ผู้เขียน หัวข้อ: 'ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ'หัวขบวนพยาบาล วันที่ทวงถามความเป็นธรรม  (อ่าน 2878 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
การออกมาเรียกร้องทวงถามเรื่องตำแหน่ง ที่ควรจะได้รับในการเติบโตจากหน้าที่การงาน การถามไถ่ถึงการบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมของกระทรวงสาธารณสุข ให้กับพยาบาลจบใหม่นับหมื่นคน ที่ยังเป็นลูกจ้างแบบไร้อนาคตอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ หลังจากทุกคนทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อคนป่วยนับล้านคนทั่วประเทศ คงไม่มากเกินไป แต่ไม่เพียงเท่านั้น ชีวิตพยาบาลยังต้องเสียสละอะไรอีกมาก คนส่วนหนึ่งที่อดทนกับภาวะกดดันได้ ก็ดำเนินชีวิตต่อไป แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกทางออกอื่นเมื่อถึงเวลาอันสมควร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล ตอบคำถามสารพัดปัญหาที่พยาบาลกำลังเผชิญ

ถาม ปัญหาเรื่องการบรรจุผู้จบพยาบาลเข้าเป็นข้าราชการ

ดร.วิจิตร : เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ว่าจะไม่มีการเพิ่มตำแหน่ง เพราะเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในอนาคต ซึ่งปีหนึ่งๆเราผลิตพยาบาลได้ 9,000 คน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขผลิตได้ประมาณ 3,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด เมื่อผลิตออกมาแล้ว เด็กส่วนใหญ่ที่จบจากวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เขาก็อยากจะทำงานในกระทรวง ก็ไปสมัครงาน แต่ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ไม่มีอัตรากำลังเลย เด็กเหล่านี้ก็จะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ขณะนี้สะสมรอบรรจุอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 13,000 คน เพราะในแต่ละปีบรรจุได้ไม่กี่คน เพราะต้องรอคนออก คนเกษียณอายุราชการ มีตำแหน่งว่าง ถ้าโชคดีก็เอาตำแหน่งนั้นมาบรรจุคนใหม่ ถ้าโชคไม่ดีก็ต้องเอาตำแหน่งนั้นไปยุบรวม เพื่อไปให้คนอื่นที่ขยับสูงขึ้น

ถาม ที่มีตำแหน่งว่างและมีคนรอบรรจุ เป็นการรอในพื้นที่นั้นๆ หรือเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ

ดร.วิจิตร :  คนที่ออกไป ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนปีละประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีประสบการณ์

ถาม แล้วคนที่มาทดแทน และได้บรรจุจริงๆปีละเท่าไหร่

ดร.วิจิตร :  คนที่มารอจะได้งานทำทุกคน แต่อยู่ไม่ทน ซึ่งต้องเข้าใจว่า เด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทุกคน เพราะจะมีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลของรัฐไปให้เด็กกรอกใบสมัคร ซึ่งเด็กไม่ตกงานแน่นอน แต่งานที่เขาได้ทำไม่ได้เป็นงานถาวร เป็นงานชั่วคราว ซึ่งเอกชนก็อยากให้ทำตลอดไป แต่พยาบาลที่จบใหม่ไม่อยากทำ เขาอยากทำงานราชการมากกว่า เพราะค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการเทียบกันไม่ได้ และคนเหล่านี้ก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต

