “ทองคำสีแดงแห่งผืนป่า” คือเหยื่อรายต่อไปของพวกลักลอบตัดไม้และธุรกิจทำไม้เถื่อน

มะฮอกกานีคือเพชรน้ำหนึ่งแห่งผืนป่าแอมะซอน ด้วยลำต้นสูงใหญ่เสียดฟ้า ลายไม้และเนื้อไม้สีแดงงดงาม ตลอดจนความคงทน ทำให้ไม้มะฮอกกานีเป็นวัสดุก่อสร้างที่ผู้คนเสาวะแสวงหามากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่ง มะฮอกกานีหนึ่งต้นอาจทำเงินได้หลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลก หลังแปรรูปเป็นเครื่องเรือนวางขายอยู่ตามโชว์รูมในสหรัฐฯหรือยุโรป

หลังปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่บราซิลประกาศห้ามการทำไม้มะฮอกกานีใบใหญ่ (Swietenia macrophylla) เปรูได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไม้ชนิดนี้รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ปรากฏการณ์ตื่น “ทองคำสีแดง” (red gold) ซึ่งเป็นชื่อที่บางครั้งใช้เรียกไม้มะฮอกกานี ส่งผลให้ลุ่มน้ำหลายแห่งของเปรู เช่น อัลโตตามายา ซึ่งเป็นถิ่นของชนพื้นเมืองอาเชนินกาต้องสูญเสียไม้ล้ำค่าที่สุดไป ทุกวันนี้ ฐานที่มั่นสุดท้ายเกือบทั้งหมดของมะฮอกกานี รวมไปถึงสนสแปนิชซีดาร์ กระจุกตัวอยู่ในอาณาเขตของชนพื้นเมือง อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่อนุรักษ์สำหรับชนเผ่าที่ตัดขาดจากโลกภายนอก

ห่างจากอัลโตตามายาไปทางตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อยเป็นที่ตั้งของเขตคุ้มครองหลายแห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 38,850 ตารางกิโลเมตรและรู้จักกันในชื่อ เขตอนุรักษ์ปูรุส (Purús Conservation Complex) พื้นที่แถบนี้ไม่เพียงดกดื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ยักษ์ที่แทงยอดขึ้นจากพื้นป่าเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่ยังโอบอุ้มแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปูรุสและยูรูอา ตลอดจนเป็นแหล่งอาศัยของชนเผ่าที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ตามซอกหลืบเนินเขาอันห่างไกลกันดารโดยไม่ข้องแวะกับโลกภายนอก ไม่เพียงเท่านั้น เชื่อกันว่าที่นี่คือแหล่งรวมของมะฮอกกานีใบใหญ่ที่หลงเหลืออยู่ของเปรูมากถึงร้อยละ 80

พวกทำไม้เถื่อนกำลังใช้ชุมชนคนพื้นเมืองที่อยู่รอบๆเป็นช่องทางเข้าสู่พื้นที่คุ้มครอง หลายชุมชนถูกหลอกให้รับเงินเพื่อแลกกับการขอใบอนุญาตตัดไม้ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการ “สวมตอ” ไม้มะฮอกกานีที่ลักลอบตัดในเขตสงวนตลอดแนวแม่น้ำอัวกาปิสเตอาซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำยูรูอา และเป็นแนวพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเขตสงวนถิ่นอาศัยมูรูนาอัว ธุรกรรมฉ้อฉลเช่นนี้ทำให้ชุมชนชาวอาเชนินการาว 6 แห่งตกอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นและท้อแท้สิ้นหวัง

