ผู้เขียน หัวข้อ: นายกฯปู เตรียมปลดล็อกชาวต่างชาติรักษาตัวในไทย  (อ่าน 771 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   5 กุมภาพันธ์ 2556 15:26 น.   

   นายกฯปู เตรียมจ้อต่อชาวโลก 22 ก.พ.นี้ ประกาศนโยบายเมดิคัล ฮับ ให้ 6 กลุ่มประเทศอาหรับ เดินทางเข้ารักษาตัวในไทยโดยไม่ต้องใช้วีซ่า พร้อมเล็งขยายไปในกลุ่มประเทศอาเซียน สแกนดิเนเวียน จีน ญี่ปุ่น “หมอประดิษฐ” เผย ปี 2555 ไทยมีรายได้จากนโยบายเมดิคัล ฮับ กว่า 1 แสนล้านบาท บริการตรวจสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม และทันตกรรม ฮิตสุด
       
       นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้านโยบายเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบให้ สธ. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย สำหรับบุคคลต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการด้านสุขภาพ ว่า ล่าสุด มีการปรับแก้หลักเกณฑ์ให้ชาวต่างชาติพร้อมผู้ติดตามจำนวนไม่เกิน 4 คน จาก 6 ประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ หรือ จีซีซี (GCC : Gulf cooperation Council) ได้แก่ ราชอาณาจักรบาห์เรน รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ วีซ่า และให้พำนักในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 90 วัน โดยต้องมีเอกสารการนัดหมายจากสถานพยาบาล เอกสารรับรองทางการเงิน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะประกาศมาตรการนี้ และยุทธศาสตร์เมดิคัล ฮับของประเทศไทยให้ทั่วโลกรับทราบในวันที่ 22 ก.พ.นี้
       
       “การพัฒนาตามแนวทางใหม่นี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ทำให้มีการขยายตัวของการใช้บริการสุขภาพ ช่วยสร้างรายได้ประเทศมากขึ้น และวางแผนจะขยายมาตรการนี้แก่ประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ สแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน และเสนอจัดระบบประกันสุขภาพก่อนเข้าไทยด้วย เช่นเดียวกับที่คนไทยเดินทางไปต่างประเทศ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า จากผลการดำเนินงานในปี 2555 พบว่า ประสบผลสำเร็จอย่างดี มีชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลที่ประเทศไทย 2 ล้านกว่าครั้ง ร้อยละ 60 เป็นนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อรักษาตัวโดยตรง มีรายได้สู่ประเทศ 121,658 ล้านบาท บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ตรวจสุขภาพ ร้อยละ 18 รองลงมาคือ ศัลยกรรมความงาม ร้อยละ 14 ทันตกรรม ร้อยละ 11 ศัลกรรมกระดูก ร้อยละ 10 และผ่าตัดหัวใจ ร้อยละ 7 โดยขณะนี้ไทยมีสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ เป็นที่เชื่อมั่นยอมรับของต่างชาติ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติจากสหรัฐอเมริการวมทั้งหมด 24 แห่ง และผ่านมาตรฐานการดูแลสุขภาพในระดับโปรแกรมเฉพาะทางอีก 11 แห่ง เช่น โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต เป็นต้น