ผู้เขียน หัวข้อ: 64-Slice CT Scan; Pay First, Benefits Last!(ฐานเศรษฐกิจ)  (อ่าน 1390 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
64-Slice CT Scan; Pay First, Benefits Last!(ฐานเศรษฐกิจ)
« เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2010, 23:18:27 »
ก่อนที่จะลงลึกเกี่ยวกับการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ ซึ่งสามารถจำลองภาพสามมิติของหัวใจจากการประมวลผลอันสลับซับซ้อนนั้น ต้องขอบอกกล่าวเหตุผลเบื้องหลังก่อนว่า ทำไมเทคโนโลยีการตรวจนี้จึง “โดนใจ” คนทั่วไปได้อย่างมาก

โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือเมืองต้นกำเนิดเทคโนโลยีที่ว่านี้ อย่างในสหรัฐอเมริกา ต่างก็ซื้อเจ้าเครื่อง 64-slice CT scan แล้วก็มาโหมโฆษณากันครึกโครมว่า ต่อไปนี้ถ้าคุณสงสัยว่าตัวคุณจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเปล่าแล้วไซร้ คุณก็ไม่ต้องอะไรมาก แค่มานอนตรวจบนเตียงของสุดยอดเครื่อง 64-slice CT scan ที่ว่านี้ ก็สามารถจะมองเห็นกันจะจะได้ว่าคุณเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องไปสวนหัวใจหรือฉีดสีให้เจ็บตัวกันอีกต่อไป

.เออ..ตอนแรกที่ผมเห็นโฆษณานี้ในหลายๆโรงพยาบาล ผมก็พลอยเคลิ้มไปด้วยเหมือนกัน ก็แหม..มันเห็นหลอดเลือดหัวใจกันจะจะเลยนี่นา เรียกว่าหากคุณอยากจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม ก็ต้องทำ 64-slice CT scan หัวใจคุณจึงจะไม่ต้องเกิดภาวะฉุกเฉินในอนาคต

เหตุผลที่เราดูเหมือนจะหลงใหลไปกับการตรวจพิเศษชนิดนี้ ก็เพราะว่าภาพสามมิติที่ได้จากการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงนี้ มันช่างน่าประทับใจเสียเหลือเกิน มันราวกับว่าเทคโนโลยีล้ำยุคที่เราเห็นอยู่นี้ มันคือคำตอบครอบจักรวาลสำหรับคนที่กลัวจะเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ อย่างดียิ่ง ...ต่อไปนี้ไม่ต้องกลัวเจ็บตัวเพราะการมาฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบอีก ต่อไป
 
เมื่อ “ผลการตรวจ” มันได้อะไรที่ดูเผินๆแล้วน่าดึงดูดไม่น้อยเช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่หลายๆโรงพยาบาลจะต้องพยายามหามาให้ได้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์แล้ว ยังไงก็ต้องมี ซึ่งข้อบ่งชี้ในการตรวจนั้นค่อนข้างจะมีหลักเกณฑ์ที่ดีพอควร แต่อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลอีกหลายแห่งก็ต้องมี เพื่อจะไว้เป็นจุดขาย เพื่อเอาไว้ไม่ให้ตามหลังโรงพยาบาลแห่งอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่เกิดในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในหลายๆประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ว่านี้
 

และด้วยเหตุว่าเครื่องมือราคาร่วมหลายสิบล้านนี้ (หลักล้านเหรียญสหรัฐขึ้น) เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องทำให้มันคุ้มค่าต่อการลงทุน ไปๆมาๆก็เลยมีการสั่งการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วย 64-slice CT กันอย่างขนานใหญ่ ซึ่งสำหรับเมืองไทยเรานั้นมีการโหมโฆษณามากในโรงพยาบาลที่ต้องหาผลกำไรจาก การดำเนินงาน ซึ่งผมจะไม่ขอไปกล่าวถึงมากนัก แต่จะขอยกกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้

ในสหรัฐอเมริกาจะมีระบบประกันการรักษาพยาบาลซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆกับระบบ ประกันสุขภาพในบ้านเรา ซึ่งจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ส่วนหนึ่งสำหรับประชาชนที่อายุเกิน 65 ปีหรือถ้าอายุไม่ถึงก็ต้องมีโรคาพยาธิบางอย่างที่เข้าได้กับเงื่อนไขของเขา ระบบของหน่วยงานนี้มีลักษณะคล้ายกับบริษัทประกันกลายๆ ...ใช่แล้วครับ มันก็คือบริษัทประกันนั่นแหละ เพียงแต่เป็นของรัฐบาลกลาง ซึ่งหลายคนคงอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง ...เขาเรียกว่า Medicare นั่นไงครับ ซึ่งเป็นระบบสุขภาพที่ขึ้นตรงกับ Center for Medicare and Medicaid Services

แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับเจ้า 64-Slice CT Scan นี้ด้วยล่ะครับ หมอสัญญา! ...อ้อ ใจเย็นๆครับ คือเรื่องมีอยู่ว่า ในอเมริกานั้นมีการสั่งตรวจดูหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีนี้อย่างมโหฬาร ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจนั้น คนป่วยไม่ต้องออกเอง ...แล้วถามว่าใครออกให้ ...ก็ Medicare ไงล่ะครับ ซึ่งไปๆมาๆค่าใช้จ่ายมันก็เริ่มบานปลายมากขึ้น ถึงขั้นที่ว่าระบบประกันสุขภาพในคนสูงอายุนี้ จะเจ๊งเอาได้ง่ายๆในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยที่ทางหน่วยงานระบบสุขภาพนี้ไม่เห็นว่า การตรวจหลอดเลือดหัวใจโดย 64-slice CT scan นี้ จะมีประโยชน์ที่จับต้องได้จริงในแง่ของผลลัพธ์อันมีผลต่อสุขภาพของคนป่วยที่ เป็นรูปธรรม อย่างเช่นว่า อัตราตายลดลง เพราะว่าตรวจพบโรคได้เร็วขึ้น เป็นต้น

