ผู้เขียน หัวข้อ: ผู้ร้ายในโรงหมอ?  (อ่าน 1969 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
ผู้ร้ายในโรงหมอ?
« เมื่อ: 22 พฤศจิกายน 2010, 21:57:50 »
ตามดูนาฬิกาชีวิต ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง 1ในสาขาที่เสี่ยงถูกฟ้องมากที่สุดของวงการเสื้อกาวน์ ฟังข้อมูลอีกด้านที่ไม่มีอยู่ในรายงานการรักษา

ภาระรับผิดชอบในฐานะ "ผู้รักษาชีวิต" ของคนเป็นหมอไม่สามารถถอดออกไปได้นับตั้งแต่ถูกพิมพ์ชื่อบน "ใบประกอบโรคศิลป์"

 ...ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นจากตรงนั้น

 แม้วันนี้ แนวโน้มการฟ้องร้อง "ค่าชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ "แพทย์" หลายคนออกอาการ "ฝ่อ" กับ "ผู้ป่วย" ก็ตาม

 ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสูญเสีย และการต่อสู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริการด้านสาธารณสุข ปรากฏในความรับรู้ของผู้คนมาโดยตลอด ขณะที่ เสียงจากฝ่ายจำเลยในข้อหา "รักษาแล้วไม่หาย(กลับร้ายกว่าเดิม)" มักถูกมองเป็น "ข้อแก้ตัว" สำหรับบางคน

 ไม่ว่าเรื่องนี้จะมองจากมุมไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนทำให้ "ช่องว่าง" ระหว่าง "หมอ" กับ "คนไข้" ถ่างกว้างขึ้นไปอีก

 ถึงจะมีการตั้ง "กองทุนคุ้มครอง ผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" หรือ "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" รวมไปถึงมาตรการ "สมานแผล" ความสัมพันธ์ แต่เสียงที่แตกกันอยู่ทั้ง เครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาชน นักวิชาการ นักกฎหมาย แพทย์ผู้ทำการรักษา กระทั่งคลิปฉาวตามกระแส ทำให้ปัญหาดังกล่าวดูจะเป็น "หนังม้วนยาว" ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ

 ถึงอย่างนั้น  ชีวิตในโรงพยาบาลรัฐของคุณหมอคนหนึ่ง น่าจะเป็นอีกภาพสะท้อนในการหา "ทางออกร่วมกัน" ด้วยความเข้าใจว่า "ความบกพร่อง" ที่แท้จริงนั้น อยู่ตรงไหนกันแน่

หมอ 24 ชม.

 อาการที่ปรากฏในฟิล์มเอ็กซเรย์ถูกบอกเล่าอย่างละเอียด หลังไฟนีออนสะท้อนแสงสีขาวนวลออกมา นพ.พีรพล ชัชวาลย์ และเพื่อนหมอร่วมรุ่นอีก 2 คน กำลังฟังอย่างตั้งใจ ถึงจะมีบางคนเพิ่ง "ออกเวร" มาหมาดๆ เมื่อสักครู่ก็ตาม แต่การ "ลงหวอด" ดูอาการผู้ป่วยกับ "อาจารย์หมอ" ก็เป็นสิ่งที่ทำกันเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว

 ทั้งหมออาชีพที่ถูกส่งมาอบรมเพิ่มเติม และนักศึกษาแพทย์ ในช่วงเช้าตั้งแต่ 7.00 - 9.00 น.โดยประมาณ แผนกศัลยกรรมประสาทและกระดูก โรงพยาบาลราชวิถี จะแปรสภาพเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เหมือนโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ สำหรับถ่ายทอดความรู้จากบรรดาแพทย์รุ่นพี่ หรือแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

 "แล้วแต่ใครว่างช่วงไหนก็จะผลัดกันมาเรียนครับ" เขาบอก

 คนไข้สาวจากเมืองกาญจน์เล่าอาการที่ขาของเธอไม่สามารถใช้งานได้มา ตั้งแต่ 3 เดือนก่อน พบว่า เป็น "เนื้องอกในไขกระดูกสันหลัง" เกินกำลังโรงพยาบาลต่างจังหวัดจะรับไหว ที่นี่จึงกลายเป็นจุด "ส่งต่อผู้ป่วย"

