ผู้เขียน หัวข้อ: "เจ๊ปิ๊ก" ลุยอีก! นำ 5 ผู้เสียหายฯร้อง สธ. หมอรักษาชุ่ย  (อ่าน 823 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

       "ปวีณา" บุก สธ.พร้อมผู้เสียหายทางการแพทย์ ร้องขอความเป็นธรรมหลังเข้ารักษาใน รพ.รัฐ เอกชน ศูนย์การแพทย์แล้ว แต่กลับรักษาชุ่ยจนตาย ล้างเป็นเจ้าหญิงนิทรา ด้าน "หมอชลน่าน" สั่งเยียวยา


ปวีณา หงสกุล

       วันนี้ (20 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี นำผู้เสียหายจำนวน 5 ราย เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีโรงพยาบาลของภาครัฐ เอกชน รวมถึงศูนย์การแพทย์ ให้การรักษาชุ่ยส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นเจ้าหญิงนิทราและเสียชีวิต
       
       ทั้งนี้ น.ส.ชรินทร์พร วงค์หนายโกฏิ อายุ 28 ปี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ตนได้ไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งด้วยวิธีการผ่าคลอด แต่คลอดได้เพียง 3 วัน บุตรก็เสียชีวิตลงโดยโรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นความผิดของตนที่ตั้งท้องนอกมดลูก แต่ตนยังติดใจ เพราะระหว่างตั้งครรภ์ตนก็ไปทำการอัลตราซาวด์มาแล้ว 3 ครั้ง แต่แพทย์ก็ไม่มีการแจ้งมาก่อนว่าท้องมีปัญหา
       
       นายเอกสิทธิ์ มนูญผล อายุ 39 ปี กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุภรรยาของตนได้พาเพื่อนซึ่งเป็นชาวจีนไปทำกิฟต์ที่ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่ง และเห็นว่าไม่ได้ทำยากจึงอยากทำบ้างเพราะต้องการมีบุตร ดังนั้น จึงไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์ดังกล่าว และแพทย์ได้ตกลงที่จะทำให้เลยในวันนั้น แต่ก่อนที่ภรรยาจะทำกิฟต์ได้โทรมาบอกตน ตนจึงรีบไปหาที่โรงพยาบาลดังกล่าว แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าภรรยามีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ จากการที่ตนสังเกตโดยรอบห้องที่ทำกิฟต์แล้วพบว่าที่ศูนย์การแพทย์ดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้นเลย
       
       น.ส.ยุพิน มีคุณ อายุ 30 ปี กล่าวว่า ตนได้ไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลบึงกาฬ แต่เวลาผ่านไปประมาณ10 ชั่วโมง เด็กก็ยังไม่คลอด ตนจึงขอผ่าคลอดแต่พยาบาลไม่อนุญาตพร้อมบอกว่าไม่จำเป็นต้องผ่าคลอด ตนจึงรออีกประมาณ 1 ชั่วโมง เด็กก็ยังไม่คลอด นางพยาบาลจึงโทรไปตามหมอมาดูอาการ และเมื่อหมอมาถึงก็บอกว่าต้องรีบดูดเอาเด็กออก เพราะอาการหนักทั้งแม่และลูก ซึ่งเมื่อดูดบุตรออกมาแล้วก็พบว่าบุตรไม่มีการร้องไห้แถมตัวยังเขียวอีกด้วย ต้องใช้เครื่องออกซิเจนช่วยหายใจ และต้องส่งต่อบุตรไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองคาย ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลหนองคายระบุว่า เด็กกินน้ำข้าวและขี้เทาเข้าไปมาก ส่งผลให้สมองฝ่อ
       
       นายดลนภพ อรยศ อายุ 43 ปี กล่าวว่า ตนได้พาบุตรสาวอายุ 15 ปี ที่มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจไปพบแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อ แพทย์จึงวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นกล้ามเนื้ออักเสบจึงฉีดยาคลายกล้ามเนื้อและให้ยามาทาน แต่พบกลับมาบ้านได้ไม่กี่ชั่วโมง บุตรสาวก็มีอาการปากเบี้ยว น้ำลายฟูมปาก มือ-เท้าเกร็ง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลและผ่าตัดสมองซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้สึกตัว
       
       และนายมลชัย มหาจันทร์ อายุ 31 ปี กล่าวว่า น.ส.ชิดชนก มีเชาว์งาม อายุ 21 ปี (น้องสาว) เกิดอาการชักกระตุก เกร็ง ทางญาติจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลภูมิพล แต่ทางแพทย์ให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่นั่น โดยจากการตรวจรักษาแพทย์ระบุว่า น้องสาวของตนมีของเสียในไตและมีอาการตัวบวมแพทย์จึงสั่งยาขับปัสสาวะให้ทานพร้อมให้นอนโรงพยาบาลประมาณ 3 วัน แต่เมื่อตนและญาติๆไปเยี่ยมกลับพบว่า แพทย์ปล่อยให้น้องสาวตนนอนอยู่บนพื้นด้วยอาการชักกระตุก เกร็ง จนเสียชีวิตในที่สุด
       
       ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ และหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็จะให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ในเบื้องต้นก็จะให้การเยียวยากับผู้เสียหายไปก่อนโดยไม่ต้องรอผลว่าผู้ที่กระทำความผิด
       
       "ประชาชนที่เข้ารับการรักษาและคิดว่าได้รับความเสียหาย สามารถยื่นหนังสือร้องเรียนได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้ง 12 เขต หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ คณะกรรมการจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการว่าเป็นความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขหรือไม่ แม้กรณีร้องเรียนผ่านมูลนิธิปวีณาฯ เช่น 5 รายนี้ และมีหลายกรณีที่เคยร้องผ่าน สปสช.และเข้าสู่การพิจารณาตรวจสอบข้อมูลของคณะกรรมการแล้ว อย่างไรก็ตาม จะส่งเรื่องร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลแต่ละแห่งที่ถูกร้องเรียนดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป หากพบว่าเป็นจริง จะจ่ายทันที โดยไม่ต้องพิสูจน์ความถูกผิด" รมช.สาธารณสุข กล่าว
       
       นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ขณะนี้ สธ.พยายามหาทางออกเป็นข้อตกลงร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะรับเรื่องราวร้องทุกข์พร้อมทั้งรายละเอียดทั้งหมด และสืบหาข้อเท็จจริงจากสถานพยาบาล แล้วพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ ในการเยียวยาจะให้สิทธิคุ้มครองแก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยมีคณะกรรมการวินิจฉัยความเสียหาย ซึ่งในหลักการนั้นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ เป็นวิชาชีพเพราะต้องอาศัยความเป็นเทคนิคทางวิชาชีพในการพิจารณาโดยแท้จริง ในหลักการกำหนดว่าต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถให้การดูแลทั่วถึง เป็นธรรม เข้าถึงง่าย


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   20 กุมภาพันธ์ 2556 17:42 น