ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ดัน"ชักโครก"วาระชาติ ลดยอดคนไข้ข้อเข่าเสื่อม นั่ง"ส้วมซึม"ปลดทุกข์  (อ่าน 781 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขผู้ป่วย "ข้อเข่าเสื่อม" พุ่งกว่า 6 ล้านคน เหตุนั่งส้วมซึมปลดทุกข์ เล็งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ รณรงค์ทุกบ้านใช้ "ชักโครก"

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ จะเสนอแผนแม่บทการพัฒนาส้วมไทย ระยะที่ 3 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกหน่วยงานเปลี่ยนส้วมซึม หรือส้วมนั่งยอง เป็นส้วมชักโครก ตั้งเป้าภายในปี 2559 ทุกครัวเรือนต้องมีส้วมชักโครก ร้อยละ 90 สำหรับงบประมาณดำเนินการ ให้แต่ละหน่วยงานจัดสรรกันเองภายหลัง ครม.มีมติแล้ว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การใช้ส้วมนั่งยองมีผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งโรคนี้เป็นแล้วทุกข์ทรมาน รักษาไม่หายขาด ลุกนั่งเดินลำบาก และคนที่ป่วยไม่ใช่ผู้สูงอายุเท่านั้น ยังพบว่าคนวัยทำงานมีภาวะข้อเสื่อมร่วมด้วย รวมแล้วพบคนไทยป่วยโรคข้อเสื่อมกว่า 6 ล้านคน

"จากการสำรวจพฤติกรรมการขับถ่ายของคนไทยพบว่า มีบ้านที่ใช้ส้วมนั่งยองร้อยละ 86 มีการใช้ส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาร้อยละ 10.1 และมีบ้านที่ใช้ทั้งส้วมนั่งยองและส้วมนั่งราบหรือส้วมแบบโถห้อยขาร้อยละ 3.1 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2553 แสดงว่าปัจจุบัน ประชากรไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ส้วมนั่งยอง ซึ่งมีผลกระทบในระยะยาวคือ ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น" นพ.ชลน่านกล่าว และว่า ปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมเข้ารับการรักษาจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ การกินยาแก้ปวด หรือการผ่าตัด ถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งละประมาณ 85,000?150,000 บาทต่อราย แต่หากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และบริหารข้อเข่า จะเสียค่าใช้จ่ายน้อย และสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ การลดน้ำหนัก การบริหารข้อ การนั่งบนเก้าอี้ที่สูงระดับเข่า และเวลาขับถ่ายควรนั่งถ่ายแบบห้อยขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอนามัยรายงานสถิติผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ระบุว่า ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบในกลุ่มอายุน้อยลง 45-50 ปี เนื่องจากมีปัจจัยเสริม เช่น ภาวะอ้วน นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ หรือประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น กรมอนามัยจึงดำเนินการรณรงค์ใช้ส้วมชักโครก ร้อยละ 50 ในปี 2556 ร้อยละ 75 ในปี 2557 และครบทุกครัวเรือน ในปี 2559 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้สถานที่สาธารณะมีส้วมแบบโถห้อยขาที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย โดยเริ่มจากพัฒนาส้วมสาธารณะในสถานีบริการน้ำมัน โรงพยาบาล และสถานบริการสาธารณสุข ด้วย

หน้า 10,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556