ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: คดีปกครอง: ใบอนุญาตถูกพักใช้...เพราะโอ้อวดสรรพคุณ (ยา) เกินจริง!  (อ่าน 923 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 16 มีนาคม 2556 00:00:13 น.
นายปกครอง
การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้รักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย รวมทั้งช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงนั้นมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่การโฆษณาที่เกินความจริง ไม่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ผู้โฆษณาอาจมีความผิดตามกฎหมาย และหากผู้ที่โฆษณาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์หรือการสาธารณสุขด้วยแล้ว อาจส่งผลให้ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอีกด้วย


 
คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะและเป็นเภสัชกรประจำร้านขายยา (ผู้ฟ้องคดี) ได้โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ยาน้ำสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในการบรรยายให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาของบริษัทขายตรงว่า ชื่อของยาน้ำ หมายความว่า ยืนยาวเป็นนิรันดร กินแล้วอายุยืนยาว ชะลอความแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ กินแล้วปรับสมดุลของห้าธาตุ มีพลังชีวิต โรคทุกโรคหายหมด กินดีทุกโรค และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีสรรพคุณกินเข้าไปได้ครบทุกอย่าง เป็นยาอายุวัฒนะ

ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สภาเภสัชกรรม) มีคำสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรของผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการโฆษณามีลักษณะโอ้อวดทำให้ผู้ฟังหลงเชื่อ และไม่มีข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฟังความข้างเดียว เป็นการตัดต่อเทปการบรรยายใส่ร้ายผู้ฟ้องคดี และเป็นการบรรยายในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตดังกล่าว

การที่ผู้ฟ้องคดีได้บรรยายสรรพคุณยาดังกล่าว ถือเป็นการโอ้อวดสรรพคุณยาอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หรือไม่? ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ ห้ามมิให้โฆษณาขายยาในลักษณะเป็นการโอ้อวดสรรพคุณยา หรือวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด หรือใช้ถ้อยคำอื่นที่มีความหมายเดียวกัน หรือแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงหรือแสดงสรรพคุณว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคหรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศได้ (มาตรา 88 (1) (2) (8)) และการโฆษณาขายยาทางเครื่องขยายเสียง ทางฉายภาพหรือทางสิ่งพิมพ์นั้น จะต้องได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพที่ใช้ในการโฆษณาจากผู้อนุญาตเสียก่อน (มาตรา 88 ทวิ (1) (2)) นอกจากนั้น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522  ยังห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และการโฆษณาจะต้องได้รับการตรวจพิจารณาจากผู้อนุญาต (มาตรา 40 และมาตรา 41)

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การบรรยายโฆษณายาน้ำสมุนไพร โดยมิได้ให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงทางวิชาการเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพตามแนวทางแพทย์ทางเลือกด้วยสมุนไพร แต่เป็นการโอ้อวดสรรพคุณยาหรือวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด และมีลักษณะเป็นเท็จหรือเกินความจริง และเป็นโรคหรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามโฆษณา เป็นการบรรยายโดยใช้เครื่องขยายเสียงและฉายแผ่นใสโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 88 (1) (2) และ (8) ประกอบมาตรา 88 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

ส่วนการบรรยายเกี่ยวกับอาหารเสริมที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณ โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับและมีการเผยแพร่ อันเป็นการหลอกลวงและจูงใจให้ผู้ฟังหลงเชื่อและตัดสินใจซื้อไปรับประทาน ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงพาณิชย์ มิใช่เป็นการให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงทางวิชาการ ทั้งยังเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้าทางเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

เมื่อผู้ฟ้องคดีบรรยายว่าตนเป็นเภสัชกร เป็นนักวิชาการที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และแนะนำสรรพคุณยาน้ำสมุนไพรในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณในลักษณะดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการใช้วิชาชีพเภสัชกรเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและชักจูงผู้ฟังให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาแผนปัจจุบันและหันมาใช้ยาหรืออาหารเสริมที่ผู้ฟ้องคดีแนะนำ อันเป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งเภสัชกรรม พ.ศ.2538 จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่รักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ตามที่ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดไว้เมื่อผู้ฟ้องคดีกระทำผิดจริง และมีลักษณะซ้ำซากหลายครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลจำนวนมากการพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 689/2555)คดีนี้นอกจากจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกร ว่า จะต้องรักษาจรรยาบรรณ โดยการรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพในระดับที่ดีที่สุด และจะต้องไม่ใช้วิชาชีพของตนเพื่อจูงใจ ชักชวน หรือให้คำรับรองที่เป็นเท็จหรือเกินจริง อันจะส่งผลให้บุคคลอื่นเสียหายแล้ว ยังเป็นข้อเตือนใจแก่ประชาชนทั่วไปว่า ในการเลือกซื้อเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ นั้น ควรที่จะระมัดระวังในการรับข้อมูลจากสื่อต่างๆ โดยต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วย เช่น การสอบถามจากแพทย์โดยตรง หรือการอ่านเอกสารที่เชื่อถือได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อจะได้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตครับ!