ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อสัตว์สูญพันธุ์ฟื้นคืนชีพ-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1584 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เราคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญได้ แต่ควรทำหรือไม่

วันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2003 ทีมนักวิทยาศาสตร์สเปนและฝรั่งเศส ย้อนเวลาหาอดีตด้วยการคืนชีวิตให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วตัวหนึ่ง เพียงเพื่อเฝ้าดูมันสูญพันธุ์ไปอีกครั้ง สัตว์ที่พวกเขาคืนชีพให้คือแพะป่าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า บูคาร์โด (Capra pyrenaica pyrenaica) หรือไอเบกซ์พันธุ์พิเรนีส (Pyrenean ibex) บูคาร์โดเป็นสัตว์รูปร่างใหญ่โต สง่างาม น้ำหนักตัวอาจมากถึง 99 กิโลกรัม และมีเขาโง้งยาวอ่อนช้อย เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่พวกมันอาศับนที่สูงของเทือกเขาพีเรนีส ซึ่งเป็นเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน

จากนั้นปืนก็เข้ามา นักล่าทำให้ประชากรบูคาร์โดลดจำนวนลงตลอดหลายร้อยปี พอถึงปี 1989 นักวิทยาศาสตร์ชาวสเปนสำรวจและสรุปว่า มีแพะภูเขาหลงเหลืออยู่เพียงสิบกว่าตัวหรือราวๆนั้น สิบปีให้หลังบูคาร์โดเหลืออยู่เพียงตัวเดียว เป็นเพศเมียที่ได้ชื่อเล่นว่า “ซีเลีย” ทีมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออร์เดซาและมอนเตเปร์ดีโดภายใต้การนำของนายสัตวแพทย์ อัลแบร์โต เฟร์นันเดซ-อาเรียส ดักจับซีเลีย ใส่ปลอกคอวิทยุ และปล่อยมันกลับเข้าป่า เก้าเดือนต่อมา ซีเลียก็ตาย พร้อมๆกับที่บูคาร์โดได้สถานะสัตว์ที่สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ

แต่เซลล์ของซีเลียยังมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยเก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการหลายแห่งในเมืองซาราโกซาและกรุงมาดริด สองสามปีต่อมา ทีมนักสรีรวิทยาระบบสืบพันธุ์นำโดยโคเซ โฟลช์ ฉีดนิวเคลียสที่ได้จากเซลล์เหล่านั้นเข้าสู่ไข่ของแพะที่สกัดดีเอ็นเอออกหมด แล้วนำไข่ไปฝังในตัวแม่แพะอุ้มบุญ หลังจากฝังไข่ทั้งสิ้น 57 ครั้ง มีแพะเพียงเจ็ดตัวเท่านั้นที่ตั้งท้อง ในจำนวนนี้หกตัวแท้งลูก แต่แม่แพะตัวหนึ่งซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างไอเบกซ์สเปนกับแพะบ้านตั้งท้องตัวโคลนของซีเลียจนครบกำหนดคลอด โฟลช์และเพื่อนร่วมงานผ่าตัดทำคลอดให้ลูกแพะภูเขาเพศเมียน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ขณะที่เฟร์นันเดซ-อาเรียสอุ้มบูคาร์โดแรกเกิดไว้ในอ้อมแขน เขาสังเกตว่ามันกระเสือกกระสนดิ้นรนหายใจจนลิ้นจุกปาก แม้จะพยายามทุกวิธีทางเพื่อช่วยให้มันหายใจแต่อีกเพียง 10 นาทีต่อมาโคลนของซีเลียก็ขาดใจตาย การผ่าพิสูจน์ในเวลาต่อมาเผยว่า ปอดข้างหนึ่งของมันมีกลีบปอดส่วนเกินขนาดใหญ่งอกออกมาและมีลักษณะแข็งเหมือนตับ โดยไม่มีเซลล์ที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซอย่างที่เนื้อเยื่อปอดควรจะมี

แนวคิดเรื่องการนำชนิดพันธุ์ที่สาบสูญให้กลับมาท่องโลกอีกครั้ง หรือที่บางคนใช้ศัพท์เทคนิคว่า de-extinction อยู่ก้ำกึ่งระหว่างโลกแห่งความจริงกับนิยายวิทยาศาสตร์มากว่ายี่สิบปี นับตั้งแต่ไมเคิล ไครช์ตัน นักเขียนนวนิยาย คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์กลับมาโลดแล่นบนพื้นพิภพในนวนิยายที่ต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ ฮอลลีวู้ดชื่อเดียวกันคือ จูแรสซิกพาร์ก (Jurassic Park) จึงอาจกล่าวได้ว่าตัวโคลนของซีเลียเข้าใกล้ความจริงของการชุบชีวิตสัตว์สูญพันธุ์มากที่สุด จากนั้นเป็นต้นมา เฟร์นันเดซ-อาเรียส ก็เฝ้ารอเวลาที่มนุษย์อาจมีขีดความสามารถมากพอในการนำสัตว์ที่ตนเองทำให้สูญพันธุ์กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

เขาบอกผมว่า “เรามาถึงจุดนั้นแล้วละครับ”

