ผู้เขียน หัวข้อ: มานาทีบนวิถีแห่งความอยู่รอด-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1353 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
รอยยิ้มของผู้คนที่ได้พบเห็น คือสิ่งที่มานาที สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

ป้ายต้อนรับในแถบชานเมืองคริสตัลริเวอร์ไม่ใช่ป้ายแบบที่พบเห็นกันทั่วไป ข้อความบนป้ายเขียนว่า “รับฟังข้อมูลเรื่องมานาที หมุนไปที่คลื่นเอเอ็ม 1610” และน้อยเมืองนักจะมีรูปปั้นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมใกล้สูญพันธุ์สีแดง ขาว และฟ้าตั้งอยู่หน้าศาลาว่าการเมืองเช่นนี้

เมื่อแวะถามว่าจะยลโฉมสัตว์น้ำชื่อดังชนิดนี้ได้ที่ไหนก็จะได้คำตอบว่า ร้านดำน้ำราว 20 แห่งในเมืองจัดทัวร์ดำน้ำตื้นในอ่าวคิงส์ หรือจะเช่าเรือคายักพายไปยังบ่อน้ำพุร้อนที่มานาทีมารวมฝูงกันในฤดูหนาวก็ได้ หรือถ้าอยากดูจาก บนบกก็ให้มุ่งหน้าไปยังคลองด้านตะวันตกของบ่อน้ำพุร้อนทรีซิสเตอร์ส

เมื่อไปถึงคลองสายนี้ได้ไม่กี่นาที คุณจะเห็นมานาทีฝูงแรกแหวกว่ายอยู่เบื้องล่างราวกับภูติที่ล่องลอยอยู่ในน่านน้ำสีเขียวหยก บ้างก็ว่ายผ่านไปตัวเดียว บ้างก็มากับลูกตัวหนึ่ง หรือบางทีก็มากันเป็นฝูง ฝูงละสามสี่ตัว ขณะเดียวกันก็มีกระแสนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาและกลับออกไปอย่างไม่ขาดสาย

“ยังกับถังน้ำมันสนิมเขรอะลอยน้ำอย่างนั้นแหละ” ชายคนหนึ่งเอ่ยขึ้น

เจ้าของรูปร่างอวบอ้วนที่กำลังเคลื่อนผ่านไปใต้สะพานไม่มีทางชนะการประกวดความงามเวทีใดๆทั้งสิ้น สีสันสดใสเพียงสีเดียวที่มันมีคือรอยแผลเป็นสีชมพูซึ่งเกิดจากการถูกใบพัดเรือบาดเข้ากลางหลังสีเทา

มานาทีพันธุ์เวสต์อินดีสซึ่งอาจหนักถึง 500 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย ดูคล้ายโลมาตัวป้อมหรือวาฬขนาดเล็ก ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ทั้งสองชนิดเลย (แท้ที่จริง มานาทีมีบรรพบุรุษร่วมกับช้าง) มานาทีไม่มีชั้นไขมันที่ช่วยให้ทนความหนาวเย็นได้อย่างวาฬ หากอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส มานาทีจะเริ่มอ่อนแรงและตายลงในที่สุด

อ่าวคิงส์เป็นแหล่งพักพิงช่วงฤดูหนาวที่เกือบสมบูรณ์แบบสำหรับมานาที บ่อน้ำพุร้อนหลายสิบแห่งรอบๆอ่าวมีน้ำจืดซึ่งอุณหภูมิคงที่อยู่ที่ 22 องศาเซลเซียสผุดขึ้นมาตลอดปี พื้นที่แถบอ่าวคิงส์เป็นแหล่งพักพิงที่เหมาะเจาะสำหรับมานาทีจนทำให้ประชากรในช่วงฤดูหนาวเพิ่มขึ้นจากราว 30 ตัวในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นกว่า 600 ตัวในปัจจุบัน ทุกวันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เพียงแค่ชาวเมืองคริสตัลริเวอร์เดินออกมานอกบ้านก็จะเห็นมานาทีนับสิบตัวว่ายน้ำ ลอยตัวเอ้อระเหย หรือหลับอยู่ตามคลองเหมือนสุนัขที่ขดตัวนอนหลับอยู่ในสนามหญ้าอย่างเกียจคร้าน

“จริงๆแล้วมันเป็นสัตว์ป่าที่ปรับตัวให้เข้ากับเมืองและมาอาศัยอยู่หลังบ้านเรา ห่างจากที่หลับที่นอนของเราแค่ 15 เมตรเองครับ” โรเบิร์ต บอนด์ นักชีววิทยาของกรมสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาผู้ศึกษามานาทีพันธุ์ฟลอริดามานานกว่า 35 ปี กล่าว “มันมีความเป็นสัตว์ป่าและความอิสรเสรีเช่นเดียวกับช้างที่หากินอยู่ตามธรรมชาติ แต่กลับเลือกมาอยู่ที่นี่”

