ผู้เขียน หัวข้อ: ทำอย่างไร! เมื่อเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล  (อ่าน 1462 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   20 มีนาคม 2556 01:20 น.   

   


       โดย...ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร
       คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
       
       หลายคนกังวลเมื่อเกิดเชื้อดื้อยาแล้ว จะทำอย่างไร
       
       การดื้อยา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคและเมื่อเชื้อโรคดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่ง ก็มักจะดื้อกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นในประเภทเดียวกัน ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อนั้นๆ ได้ผลไม่ดี ต้องใช้ยาปฏิชีวนะประเภทที่มีความสามารถสูงขึ้นเพื่อมายับยั้งเชื้อโรค ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโรครุนแรงต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพบว่า การติดเชื้อโรคดื้อยา เป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอยู่ขณะนี้
       
       ส่วนใหญ่การติดเชื้อดื้อยา มักพบในผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน อย่างไรก็ดี การรักษาโรคติดเชื้อดื้อยาบางชนิดยังมียาที่มีประสิทธิภาพสามารถรักษาได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจให้การรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย



       เกริ่นมาพอควร เชื้อที่ว่านี้คือ เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายคนเรา โดยเฉพาะเชื้อสตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อที่พบได้บ่อยมาก ประมาณ 3 คน จะพบเชื้อนี้ 1 คน เมื่อเชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะก็จะกลายเป็นเชื้อที่รักษายาก เพราะเชื้อโรคสามารถดื้อต่อยาที่เคยใช้รักษาได้มาก่อน สำหรับการแพร่กระจายนั้น ส่วนใหญ่ติดต่อทางการสัมผัส ทั้งทางตรงโดยใช้มือ และทางอ้อมโดยผ่านอุปกรณ์ของเครื่องใช้ต่างๆ
       
       การป้องกันทำได้โดย บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ลูบมือก่อนและหลังให้การดูแลผู้ป่วย การสวมเครื่องป้องกันก่อนเข้าไปดูแลผู้ป่วย โดยสวมถุงมือและเสื้อคลุม ทำความสะอาดห้องพักและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยความระมัดระวัง ด้านผู้ป่วยนั้นสามารถป้องกันตนเอง โดยล้างมือบ่อยๆ รวมถึงญาติหรือผู้ที่เข้าเยี่ยม ต้องล้างมือก่อนและหลังออกจากห้องเยี่ยมไข้ที่หอผู้ป่วย
       
       นอกจากนี้การให้การรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและต้องให้การรักษาที่รวดเร็ว เพราะถ้ามีการใช้ยาปฏิชีวนะที่ยาวนาน ก็จะมีส่วนกระตุ้นให้เชื้อโรคนั้นดื้อยาได้อีกเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรใช้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชนิดของยา ขนาดของยา และระยะการให้ยาระหว่างมื้อยา โดยแพทย์และผู้ป่วยต้องร่วมมือกันก็จะช่วยลดโอกาสที่เชื้อโรคจะพัฒนาเพื่อต่อต้านยาที่ใช้รักษา และลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้ป่วยอื่นด้วย
       
       เมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้าน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยรับประทานยาปฏิชีวนะจนครบตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาก่อนและไม่ซื้อยามารับประทานเอง ถ้ามีอุปกรณ์ทางการแพทย์ติดตัวไปหรือมีแผลด้วย ให้ทำความสะอาดมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนและหลังทำแผลรวมถึงดูแลความสะอาดทั้งอุปกรณ์ ก่อนเตรียมและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังสั่งน้ำมูก ไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าขนหนูหรือใบมีดโกนร่วมกัน และทุกครั้งที่ไปรับบริการทางการแพทย์ ควรแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบถึงประวัติการดื้อยา เพื่อจะได้รับการดูแลทั้งการรักษาและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคดื้อยาอย่างเหมาะสม
       
       --------------------------------------------------
       
       กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
       
       ไตวายหยุดได้ด้วย...ป้องกัน
       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญชวนผู้สนใจร่วมงาน ”ไตวายหยุดได้ด้วย...ป้องกัน” เนื่องในวันไตโลก บริการตรวจคัดกรองโรคไตพร้อมรับคำแนะนำ ฟังเสวนาจากประสบการณ์จริงของผู้ป่วย และนิทรรศการให้ความรู้ ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556 เวลา 09.00-15.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถาม โทร. 0-2419-8383