ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ยอมกลุ่มหมอชนบทตัดปรับลดเบี้ยเลี้ยงระยะ 3 ออก เดินหน้า P4P เต็มที่  (อ่าน 1475 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   19 มีนาคม 2556 17:56 น.   

   


       สธ.เปิดรายชื่อ รพช.พื้นที่เมืองใหม่ 33 แห่ง ยอมอ่อนข้อกลุ่มหมอชนบท ตัดการปรับลดเบี้ยเลี้ยงระยะ 3 ออก ส่งผลทุก รพช.ยังมีเบี้ยเลี้ยงแต่ลดลง โดยดึงไปจ่ายแบบ P4P แทน เล็งหางบเพิ่มเกือบพันล้านบาทช่วย รพ.ขาดสภาพคล่อง เดินหน้า P4P เต็มสูบ
       
       นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการ สธ.เกี่ยวกับ “ร่างการทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข (ฉบับปรับปรุงวันที่ 19 มี.ค.2556)” ว่า เงินค่าจ้างในระบบสาธารณสุขทั้งหมด 91,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เงินเดือน 51,000 ล้านบาท และเงินประจำตำแหน่ง 4,000 ล้านบาท และ 2.เงินพื้นที่พิเศษและวิชาชีพที่ขาดแคลน (เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย) 26,000 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ สหวิชาชีพ (7 สาย พ.ต.ส.) และสายบริหารโดยตรง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่จะไม่มีการลดวงเงินดังกล่าวลง เพียงแต่ปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนพื้นที่พิเศษให้เป็นการจ่ายแบบตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance)

   

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับหลักการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งเดิมวางแนวทางไว้ 3 ระยะ แต่หลังจากมีผู้ท้วงติงจึงมีการทบทวนและปรับเหลือเพียง 2 ระยะ โดยตัดระยะที่ 3 ออกไป ซึ่งเป็นการปรับลดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายพื้นที่ปกติทั้งหมด ทำให้ทุกพื้นที่ยังคงมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอยู่ แต่จะลดลง โดยเงินส่วนที่ถูกลดลงไปนี้จะนำไปจ่ายในส่วนของ P4P แทน ทั้งนี้ ระยะแรกจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ ได้มีการปรับพื้นที่ รพช.ใหม่ โดยพิจารณาจากสภาพรายได้ท้องถิ่น การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะระดับ 1 และพื้นที่เฉพาะระดับ 2 โดยพื้นที่ชุมชนเมืองจะมีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงจากเดิมที่ไม่มีมาก่อน ส่วนพื้นที่เฉพาะระดับ 1 และ 2 นั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล อยู่ตามหมู่เกาะ หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยังคงได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเท่าเดิม ไม่มีการลดลงแต่อย่างใด ส่วนในพื้นที่ปกติ จะมีการปรับลดบางส่วน เช่น แพทย์/ทันตแพทย์ ที่ทำงานปีที่ 4-10 จะมีการปรับลดลงประมาณ 5,000 บาท ส่วนระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มวันที่ 1 เม.ย.2557 พื้นที่ชุมชนเมืองจะปรับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายออกแล้วจ่ายเป็น P4P แทน
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า 2.ส่วนของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) แบ่งพื้นที่เป็น พื้นที่เฉพาะกลุ่ม ก และพื้นที่เฉพาะกลุ่ม ข ซึ่งได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามอัตราคงที่ จะนำวงเงินทั้งหมดมาปรับจ่ายตามภาระงาน โดยหลักการจะไม่ทำให้ได้เงินน้อยลง แต่จะได้เงินเท่าเดิมหรืออาจมากขึ้นกว่าเดิม จากนี้จะนำข้อเสนออัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่มีการทบทวนแล้วเสนอต่อ รมว.สธ.พิจารณาก่อนเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P นั้นจะมีการพิจารณาภาระงานทั้งการบริการการรักษา การผ่าตัด รวมไปถึงงานเวชปฏิบัติชุมชน งานด้านบริหาร และงานด้านวิชาการด้วย ส่วนเงินนั้นแยกกันหมด รพช. รพศ. และ รพท.แต่ละแห่งจะใช้งบจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล โดยเบื้องต้น สธ.จะเสนอของบเพิ่มเติมประมาณ 910 ล้านบาท มาช่วยโรงพยาบาลที่มีปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง
       
       “หลังจากนี้เตรียมจะประชาสัมพันธ์และแจ้งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ รับทราบ เบื้องต้นได้แจ้งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงในแต่ละพื้นที่ดำเนินการ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว และจะแจ้งผ่านทางเทเลคอนเฟอเรนซ์อีก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการแนวใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2556 จนกระทั่ง 1 เม.ย. 2557 จากนั้นจะมีการประเมินผลต่อไป” ปลัด สธ.กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ชมรมแพทย์ชนบทเตรียมยื่นเรื่องให้กรมบัญชีกลางว่า หาก สธ.ปรับแนวทางนี้จะทำให้งบประมาณของประเทศบานปลาย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เป็นการเข้าใจผิด เพราะคนละส่วนกัน เรื่องค่าตอบแทนต่างๆ รวมทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ส่วนใหญ่เป็นงบเงินบำรุงของโรงพยาบาล เงินที่ขอจากสำนักงบฯ น้อยมาก จึงไม่น่าจะบานปลาย
       
       สำหรับการจัดแบ่งพื้นที่ รพช.และ รพศ./รพท.ตามสภาพพื้นที่ตั้งใหม่นั้น ในส่วนของรพช.ที่มีทั้งหมด 737 แห่ง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.พื้นที่เมืองรวม 33 แห่ง แยกเป็นรพช. 13 แห่ง ได้แก่ รพ.บางกรวย รพ.บางบัวทอง รพ.บางใหญ่ รพ.ปากเกร็ด รพ.พนัสนิคม รพ.บ้านบึง รพ.อ่าวอุดม รพ.บางบ่อ รพ.บางจาก รพ.สามพราน รพ.ป่าตอง รพ.ถลาง รพ.หางดง และ รพช.ที่กำลังยกระดับเป็นรพท. 20 แห่ง ประกอบด้วย รพ.บางละมุง รพ.กบินทร์บุรี รพ.บางพลี รพ.แกลง รพ.อรัญประเทศ รพ.มาบตาพุด รพ.ชุมแพ รพ.กุมภวาปี รพร.เดชอุดม รพ. 50 พรรษาฯ รพ.วารินทร์ชำราบ รพ.ปากช่องนานา รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา รพ.สว่างแดนดิน รพ.นางรอง รพ.ปราสาท รพ.ฝาง รพ.จอมทอง รพ.สิชล และรพ.ทุ่งสง 2.พื้นที่ปกติ 591 แห่ง 3. พื้นที่เฉพาะระดับ 1 คือ รพช.ในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่เฉพาะอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีความกันดารแต่ไม่ค่อยมีบุคลากรไปอยู่อย่างพื้นที่เกาะ เช่น เกาะสีชัง จำนวน 65 แห่ง และ 4.พื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 48 แห่ง
       
       สำหรับรพศ./รพท. ที่มีทั้งหมด 96 แห่ง เป็น 3 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ปกติ 87 แห่ง พื้นที่เฉพาะระดับ ก จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ รพ.เกาะสมุย รพ.ตะกั่วป่า รพ.นราธิวาส รพ.ปัตตานี รพ.ยะลา รพ.บึงกาฬ และรพ.สุไหงโกลก และพื้นที่เฉพาะระดับ ข จำนวน 2 แห่ง คือ รพ.เบตง และ รพ.ศรีสังวาลย์