ผู้เขียน หัวข้อ: กพย.ห่วงแก้ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ กระทบ ปชช.  (อ่าน 774 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 กรมเจรจาฯ-กรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมหัวเสนอแก้ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทั้งการเข้าถึงยา และ กม.ในการพัฒนาระบบยา เอื้อการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ด้าน กพย.ห่วงกระทบ ปชช. อุตสาหกรรมยาในประเทศง่อย ต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศมากขึ้น
       
       ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงกรณีสำนักนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยา ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในที่ประชุม ว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบคือ ในที่ประชุมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเสนอเรื่องขอให้แก้ไขยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเข้าถึงยา 2.การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยา ชีววัตถุ และสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง และ 4.การพัฒนาระบบการควบคุมยาเพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของยา ซึ่งจะเป็นแผน 5 ปี ระหว่างปี 2555-2559 โดยจะขอแก้ไขในเรื่องของการเข้าถึงยา การควบคุมราคายา และกฎหมายในการพัฒนาปรับปรุงเกี่ยวกับยา ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ยา ของ กพย.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีการเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างราคายาด้วย
       
       ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า ที่กรมเจรจาฯ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องการแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะเดิมกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดควบคุมราคายา แต่ไม่สามารถควบคุมราคาได้อย่างแท้จริง เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา เชื่อว่าทำให้กระทรวงพาณิชย์ถูกบีบจากภาคอุตสาหกรรมในเรื่องของการผูกขาดทางด้านยา จากการเตรียมการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อห่วงกังวลในเรื่องของข้อตกลงที่อาจเกินไปกว่าทริปส์พลัส การผูกขาดข้อมูลทางด้านยา และการขยายสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี รวมเป็น 25 ปี
       
       “หากในที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้มีการแก้ไขถือว่าแย่มาก เพราะจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชน และเกิดการผูกขาดทางด้านยา มีผลต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้ายาจากต่างประเทมากขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันก็มีการนำเข้ายาเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว” ผูจัดการ กพย.กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 เมษายน 2556