ถาม มีอะไรดึงดูดใจให้พยาบาลจบใหม่อยากเป็นข้าราชการ

ดร.วิจิตร : สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เพราะถ้าเป็นข้าราชการ เขาจะได้สวัสดิการให้กับพ่อแม่ ตัวเขาเอง และลูก แต่ถ้าไปอยู่ประกันสังคม จะได้แต่ตัวเราคนเดียว สามีภรรยาก็ไม่ได้ ลูกก็จะได้เพียงส่วนหนึ่งไม่มาก เพราะฉะนั้นตรงนี้ทุกคนกังวลกับเรื่องนี้ เพราะทุกคนอยู่กับคนป่วย ก็จะรู้ว่าค่ารักษาพยาบาลแต่ละครั้งมันแพงขนาดไหน ใช้เงินเยอะ และมีพ่อแม่ต้องเลี้ยงดู ฉะนั้นเขาจึงอยากเป็นข้าราชการ ดูพยาบาลภาคใต้ ขนาดจบปริญญาตรีแล้วยังสมัครมาเรียนเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลบอกว่าจบแล้วจะให้เป็นข้าราชการ ตอนนี้ก็บรรจุไปเกือบหมดแล้ว จาก 3,000 คน ตอนนี้ได้ไปแล้ว 2,800 กว่าคน ที่เหลือยังไม่จบ เขาก็อยากเป็นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการดี ความก้าวหน้าก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ มีความมั่นคง คือถ้าไปทำงานเอกชน ถ้าเกิดเศรษฐกิจไม่ดี อย่างช่วงต้มยำกุ้งคนลาออกเป็นแถวเลย เพราะไปอยากไปอยู่ราชการ มันไม่แน่นอน เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าเศรษฐกิจจะดีเช่นนี้ตลอดไป

ถาม สาเหตุที่พยาบาลอาวุโสลาออกจากโรงพยาบาลของรัฐไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนเพราะอะไร

ดร.วิจิตร : สาเหตุหนึ่งเพราะงานหนัก เพราะเขาทำงานหนักมาตั้งแต่สมัยสาวๆ หลังเรียนจบใหม่ๆ ซึ่งก็จะหนักอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ทีนี้พออายุมากขึ้นร่างกายทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีงานที่ดีกว่าเขาก็ไป อย่างน้อยสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลเอกชนก็ดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ

ถาม ส่วนใหญ่อายุงานเท่าไหร่ที่ลาออก

ดร.วิจิตร :  ที่เราเคยทำวิจัยไว้ เราจะถามเขาว่าเขามีความตั้งใจที่จะออกจากงานเมื่อไหร่ ค่าเฉลี่ยประมาณ 22.5-23 ปี ซึ่งเขาเรียนจบมาอายุประมาณ 22 ปี ทำงานมาประมาณ 23 ปี เขาก็อายุ 45 ปี ก็อยากออกแล้ว อยากจะเปลี่ยนงานไปอยู่ที่มันเบาหน่อย เพราะว่าเขาสะสมประสบการณ์ขึ้นมามาก แต่ก็ยังทำงานหนักเหมือนเดิม เพราะไม่มีใครมาทดแทน

ถาม เกี่ยวกับแรงจูงใจหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  รายได้ดีกว่า อย่างน้อยสองเท่าของที่อยู่เดิม

ถาม ตำแหน่งมีส่วนหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ในส่วนของเอกชนอาจจะไม่มีตำแหน่งเป็นแรงจูงใจ แต่ของรัฐบาลกลายเป็นแรงผลักให้เขาออกไป ขณะที่รายได้จากโรงพยาบาลเอกชนก็ดึงเขาด้วย เพราะของราชการเมื่อไหร่ก็ไม่ได้เลื่อนสักที เพราะว่าพยาบาลมีความเหลื่อมล้ำ สมมุติว่าได้ระดับชำนาญการ หรือ ซี 7 เดิม พอจะขึ้นชำนาญการพิเศษ หรือ ซี 8 จะต้องยุบรวมตำแหน่ง ยุบเอาเงินของอีกคนมาให้อีกคน สมมุติว่ามีคนสองคน ถ้าคนหนึ่งจะขึ้นซี 8 ขึ้นไม่ได้ ต้องรอให้อีกคนเกษียณหรือลาออกไป แล้วเอาเงินของอีกคนมายุบรวมหรือมาพอก อันนี้แหละที่ทำให้พยาบาลตันกันเป็นแถว ทั้งเงินเดือนและตำแหน่ง พยาบาลที่มีสภาพเช่นนี้มีอยู่จำนวนมาก คือ ถ้าเป็นแพทย์ หรือทันตแพทย์ ก็จะไม่มีปัญหา พอเมื่อมีตำแหน่งว่างเขาขึ้นได้เลย โดยอัตโนมัติไม่ต้องมารอยุบรวม แต่ของพยาบาลต้องรอให้มีตำแหน่งว่างแล้วถึงจะไปยุบรวม อันนี้เป็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเขาไปร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็มีการพิจารณาว่า ก.พ.ออกระเบียบแบบนี้มาไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุขก็ควรเปิดตำแหน่งให้มากขึ้น