ช่วงกลางฤดูฝน ผมร่วมเดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำอัวกาปิสเตอากับคริส เฟแกน ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรอนุรักษ์แอมะซอนตอนบน (Upper Amazon Conservancy) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และอาร์เซเนียว กาเย ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติอัลโตปูรุส กาเยเป็นชายวัย 47 ปี มีเขตอำนาจดูแลพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตอนุรักษ์ปูรุส เฟแกนบอกว่า “อาร์เซเนียวไล่พวกลักลอบตัดไม้ออกไปจากอุทยานได้อย่างน่าทึ่ง แต่ความต้องการไม้มะฮอกกานีเถื่อนยังมีอยู่สูง มากครับ” หน่วยงานของเฟแกนได้ก่อตั้งองค์กรภาคีในเปรูชื่อ โปรปูรุส (ProPurús) เพื่อช่วยเหลือกรมอุทยานและสหพันธ์ชนพื้นเมืองในการปกป้องผืนป่า โครงการริเริ่มอย่างหนึ่งคือการจัดตั้ง “คณะกรรมการเฝ้าระวัง” ระดับชุมชน เพื่อตรวจตราตามแนวตะเข็บอุทยานแห่งชาติและป้องกันไม่ให้ใครรุกล้ำเข้ามา โคเซ บอร์โก บาสเกซ ผู้อำนวยการภาคสนามของโปรปูรุส ซึ่งเป็นชายวัย 60 ปีผู้คร่ำหวอดกับการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าแอมะซอนของเปรู ร่วมเดินทางมากับเราด้วย

บอร์โกเชื่อว่า ความพยายามในการอนุรักษ์จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อชุมชนท้องถิ่นร่วมปกป้องผืนดินของตนเองอย่างแข็งขัน เขาเสริมว่า อุปสรรคสำคัญสองประการคือความยากจนและขาดการศึกษา

อุปสรรคประการที่สามคือความห่างไกล ซึ่งช่วยให้พวกลักลอบตัดไม้ได้เปรียบอย่างที่สุด ป่าดิบชื้นแห่งลุ่มน้ำแอมะซอนช่างกว้างใหญ่ไพศาล และหุบเขาริมแม่น้ำที่มีอยู่มากมายก็ห่างไกลจนไม่สามารถตรวจตราได้อย่างทั่วถึง การขาดแคลนกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำให้พวกลักลอบตัดไม้นึกลำพองว่า ผืนป่ามีไว้ให้พวกตนฉกฉวย

วันรุ่งขึ้น มัคคุเทศก์ท้องถิ่นพาเราเดินลึกเข้าไปในป่าท่ามกลางสายฝน เพื่อออกตามหาปฏิบัติการผิดกฎหมาย เราเดินผ่านมะฮอกกานีขนาดยักษ์ต้นหนึ่งที่มีเครื่องหมายกากบาทเซาะเป็นร่องอยู่บนเปลือก ซึ่งดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่พวกตัดไม้ทำไว้เพื่อให้รู้ว่าต้องตัด ทางเดินที่ถูกแผ้วถางช่วงหนึ่งนำไปสู่ป่ารกชัฏฉ่ำฝน แล้วจู่ๆก็กลืนหายไปกับแมกไม้สีเขียว ไม่นานเราก็พบกับตัวการที่กำลังตามหา นั่นคือรถแทรกเตอร์ลากไม้ที่มีล้อขนาดใหญ่จอดอยู่ใต้เพิงซึ่งทำจากแผ่นสังกะสี

เนื่องจากฝนตกหนัก จึงยากที่เราจะแกะรอยของรถแทรกเตอร์ลากไม้จากลำธารที่เอ่อนองด้วยน้ำฝนเข้าไปยังเขตสงวน พวกเราจึงหันหลังกลับ กาเยจะแจ้งเบาะแสให้ทางการเมื่อกลับถึงเมืองปูไกปา แต่คงไม่มีใครสนใจจะตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับใคร หากไม่มีหลักฐานแน่นหนาจากในเขตสงวน ก็ยากที่จะเดินหน้ากับกรณีเช่นนี้ พวกทำไม้เถื่อนมักมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในปูไกปา ตำรวจที่ซื่อตรงมักตกเป็นเป้าของการใส่ร้ายป้ายสี หรือแม้แต่ถูกปลดออกดื้อๆหากทำอะไรล้ำเส้น

ปัญหาการทำไม้เถื่อนที่ระบาดไปทั่วประเทศส่งผลให้เมื่อปี 2007 สมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯเรียกร้องให้เปรูปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อแลกกับการให้ความเห็นชอบข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศ ข้อตกลงนี้กำหนดให้เปรูต้องดำเนินการหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับต้นมะฮอกกานีใบใหญ่ โดยให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าแทบไม่ได้ทำให้ชุมชนห่างไกลที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมาเฟียทำไม้เถื่อนเบาใจได้สักกระผีกริ้น คนพวกนี้ฉกฉวยไม้มะฮอกกานีของพวกเขาไปโดยแลกกับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด

อุตสาหกรรมทำไม้ของเปรูดำเนินการภายใต้กรอบของสัมปทานและใบอนุญาตที่ออกแบบมาเพื่อให้ชุมชน บริษัท หรือบุคคล ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการออกใบอนุญาตขนส่งครอบคลุมตลอดกระบวนการ ตั้งแต่จุดตัดไม้ไปจนถึงโรงเลื่อยและจุดส่งออกหรือจุดสุดท้ายที่มีการซื้อขาย กระนั้น ใบอนุญาตก็ซื้อขายกันได้ง่ายในตลาดมืด เอื้อประโยชน์ให้คนทำไม้สามารถตัดต้นไม้จากพื้นที่หนึ่ง แล้ว “สวมตอ” ว่ามาจากอีกพื้นที่หนึ่งได้

เนื่องจากใบอนุญาตมักถูกนำมาใช้ “สวมตอ” ไม้ที่ลักลอบตัดมาจากพื้นที่ใกล้เคียง ระบบสัมปทานไม้ของเปรู จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าช่วยปิดบังการทำไม้เถื่อน แต่วิศวกรป่าไม้และคนตัดไม้ของบริษัทกอนซอร์เซียว ฟอเรสตัลอามาโซนีโก หรือซีเอฟเอ (Consorcio Forestal Amazónico: CFA) ยืนยันว่า พวกเขากำลังพยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง ซีเอฟเอทำสัมปทานไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่กลางป่าดิบบนสองฝั่งของแม่น้ำยูกายาลี ณ ใจกลางลุ่มน้ำแอมะซอนส่วนที่อยู่ในเปรู บริษัทนี้เป็นแบบอย่างของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผล คนงานตัดไม้อาศัยแผนที่คอมพิวเตอร์กับฐานข้อมูลในการเข้าไปยังจุดที่เป็นเป้าหมาย พื้นที่สัมปทานขนาด 1,841.3 ตารางกิโลเมตรในผืนป่าเก่าแก่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นตารางรวม 30 แปลงย่อย โดยทางบริษัทจะหมุนเวียนตัดไม้ไปปีละแปลงตลอดระยะเวลา 30 ปี

พื้นที่สัมปทานของบริษัทซีเอฟเอแทบไม่มีไม้มะฮอกกานีอยู่เลย ทางบริษัทตัดซุงมาจากไม้หลายชนิดที่ชื่อไม่คุ้นหู เช่น ชามีซา ยากูชาปานา และ อัลกันฟอร์โมเอนา ผู้บริหารซีเอฟเอเชื่อว่า การใช้ประโยชน์จากต้นไม้หลายชนิดช่วยเพิ่มคุณค่าให้ผืนป่า เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้คนรักษาป่ามากขึ้น แม้ว่ามะฮอกกานีกับสนสแปนิชซีดาร์จะถูกตัดไปหมดแล้วก็ตาม

กระนั้นก็ชวนให้นึกสงสัยว่า ป่าผืนนี้จะมีสภาพเช่นไรในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อถนนและทางแยกย่อยขยายลึกเข้าไปในป่าสัมปทานมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อคนกับเครื่องจักรหวนกลับมาเริ่มวัฏจักรการทำไม้กันที่นี่อีกครั้ง ป่าจะฟื้นคืนสภาพได้หรือไม่ ซีเอฟเอกำลังเดิมพันกับความหวังนี้ ริก เคลล์โซ ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัท บอกว่า “ถ้าเราทำได้ อุตสาหกรรมไม้ของเปรูทั้งหมดจะได้รับประโยชน์ไปด้วย คุณสามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำได้จากการทำสิ่งที่ถูกต้อง คุณไม่จำเป็นต้องทำอะไรผิดกฎหมายเลย”

เรื่องโดย สกอตต์ วอลเลซ
เมย 2556