พูดง่ายๆก็คือ มันเป็นการตรวจที่เห็นหลอดเลือดหัวใจกันจะจะก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์ในแง่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา ไม่ได้มีข้อแตกต่างในการชี้นำการรักษาว่าควรทำไง (ทำ กับไม่ทำ 64-slice CT แนวทางการรักษาก็เหมือนกันอยู่ดี) ที่สำคัญที่มีการโฆษณากันก็คือ การทำการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดย 64-slice CT scan ทำให้คนป่วยไม่จำเป็นจะต้องไปเจ็บตัวจากการแทงเข็มเข้าหลอดเลือดแดงบริเวณขา หนีบ (หรือข้อมือ) ซึ่งกรณีนี้เป็นอย่างที่โฆษณาป่าวร้องจริงก็เฉพาะในคนป่วยบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าใครก็ได้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเปล่า จะเดินดุ่ยๆเข้ามาหาหมอ แล้วขอ “check up” เพื่อดูว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเปล่า
นอกจากทาง Center for Medicare and Medicaid Services เขาจะเห็นว่า ประโยชน์ที่เห็นหน้าเห็นหลังจากการใช้เทคโนโลยีนี้ จะยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน ทางคณะกรรมการของหน่วยงานนี้ก็ยังรู้สึกว่า ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ได้มีการลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำของ โลกเกือบทุกฉบับนั้น ล้วนเป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากคนป่วยกลุ่มเล็กๆ และเป็นคนป่วยที่ “คัดมาแล้ว” ซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงคนป่วยทั่วไปที่เราเจอในทางปฏิบัติจริงๆ อีกทั้งข้อมูล ต่างๆที่มีการลงตีพิมพ์นั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงให้เห็นแค่ว่า การตรวจที่ว่านี้พอจะเทียบชั้นกับการตรวจมาตรฐานเดิมได้เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าดีกว่าอย่างไร ที่แน่ๆก็คือ ไม่อาจจะไปทดแทนการสวนหัวใจได้เลยแม้แต่น้อย (ยกเว้นในคนป่วยบางรายเท่านั้นจริงๆ)
เมื่อเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้ทาง Medicare มีนโยบายในระดับชาติว่า หากมีใครคนไหนอยากตรวจก็ต้องจ่ายเอง เพราะ Medicare ไม่มีวันจ่ายให้หรอก เว้นแต่ว่าคุณจะไปเจรจากับตัวแทนระบบประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นเอาเองก็ เป็นอีกเรื่องทั้งนี้เป็นเพราะ Center for Medicare and Medicaid Services มีหลักการที่ยึดถือประการหนึ่งในการตัดสินใจ นั่นคือ ถ้าหากการตรวจนั้น สมเหตุสมผลว่าควรตรวจ และจำเป็นต้องทำแล้ว ทางระบบประกันนี้ก็ยินยอมจะรองรับค่าใช้จ่ายให้ แต่ถ้าหากเหตุผลการตรวจมันเพียงแค่ “เห็น” ภาพอันสวยงามเพียงอย่างเดียว  และความจำเป็นที่ต้องทำก็ไม่แน่นอน ถ้าไม่ทำก็ไม่แน่ว่าจะเกิดผลเสียตามมาแน่ๆ แบบนี้หน่วยงานของรัฐหน่วยงานนี้ ก็เลยไม่เห็นด้วยกับการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยวิธี 64-Slice CT Scan

พูดกันให้ชัดเจนอีกทีว่า ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสุขภาพของอเมริกา ไม่เห็นหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่ามีประโยชน์ใดๆที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน นี้ นอกจากนี้องค์กรทางวิชาการที่สำคัญอย่างเช่น American Heart Association – AHA หรือสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งอเมริกา ก็ยังออกแนวทางปฏิบัติว่าผู้ป่วยที่อาจจะพิจารณาทำการตรวจหลอดเลือด หัวใจโดยวิธี 64-Slice CT นั้น มีเพียงกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพียงระดับปานกลาง แต่การตรวจคลื่นไฟฟ้าขณะวิ่งสายพานมันได้ผลออกมาไม่ฟันธงชัดๆว่าเป็นโรค หัวใจหรือเปล่า คุณก็อาจจะเลือกไปรับการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยวิธีนี้ได้ ส่วนกรณีหากว่าคุณเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากๆต่อการเกิดโรคหลอดเลือด หัวใจอยู่แล้ว ก็ควรจะไปสวนหัวใจเลย แต่ถ้าเป็นกรณีที่คุณอยู่ในกลุ่มที่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ น้อยมาก คุณก็ไม่ควรจะไปส่องดูหัวใจคุณด้วยวิธีนี้เพราะเสียเวลา เสียเงิน และยังโดนอาบกัมมันตรังสีจากเครื่องเอกซ์เรย์พลังงานสูงแบบนี้อีกด้วย

ผ่าอกคุย กับหมอสัญญา
18 ตุลาคม 2010