ผมพบเฟร์นันเดซ-อาเรียส เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วระหว่างการประชุมวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นการภายใน ณ สำนักงานใหญ่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ นักพันธุศาสตร์ นักชีววิทยาสัตว์ป่า นักอนุรักษ์ และนักจริยศาสตร์ มารวมตัวกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์สาบสูญ สามารถทำได้จริงหรือไม่ และสมควรแล้วหรือ พวกเขาลุกขึ้นรายงานความก้าวหน้าอันน่าทึ่งในศาสตร์ที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งสเต็มเซลล์ การค้นพบและกอบกู้ดีเอ็นเอโบราณ หรือการประกอบห์จีโนมที่สาบสูญขึ้นใหม่ ขณะที่การประชุมเดินหน้าไป ทุกคนตื่นเต้นขึ้นทุกขณะ และเห็นพ้องต้องกันว่า การคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์สาบสูญอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว

รอส แมกฟี ภัณฑารักษ์แผนกวิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันที่นิวยอร์ก ยอมรับว่า “วิทยาการรุดหน้าไปไกล และเร็วเกินกว่าใครจะคาดคิดครับ สิ่งที่เราต้องขบคิดกันอย่างจริงๆ จังๆ ตอนนี้ก็คือ ทำไมเราถึงต้องคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญต่างหากครับ”

ในความเป็นจริง (แน่นอนว่าแตกต่างจากจินตนากการแนวแฟนตาซีที่หลายคนคุ้นเคย เช่น จากภาพยนตร์เรื่อง จูแรสซิกพาร์ก ชนิดพันธุ์สาบสูญที่เราพอจะหวังได้ว่าสามารถนำกลับคืนมา มีเพียงพวกที่สูญพันธุ์ไปในช่วงไม่กี่หมื่นปีที่ผ่านมา และต้องเหลือซากซึ่งมีเซลล์ที่อยู่ไม่แตกสลาย หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีดีเอ็นเอ ดึกดำบรรพ์มากพอให้ประกอบจีโนมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อพิจารณาอัตราการเน่าเปื่อยผุพังตามธรรมชาติ เราไม่อาจคาดหวังที่จะกู้จีโนมสมบูรณ์ของ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ซึ่งสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อนขึ้นมาใหม่ได้ ชนิดพันธุ์ที่อาจกอบกู้ให้กลับมาได้ในทางทฤษฎีต่างอันตรธาน ไปสิ้นเมื่อมนุษย์ผงาดขึ้นครองโลกอย่างรวดเร็ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์เป็นเพียงชนิดพันธุ์เดียวที่กวาดล้างชนิดพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะโดยการล่า การทำลายถิ่นอาศัย หรือการแพร่โรคร้าย นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่า เราควรนำพวกมันกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง

ไมเคิล อาร์เชอร์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ บอกว่า “ถ้าพูดถึงชนิดพันธุ์ที่เราทำให้สูญสิ้นไป ผมว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องนำพวกมันกลับมาครับ” บางคนอาจค้านว่า การชุบชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่ไม่มีอยู่แล้วไม่ต่างอะไรจากการทำตัวเป็นพระเจ้า แต่อาร์เชอร์แย้งว่า “ผมว่าเราทำตัวเป็นพระเจ้าตอนที่เราล้างเผ่าพันธุ์พวกมันมากกว่าครับ”

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่เห็นด้วยกับการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญออกมาสนับสนุนว่า การทำเช่นนั้นก่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ เป็นต้นว่า ยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่สามารถปรุงขึ้นได้หากปราศจากสารตั้งต้น แต่ต้องสกัดจากสารประกอบตามธรรมชาติที่พบในพืชป่าหลายชนิดซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน ขณะที่สัตว์ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วบางชนิดมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของพวกมัน เช่น ย้อนหลังไปเมื่อ 12,000 ปีก่อน ไซบีเรียเคยเป็นบ้านของแมมมอทและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ ที่กินหญ้า สภาพภูมิประเทศในตอนนั้นไม่ใช่เขตทุนดราที่ดกดื่นไปด้วยมอส หากเป็นทุ่งหญ้าสเตปป์เขียวขจี เซียร์เกย์ ซิมอฟ นักนิเวศวิทยาชาวรัสเซีย เคยโต้แย้งมานานแล้วว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แมมมอทและสัตว์กินพืชมากมายหลายชนิดช่วยรักษาสภาพทุ่งหญ้าไว้ด้วยการเหยียบย่ำหรือขุดคุ้ยทำให้ดินร่วนซุย และบำรุงด้วยมูลของพวกมัน เมื่อสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไป มอสก็เข้าปกคลุมและเปลี่ยนทุ่งหญ้าให้กลายสภาพเป็นเขตทุนดราขาดความอุดมสมบูรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ ซิมอฟได้ทดลองนำม้า วัวมัสก์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ กลับสู่ภูมิภาคหนึ่งของไซบีเรียที่เขาเรียกว่า สวนไพลสโตซีน (Pleistocene Park) และคงยินดีไม่น้อยถ้าได้แมมมอทขนยาวตระเวนหากินอยู่ที่นี่ด้วย เขาบอกว่า “ก็คงมีแต่รุ่นหลานของผมกระมังที่จะได้เห็น แมมมอทขยายพันธุ์ช้าเหลือเกิน ต้องเตรียมตัวรอกันหน่อยนะครับ”

เรื่องโดย คาร์ล ซิมเมอร์
เมย.2556