ถาม มีพยาบาลที่ต้องรอแบบนี้จำนวนเท่าไหร่

ดร.วิจิตร :  มีพยาบาลซี 7 ในโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 30,000 กว่าคน เกิดลักษณะนี้กว่าครึ่ง เป็นหมื่นคน เพราะคนหนึ่งเขาจะอยู่กันนานประมาณ 20 ปี อย่างเข้ารับราชการครั้งแรกซี 3 มันเลื่อนไหล ซี 3 ซี 4 ซี 5 ซี 6 พอ 6-7 ต้องทำผลงานทางวิชาการ แต่พอจะขึ้นซี 8 ต้องรอให้มีตำแหน่งว่างมายุบรวม มีคนที่หลุดไปก็ไม่เยอะ ก.พ.เคยวิเคราะห์ไว้ว่า หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จะได้ซี 9 แต่ต้องทำผลงาน ทั้งหมด 96 โรงพยาบาล แต่ว่าให้ไปไม่หมด ยังขาดอีก 38 คน ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โรงพยาบาลชุมชน หัวหน้าพยาบาลควรจะเป็นซี 8 ทั้งหมด มีอยู่ 700 กว่าแห่ง ได้ไปครึ่งเดียว ยังขาดอยู่ 370 อัตรา ซึ่งต้องรอไปอีกนานถ้ายังมีระเบียบนี้อยู่ เพราะต้องรอให้คนเกษียณหรือลาออก ซึ่งส่วนใหญ่คนก็จบมาใกล้ๆกัน และอีกอย่างคือ เมื่อมีคนลาออกไป ตำแหน่งก็หายไป 1 คน คนก็น้อยลงแต่งานยังเท่าเดิม เท่ากับว่าต้องทำงานหนักขึ้น และเราก็จะได้อยู่คนเดียวมันก็ดูไม่ดี ล่าสุดสภาการพยาบาลได้ไปยื่นต่อรมว.สาธารณสุข ซึ่งท่านก็รับว่าจะไปคุยกับก.พ.เพื่อให้ปล่อยตำแหน่งออกมา เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะเราที่เดือดร้อน หน่วยงานอื่นก็เดือดร้อน ที่กระทรวงนี้ก็มีลูกจ้างอยู่เยอะเหมือนกัน ก็ไม่ทราบก.พ.ว่าอย่างไร

ถาม สาเหตุนี้เกี่ยวหรือเปล่ากับที่พยาบาลอยากไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนหรือไปอยู่ต่างประเทศ

ดร.วิจิตร :  เป็นส่วนหนึ่ง เพราะพยาบาลนี่ถ้าได้อยู่บ้านของตัวเองแล้ว ไม่อยากจะไปไหน ถ้าได้บรรจุอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่เขาอยู่แล้วมักจะไม่ค่อยไปไหน แต่ถ้าเขาไม่ได้อยู่แถวนั้นเขาก็จะย้ายง่าย เช่น เด็กจบใหม่ๆ เขาสมัครไปอยู่บ้านเขา แต่เมื่อไม่มีตำแหน่งเขาก็ต้องไปที่อื่น พอไปแล้วมีช่องทางเขาก็ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ค่อนข้างเยอะ ซึ่งตรงนี้โรงพยาบาลเอกชนก็จะได้รับประโยชน์ ขณะที่เด็กก็จะได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า เพราะฝึกงานที่โรงพยาบาลของรัฐแล้วไปเอกชนจะดูดี เพราะว่างานหนัก ใครผ่านโรงพยาบาลรัฐบาลไปแล้ว ก็โอเคแล้ว