 "ถ้าไม่ผ่าก็เดินไม่ได้ ถ้าผ่าก็มีโอกาสเดินไม่ได้สูง" เป็นคำวิเคราะห์การรักษาจากอาจารย์หมอของพวกเขา

 เข็มนาฬิกายังไม่ทันชี้เลข 9 ดี บริเวณด้านล่างของแผนกคัดกรองคนไข้ของตึกผู้ป่วยนอก ก็แออัดไปด้วยผู้คนที่มาเข้าคิวรอรับการรักษาชนิดต้องยืนต่อแถวรอกัน

 แน่นอน คนที่จัดการแยกคนไข้ให้เป็นระบบเพื่อความรวดเร็ว และรักษาได้ตรงโรค ก็ต้องเป็นพยาบาลวิชาชีพอย่าง ศรีเพ็ญ ศรีลำภา อยู่แล้ว

 "วันนี้ยังน้อยนะ ลองมาเห็นวันอังคารกับพฤหัสสิ นั่นน่ะเยอะของจริง" เธอยืนยัน

 เธออธิบายถึงวิธีรับมือกับคลื่นมหาชนจะแบ่งเป็น 4 จุดใหญ่ๆ เริ่มจากคัดกรองประวัติผู้ป่วยใหม่ แยกประเภทอาการส่งไปตามห้องตรวจโรคเพื่อพบแพทย์ ส่วนคนไข้เก่าจะมีบัตรนัดก็จะง่ายต่อการจัดคิวขึ้นเล็กน้อย ก่อนที่จุดห้องตรวจจะเป็นฝ่ายประสานงานระหว่างคนไข้กับหมอ และแผนกผู้ป่วยใน

 จบจากสอนนักศึกษาแพทย์ ตรวจคนไข้ตึกผู้ป่วยใน ยกที่ 3 ของ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ประสาท โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็คือประจำที่ห้องตรวจโรคของแผนกศัลยกรรมสมอง

นอกจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ทำให้เขาต้องรับมือกับคนไข้เฉลี่ยวันละ 20 รายเป็นอย่างน้อย ยังจะต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องมือเทคนิคการแพทย์นานับชนิด เพื่อวินิจฉัยอาการ วางแผนทำการรักษา จึงต้องค่อนข้างแม่นยำ และทำเวลากับความซับซ้อนของคนไข้พอสมควร ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าภารกิจของเขาจะหมดแค่นี้

 เพราะถ้าไม่ได้เข้าเวร คิวผ่าตัดที่ผูกติดไว้กับระบบประสาท และสมอง ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่เพียง 300 คน ทำให้แต่ละวันของคุณหมอเมธี มือก็ยังเป็นระวิงอยู่ดี

"ความเสี่ยง" บนเตียงผ่าตัด   

 อาการปวดหัวอย่างรุนแรงโดยไม่รู้สาเหตุของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ถูกส่งต่อ มาจากโรงพยาบาลอีกแห่ง ตรวจพบว่ามี "ก้อนเนื้อ" ขนาด 10 เซ็นติเมตรอยู่บริเวณช่วงท้ายทอย ทำให้คิวการผ่าตัดคนไข้อีกรายจากชัยนาทที่มีอาการเนื้องอกบริเวณตาขวาต้อง เลื่อนออกไปก่อน

 "เราต้องดูระดับความซีเรียสของเคสเป็นหลักก่อน" นพ.เมธีให้เหตุผลในการเลือก "ผ่า" อาการเนื้องอกที่สมองด้านท้ายทอยก่อน

 ในห้องผ่าตัด พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลกำลังง่วนอยู่กับการจัดเครื่องไม้เครื่องมืออย่าง เตียงผ่าตัด เครื่องวัดความดัน กล้องผ่าตัด รวมทั้งเครื่องมือปลีกย่อยที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดผ่านการ นึ่งฆ่าเชื้อ และถูกวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ

 "ทั้งหมดที่เราทำก็เพื่อความปลอดภัย และป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วยเอง" เขาบอกขณะกำลังทดสอบเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 ไม่นานนัก หลังจากวิสัญญีแพทย์วางยาสลบ และตรวจเช็คสภาพความพร้อมของร่างกายคนไข้เรียบร้อย เครื่องมือต่างๆ ก็ถูกจัดวางประจำที่ โดยมีพยาบาลผู้ช่วยคอยทำหน้าที่ส่งเครื่องมือ พยาบาล 2 คน ด้านนอกพื้นที่ปลอดเชื้อคอยหยิบจับอุปกรณ์เสริม ขณะที่พยาบาลอีก 2 คนตรวจดูความเรียบร้อยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 "ทุกกระบวนการเกิดความผิดพลาดได้หมดครับ" หมอเมธียืน ยัน ทุกขั้นตอน ตั้งแต่วางยาสลบ เตรียมเส้นเลือดใหญ่ ผ่าคนไข้ ไปจนกระทั่งเย็บแผล ทุกอย่างต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

 หลังจากวางยาเรียบร้อย คนไข้ถูกจับนั่งขึ้น เพราะจุดปัญหาอยู่บริเวณท้ายทอย ผิวหนัง ไขมัน กล้ามเนื้อ ค่อยๆ ถูกผ่าออกทีละชั้น ก่อนจะถึงกระโหลกที่ต้องใช้มีดอีกชนิดค่อยๆ แกะเอาชิ้นเนื้อ และกระดูกออกมา

 โพรงขนาดลูกมะนาว เผยให้เห็นเยื่อหุ้มสมอง ก่อนกล้องผ่าตัดจะส่องเพื่อขยายภาพ และทำการเปิด "ถุงน้ำ" ที่โตขึ้นมา ไม่ให้เกิดอาการแบบนี้อีก

 "เส้นเลือดเส้นเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ สมองแถวนี้มีความสำคัญหมด หากพลาดไป คนไข้อาจไม่ฟื้นเลยก็ได้ อาการติดเชื้อทุกอย่างเป็นไปได้หมด ทุกเคสจึงยากไม่ต่างกัน" สีหน้าผ่อนคลายนั้นตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง

 ตลอด 3 ชั่วโมงของการผ่าตัด นพ.เมธี ถือว่าใช้เวลาค่อนข้างน้อย เพราะบางราย คนเป็นหมอต้องอยู่ในห้องผ่าตัดนานถึง 14 ชั่วโมงก็มี

 "วันก่อนมีคุณหมอคนหนึ่งจะเกษียณแล้ว แต่เข้าผ่าตั้งแต่ 9 โมงเช้ายันเที่ยงคืน ไม่ได้ออกไปไหนเลย คุณคิดดูแล้วกัน ปวดหนักปวดเบาจะทำยังไง" เขาเย้าด้วยเสียงหัวเราะ

ชีวิตจริงใช้อุดมคติ "ไม่ได้"

 ด้วยความที่ ศัลยแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาที่มีคดีฟ้องร้องเป็นอันดับต้นๆ พอๆ กับอายุรแพทย์ และสูตินารีแพทย์ ทำให้นอกจากจะต้องรับมือกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และถึงแก่ชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในการผ่าตัดแล้ว เขายังต้องแบกรับความเสี่ยงจากการ "ถูกฟ้อง" โดยผู้เสียหาย หรือญาติอีกด้วย

 "ที่ไหนก็ไม่มีมาตรฐานในการรักษาหรอกครับ" นพ.เมธียอมรับถึง ความต่ำกว่ามาตรฐานที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้คนที่มารับการรักษา ทำให้การทำงานในโรงพยาบาลรัฐต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพ เท่าที่เครื่องมือจะอำนวย

 "เครื่องมือในห้องผ่าตัดของผมแต่ละเครื่องรวมกันก็ 60 ล้านเข้าไปแล้ว รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อล่ะ ห้องไอซียูที่มีศักยภาพพร้อมเราก็มีแค่ 8 เตียง ขณะที่มีคนป่วยรอเข้าคิวยาวเหยียด เราก็ต้องปรับเปลี่ยนห้องฉุกเฉินต่างๆ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้" นพ.เมธีบอก

 ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้อยู่บางชิ้นจึงต้องใช้เทคนิคในการ "ดีล" กับบริษัทผู้ขาย เพื่อให้มีมารักษาผู้ป่วย หรือแม้แต่ระบบการจัดการขั้นพื้นฐาน "อย่างบุคลากรพูดกันตามตรงปริมาณก็ไม่ เพียงพอกับความต้องการ เฉพาะแผนกนี้มี 8 ห้องตรวจ พยาบาล 4 คน ผู้ช่วยพยาบาล 6 คน ขณะที่คนไข้วันละเป็นร้อย บางคนทำเกินหน้าที่ด้วยซ้ำ" ศรีเพ็ญให้รายละเอียดเพิ่ม

 ยังไม่นับ ความพยายามซื้อตัวบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน หรือจากสถานพยาบาลในต่างประเทศ ที่ทำให้บุคลากรทางภาครัฐเริ่มร่อยหรอลงไปทุกวัน คดีฟ้องร้องก็เป็นอีกปัญหาทำให้แพทย์วางตัวลำบาก เพราะบางครั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตัวคนรักษาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ

 "เราระวังอย่างเต็มที่แล้ว บางครั้งเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่ามันเกิดจากอะไร เราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่บางทีญาติเขาไม่เข้าใจ เพราะตอนเข้ามาเขาเดินมา แต่ทำไมออกไปตายล่ะ"

 สิ่งที่หมอเมธีหมายถึง ก็คือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับทางแพทย์เฉพาะทาง อาทิ โรคแทรกซ้อนทางอายุรกรรมต่างๆ รวมทั้งอาการ "โหลด" งานของแพทย์เอง

 "อย่างผมมีคนไข้ที่ต้องดูแล 10 คน ถามว่าเมื่อคืนผมผ่าตัดถึงตีหนึ่ง วันนี้ผ่าต่อ 8 โมงเช้า หรือเข้าเวรแล้วมีเคสฉุกเฉิน ร่างกายหมอไม่พร้อมคนไข้มีความเสี่ยงไหม ก็เสี่ยงกันหมด"

 ผลกระทบที่ตามมา ในมุมมองของผู้รักษาอย่างเขาคิดว่า นอกจากจะทำให้แพทย์ทำงานได้ลำบากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดอีกด้วย

 "หมอรุ่นใหม่ๆ ก็จะไม่กล้าผ่า ในที่สุดเราก็จะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรงพยาบาลกลัวถูกฟ้องก็ส่งต่อ แล้วคนไข้จะเป็นยังไงล่ะ ถ้าส่งต่อกันอย่างเดียว จริงๆ ความผิดพลาดไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก เราทำกันเต็มที่อยู่แล้ว เพราะชีวิตคนๆ หนึ่งมันคือร้อยเปอร์เซ็นต์ของครอบครัวเขาน่ะ หรือเราผ่าเคสใหม่อยู่ แล้วญาติเคสเก่าเขาจะเข้าใจไหมว่า สายป่านนี้แล้วหมอทำไมยังไม่มา"

 การมองต่างมุมในความรู้สึกของเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจะทำให้คนไข้ กับหมอเข้าใจกันมากขึ้น เพราะเมื่อคนเป็นหมอรับผู้ป่วยเข้ามาดูแลแล้ว ก็ต้องทำการรักษาให้จนถึงที่สุด

 "คนเป็นหมอเราเกี่ยวพันกับคนไข้ตั้งแต่เข้ามาจนกว่าจะหายกลับออกไปนั่นแหละครับ" น้ำเสียงนั้นแสดงเจตจำนงชัดเจน

กรุงเทพธุรกิจ
22 พฤศจิกายน 2553
โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี