ผู้เขียน หัวข้อ: เดินหน้าขจัดปัญหาวิชาชีพพยาบาลเร่งดัน9มาตรการ  (อ่าน 2021 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ปรากฏการณ์ก้นหอยเกิดขึ้นในวิชาชีพพยาบาลมาพักหนึ่งแล้ว และยังคงมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องหากยังไม่มีการแก้ปัญหา

วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาลอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้คือปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทำให้พยาบาลต้องรับภาระหนัก เหน็ดเหนื่อยเกินกว่าที่ควรและเมื่อเหนื่อยมากสุดท้ายก็ลาออก ทำให้ยิ่งขาดแคลนพยาบาลมากขึ้น มองดูเหตุการณ์รวมๆ แล้ววาดภาพได้เป็นรูปก้นหอยพอดี

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องบรรยากาศ ค่าตอบแทน สวัสดิการ และความมั่นคงของอาชีพ แม้สภาการพยาบาลทำโครงการพยาบาลคืนถิ่น เพื่อกระจายพยาบาลให้เพียงพอทุกพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2544 ไม่สำเร็จเท่าที่ควร

"เราดึงเด็กเรียนดีจากชนบทมาเรียนพยาบาล แล้วให้กลับไปทำงานในต่างจังหวัด แม้ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 150-200 คนต่อปี แต่เมื่อทำงานสักพักหนึ่งไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ไม่มีสวัสดิการ ต้องทำงานหนัก ทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นในที่สุด"

ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายวิชาชีพพยาบาลอย่างเสรี ก็ไม่น่าจะช่วยให้ไทยมีพยาบาลนำเข้าเพิ่มขึ้นมาเติมเต็มส่วนที่ขาดได้ เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่เช่น กัมพูชา ลาวพม่า เวียดนาม ยังขาดแคลนพยาบาลมากกว่าไทย และไม่สามารถผลิตเพิ่มได้อย่างเต็มที่ไทยจึงไม่สามารถนำเข้าพยาบาลจากประเทศกลุ่มดังกล่าวได้

ส่วนประเทศอื่นๆเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไนพยาบาลก็มีรายได้มากกว่าไทย จึงไม่น่าจะสนใจย้ายมามากนัก ด้านฟิลิปปินส์ที่ส่งออกพยาบาลจำนวนมาก ก็กลายเป็นประเทศที่จำนวนพยาบาลในประเทศไม่เพียงพอเสียเอง

นอกจากเรื่องจำนวนบุคลากรวิชาชีพแล้ววิจิตรกล่าวว่า เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพยาบาลไทยต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของคนไข้แต่ละชาติด้วย เพราะพยาบาลต้องทำงานใกล้ชิดกับคนไข้มาก จึงต้องเอาใจใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไม่ทำสิ่งที่คนไข้ไม่ชอบ นอกจากนี้ทักษะเฉพาะทางก็จะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพยาบาลในอนาคต

สภาการพยาบาลจึงทยอยดำเนินการสร้างความพร้อมของวิชาชีพมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนทั้งขอความสนับสนุนจากภาครัฐและดำเนินการเองรวม 9 เรื่องได้แก่

1.เร่งผลิตบุคลากร โดยให้สถาบันการศึกษาพยาบาลของรัฐ 53 แห่ง ผลิตพยาบาลเพิ่มอีก2,500 คนต่อปี แต่ละปีจึงผลิตได้ 1.05 หมื่นคน รวมระยะเวลา 4-5 ปี โดยรองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ 5,000 ล้านบาทปัจจุบันมีผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั้งสิ้น1.67 แสนคน มีผู้ยังคงทำงานในวิชาชีพราว1.3 แสนคน ส่งผลให้สัดส่วนพยาบาลต่อคนไข้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ15 : 10,000 แต่ในอนาคตต้องการให้สัดส่วนอยู่ที่ 1 : 400

2.เรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนของพยาบาลให้เหมาะสมกับภาระงาน เพื่อดึงดูดให้พยาบาลอยู่ในประเทศและไม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น

3.ดึงดูดพยาบาลที่สำเร็จปริญญาโทเข้ามาเป็นอาจารย์ โดยกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม และจัดสรรทุนพัฒนาอาจารย์ใหม่ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกระดับละ 250 ทุนต่อปี เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องเพื่อทดแทนอาจารย์ที่กำลังจะเกษียณในช่วง10 ปีนี้จำนวน 30% โดยจะของบสนับสนุน 4,186 ล้านบาท

4.ให้ความรู้และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับคนต่างชนชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยอนาคตอาจบรรจุความรู้เหล่านี้ในการสอบวิชาชีพพยาบาลด้วย

5.จัดฝึกอบรมเฉพาะทางให้แก่พยาบาลไทยและพยาบาลต่างชาติ

6.เสริมสร้างจิตใจรักบริการให้แก่บุคลากรทุกระดับ

7.ปรับปรุงโครงสร้างโรงพยาบาลให้น่าอยู่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากร

8.ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักศึกษาและอาจารย์พร้อมพัฒนาหลักสูตรพยาบาลเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน และเพิ่มทักษะภาษาให้แก่พยาบาลด้วย

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556