ถาม ตอนนี้ประเทศเราพยาบาล 1 คน ดูแลคนไข้กี่คน

ดร.วิจิตร :  มาตรฐานเราพยาบาล 1 คน คนไข้ไม่เกิน 4 คน ต่อเวร คือ 6 ชั่วโมง แต่เขาจะได้รับกันคนละ 10-20 คนต่อเวร เพราะคนไข้เยอะมาก เพราะฉะนั้นก็จะมีปัญหาในเรื่องที่ว่า พอเหนื่อยมากๆเขาก็จะล้า และอาจเกิดความผิดพลาดได้ และเนื่องจากเราขาดพยาบาล ทำให้ต้องอยู่เวรเยอะ คนหนึ่งอยู่เวรประมาณเดือนหนึ่ง ปกติเราทำงานแค่ 22 วัน แต่พยาบาลบางคนทำงานเดือนหนึ่ง 31 วัน 31 เวร มันเกือบไม่ได้พักเลย ถ้าจะได้พักก็เวรเช้าควบเวรบ่าย วันหนึ่งควบ 2 เวร แล้วถึงจะพักได้ อันนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เขาอยู่นานไปก็ไม่ได้ เพราะว่ามันเครียด และชีวิตครอบครัวก็ลำบาก

ถาม เรื่องเหล่านี้ทำให้เขามีปัญหาส่วนตัวหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ก็มีปัญหาครอบครัวบ้าง ปัญหาสุขภาพ พยาบาลนี่เจ็บป่วยเยอะนะ ขณะนี้ ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กำลังทำวิจัยอยู่ เป็นการติดตามชีวิตพยาบาลทั้งเรื่องการใช้ชีวิต และการเจ็บป่วย ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต นี่เพิ่งทำมาได้แค่ 3 ปี ทั้งหมด 20 ปี เราจะติดตามไปเรื่อยๆ จะได้รู้ว่าพยาบาลมีวิถีชีวิตอย่างไร

ถาม ที่ว่าพยาบาลเจ็บป่วยเยอะ ส่วนใหญ่ป่วยเป็นอะไร

ดร.วิจิตร :  ก็ไม่แน่ใจว่าที่รู้ว่าเจ็บป่วยเยอะ เพราะว่าเขาเช็คได้บ่อย หรือเป็นจริง เพราะว่าเช็คมาอาจจะเจอ เช่นที่เจอบ่อยคือ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ก็เจอบ่อย มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก อะไรพวกนี้

ถาม เพราะพักผ่อนน้อยหรือเปล่า

ดร.วิจิตร : ความเครียดมากกว่า คาดว่านะ อาจจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่คิดว่าร่วมกัน ทีนี้เรากำลังศึกษาว่าพยาบาลของเรากับประชากรปกติทั่วไปในอายุเท่ากัน มันจะเหมือนกันหรือไม่เหมือน ซึ่งตอนนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติให้เรามาแล้ว เพื่อดูว่าอัตราการตายเป็นอย่างไร ซึ่งจะชัดกว่าว่าสาเหตุมาจากอะไร

ถาม ที่มีข่าวว่าพยาบาลไทยฝีมือดีจนเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ จนเกิดปัญหาสมองไหลจริงหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ก็จริงนะ คือพยาบาลไทยต่างชาติจะชอบ เพราะว่าเป็นคนมีฝีมือ เป็นคนมีน้ำใจ ดูแลดี ตอนนี้ไปปีหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งเราจะหาสถิติยากมาก แต่เราดูจากที่เขามาขอให้แปลเอกสารวุฒิการศึกษา ใบอนุญาต และหนังสือรับรอง เราก็ชำเลืองไว้แล้วว่า ต้องไปต่างประเทศแน่นอน

ถาม ตอนนี้ขอไปแล้วเท่าไหร่

ดร.วิจิตร :  ปีหนึ่งก็ประมาณ 700-800 คน

ถาม ถือว่าเยอะหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ถือว่าเยอะ ที่ผ่านมา 4-5 ปี ที่เป็นนายกฯ ก็สังเกตและนับไว้ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าไปจริงเท่าไหร่ เพราะเดี๋ยวนี้ต่างประเทศก็รับยากขึ้น เพราะมีการสอบอะไรด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้พยาบาลของเราทั่วประเทศมีประมาณ 1.6 แสนคน แต่ว่าทำงานจริงๆ ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 30,000 กว่าคน เกษียณไปแล้วบ้าง ไปทำงานอย่างอื่นบ้างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพยาบาล

ถาม สภาการพยาบาลห้ามไม่ให้ไปได้หรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ห้ามไม่ได้เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เราก็ไม่ไปสนับสนุน