การใช้ชีวิตใกล้ชิดมนุษย์เช่นนี้ส่งผลให้คริสตัลริเวอร์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของมานาทีอย่างแท้จริง และยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้คริสตัลริเวอร์คู่ควรกับสมญานี้ นั่นคือ การสนับสนุนให้คนลงไปว่ายน้ำใกล้ๆ มีปฏิสัมพันธ์ และแม้กระทั่งสัมผัสตัวมานาที การสัมผัสสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ไม่มีวันได้รับอนุญาตหากมีการเสนอในปัจจุบัน แต่กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนคริสตัลริเวอร์มาช้านาน ก่อนการออกกฎหมายคุ้มครองพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ฉบับปี 1973 และการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ในทศวรรษถัดมาเสียอีก

แม้ทัวร์ว่ายน้ำกับมานาทีจะก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งมากมาย แต่กลับไม่ใช่สาเหตุแห่งความบาดหมางที่ร้ายแรงที่สุดในคริสตัลริเวอร์ การโต้แย้งอย่างดุเดือด การกล่าวหา และการดูหมิ่นดูแคลนที่สร้างรอยร้าวลึกในชุมชนแห่งนี้มีสาเหตุหลักมาจากประเด็นขัดแย้งที่ว่า ชาวเมืองได้รับอนุญาตให้ขับเรือที่ไหนและด้วยความเร็วเท่าไรต่างหาก

เนื่องจากมานาทีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้อากาศหายใจ ทำให้ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ใกล้ผิวน้ำ จึงเสี่ยงอันตรายจากเรือที่แล่นผ่านไปมา ครั้นมีมานาทีอาศัยอยู่ในอ่าวคิงส์มากขึ้นตลอดทั้งปี เมื่อปี 2012 กรมประมงและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐฯ จึงบังคับใช้กฎระเบียบในบริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตกีฬาความเร็วสูงอย่างกวดขัน โดยลดขนาดเขตดังกล่าวลง พร้อมทั้งลดความเร็วที่จำกัดไว้จาก 55 เป็น 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในฤดูร้อน สำหรับชาวเมืองผู้ขุ่นเคืองใจกับการถูกลิดรอนสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากอ่าวหลังบ้านอยู่ก่อนแล้ว ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวถือเป็นการละเมิดเสรีภาพจากหน่วยงานภาครัฐที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้

ในอนาคตอันใกล้ ความขัดแย้งอีกประเด็นหนึ่งกำลังจะปะทุขึ้นในคริสตัลริเวอร์ แม้เรือจะพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำหลายจุดในอ่าวคิงส์ แต่คลองสายแคบๆถัดจากบ่อน้ำพุร้อนทรีซิสเตอร์สเป็นจุดดำน้ำยอดนิยม บางครั้งจะมีมานาทีกว่า 200 ตัวมารวมฝูงกันในบริเวณนี้เพื่อพักผ่อนและรักษาร่างกายให้อบอุ่น ท่ามกลางเรือคายักหลายสิบลำ นักว่ายน้ำจำนวนมาก และเรือท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 20 ลำที่ทอดสมออยู่ในคลองสายนี้

ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เส้นทางน้ำ และข้อสงสัยเรื่องการจัดสรรสิทธิการเที่ยวชมอย่างเป็นธรรมทำให้เรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ร้านดำน้ำและธุรกิจอื่นๆในท้องถิ่นต้องคัดค้านทุกมาตรการที่อาจจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นแน่

ขณะเดียวกัน นิตยสารท่องเที่ยวและรายการโทรทัศน์ยังคงเผยแพร่กิจกรรมว่ายน้ำกับมานาทีที่อ่าวคิงส์ และจุดประกายจินตนาการให้ผู้คนปรารถนาจะได้พบประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างการใกล้ชิดสัตว์ชนิดนี้

และแล้วคุณเองก็หยิบชุดดำน้ำพร้อมหน้ากากขึ้นมาใส่ ก่อนจะหย่อนตัวลงในคลองที่บ่อน้ำพุร้อนทรีซิสเตอร์ส พอคุณมุดหัวลงใต้น้ำ สายน้ำก็กรองเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะของผู้คนให้เงียบลง คุณว่ายเข้าไปใกล้เขตกั้นเชือกแล้ว หยุดมองเจ้าของโครงร่างใหญ่สีเทานับสิบตัวใกล้ก้นคลอง ซึ่งกำลังพักผ่อนอยู่ในน้ำร้อนที่ผุดขึ้นมาจากใต้พื้นโลกเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นก่อนกลับออกไปหากินในอ่าว

มานาทีตัวหนึ่งหันมาหาคุณ ท่าทางอุ้ยอ้ายทว่างามสง่า มันว่ายตรงเข้ามากระทั่งใบหน้าอยู่ห่างจากหน้ากากของคุณเพียงไม่กี่เซนติเมตรก็หยุด คุณบอกตัวเองว่า ต่อจากนี้ไปคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และช่วงเวลานั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว มานาทีตัวนั้นว่ายผ่านคุณไป คุณเหลียวมองตามจนมันค่อยๆเลือนหายไปจากสายตา เบื้องล่างนี้คือโลกของมานาที คุณแค่แวะมาเยี่ยมเท่านั้น

เรื่องโดย เมล ไวต์
เมย 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 เมษายน 2013, 22:42:09 โดย pani »