ผู้เขียน หัวข้อ: ผลวิจัยเด็กไทย1ใน4สมองทึบ "หมอประเวศ"ชี้จีดีพีไม่ใช่เป้า-มติชน-18กพ2553  (อ่าน 2233 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บรรยายพิเศษ "ข้อมูลสุขภาพเข้มข้น สุขภาพชุมชนเข้มแข็ง" ในการประชุมวิชาการระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่นว่า การพัฒนาประเทศไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศ แต่ควรตั้งเป้าหมายไปที่การมีสุขภาพดี เพราะสุขภาพหมายถึงทุกอย่างทั้งกายและใจ ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้ แต่ต้องทำให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล หากนำข้อมูลมาคิดและปฏิบัติ และวิเคราะห์ ก็จะเกิดเป็นความรู้

"การพัฒนาระบบสุขภาพควรมีการ สำรวจประชากร เช่น คนจน พิการ คนชรา ว่าถูกทอดทิ้งหรือไม่ เท่าไร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการช่วยเหลือ ขณะที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องทำงานเชิงรุก อย่างบางจังหวัดมีพยาบาลเยอะ ก็ควรมีระบบส่งเสริมให้พยาบาลไปเป็นอาสาพยาบาลในชุมชน โดยอาจเพิ่มแรงจูงใจ ซึ่งหากมีการดำเนินการมากขึ้นก็อาจจะจัดตั้งเป็นคลีนิคพยาบาลเวชปฏิบัติ ขยายไปตามศูนย์อนามัยต่างๆ ได้อีกทาง" ศ.นพ.ประเวศกล่าว

รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ผู้อำนวยการสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เปิดเผยผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยทั่วประเทศใน 21 จังหวัด ครั้งที่ 4 ตั้งแต่ปี 2551-2552 โดยการสัมภาษณ์ ตรวจสุขภาพ ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 1-14 ปี จำนวน 9,000 คน ในเรื่องการพัฒนาการทางสมอง เบื้องต้นพบข้อมูลน่าตกใจ เพราะมีเด็กที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน (ไอคิวมาตรฐานอยู่ที่ระดับ 90) สูงประมาณ 1 ใน 4 หรือประมาณร้อยละ 25 ส่วนเด็กไอคิวปกติอยู่ที่ร้อยละ 40 และไอคิวเกินมาตรฐานแบ่งเป็นสมองดีร้อยละ 12 ฉลาดร้อยละ 3 และอัจฉริยะร้อยละ 2

"ผลจากการสำรวจเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของเด็กลดลงเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อม การศึกษา อาหาร มีส่วนประกอบทำให้เด็กไอคิวแย่ลง ซึ่งควรนำข้อมูลดังกล่าวไปสู่การวางแผนปรับแก้การกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจหลายครั้งก็ยังได้ผลใกล้เคียงกับตัวเลขดังกล่าว ทั้งนี้ โอกาสที่จะพัฒนาเด็กให้มีไอคิวดีขึ้นสามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม อาหาร หลักสูตรการศึกษา อาจจะสามารถแก้ปัญหาได้" รศ.นพ.วิชัยกล่าว และว่า เด็กไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากสารอาหารเกินร่างกายจำเป็น โดยเฉพาะอาหารขยะมีไขมันสูง ต่างจากอดีตที่เด็กไทยมีปัญหาขาดสารอาหาร ผอม แห้ง และพบว่าค่าเฉลี่ยความสูงของเด็กไทยมากขึ้นในทุกช่วงวัย