ถาม แล้วมีพยาบาลจากประเทสอื่นอยากเข้ามาทำงานในประเทศเราหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  ก็มีเขียนมาถาม เราก็มีข้อมูลให้ อย่างแรกเลยก็คือต้องมาสอบใบอนุญาต ต้องเข้าเมืองโดยถูกต้อง ต้องจบจากสถาบันที่รัฐบาลรับรอง ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศของตัวเอง จึงจะมายื่นได้จึงจะให้สอบ

ถาม มีประเทศอะไรบ้าง

ดร.วิจิตร :  มีกระจาย อังกฤษก็มี เยอรมัน ฟิลิปปินส์

ถาม ทำไมบ้านเราน่าสนใจยังไง เขาจึงอยากมาทำงาน

ดร.วิจิตร :  จำนวนน้อยนะ แต่ฟิลิปปินส์บ้านเมืองเขาเกิดภัยพิบัติบ่อย เขาก็เลยอยากมาอยู่บ้านเรา ซึ่งเขาไม่ได้มาเฉพาะประเทศไทยหรอก แต่ที่อยากมาเพราะอยู่ใกล้ และสะดวกสบาย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มี เพราะมาไม่ได้ เพราะสถานะทางการศึกษาไม่เท่ากัน มีอยู่ช่วงหนึ่งเรายังต้องไปแนะนำเขาเลย ซึ่งตอนนี้ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา พยายามปรับหลักสูตรให้เป็น 4 ปี เป็นพยาบาลวิชาชีพ ไม่ใช่พยาบาลเทคนิค

ถาม มันต่างกันยังไงพยาบาลวิชาชีพกับพยาบาลเทคนิค

ดร.วิจิตร :  พยาบาลวิชาชีพเขาจะเรียนนานกว่าแล้วจะมีความรู้พื้นฐานที่แน่นกว่า มีประสบการณ์ที่ดีกว่า ทำได้มากกว่า พยาบาลเทคนิคต้องทำอยู่ภายใต้คำสั่งของพยาบาลวิชาชีพ

ถาม เรียนจากที่เดียวกันหรือเปล่า

ดร.วิจิตร :  จากที่เดียวกัน แต่ 2 ปี กับ 4 ปี

ถาม ตอนนี้พยาบาลเทคนิคยังมีปัญหาหรือเปล่าเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน

ดร.วิจิตร : ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เพราะเราจัดโปรแกรมให้เขาเรียนต่อ พอเรียนจบ 2 ปีกว่าแล้วก็สอบใบอนุญาต ซึ่งก่อนหน้านั้นเวลาประมาณ 10 ปี เราผลิตพยาบาลเทคนิคเพื่อโรงพยาบาลชุมชนไปกว่า 50,000 คน ตอนนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นพยาบาลวิชาชีพหมดแล้ว เพราะว่าเขามาเรียนต่อ และได้ใบประกอบวิชาชีพ เหลืออีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้เรียนหรือว่าเรียนยังไม่ผ่าน

ถาม ถ้าจะมีเมดิคอลฮับจะส่งผลกระทบต่อพยาบาลอย่างไรบ้าง

ดร.วิจิตร :  เรามองสองด้านคือว่า เมดิคอลฮับถ้ามันไม่ดีจะไม่มีคนมา เขาก็ต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเทรนไม่ใช่จบมาเฉยๆ ต้องไปเทรนนิ่งเฉพาะทาง สมมุติเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู ต้องไปเทรนใหม่หมด เพราะว่าถ้าพยาบาลไม่ดีต่อให้หมอดีแค่ไหนคนไข้ก็แย่ เพราะว่าพยาบาลต้องอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา ฉะนั้นเขาจะต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น ภาษาต้องดีขึ้น ถ้าเรามองในทางที่ดีก็น่าจะดีขึ้นเพราะว่าคนของเราจะเก่งขึ้น ความสามารถมากขึ้น วิชาชีพก็จะดีขึ้น แต่ถ้ามามองอีกทาง แล้วคนที่เหลือละใครดู เราก็ต้องผลิตให้พอ ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขสั่งผลิตเพิ่มอีก 2,000 คน ติดต่อมาที่สภาการพยาบาล ขอให้ผลิตเพิ่มอีก 2,000 คน ในวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงทั้ง 29 แห่ง

โดย เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ
วันที่เขียนบทความ 02/04/2555