ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เตรียมMOUอปท.ตั้ง 'กองทุนค่ารักษาพยาบาล' พนง.ส่วนท้องถิ่นและครอบครัว5.3แสนคน  (อ่าน 1801 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
สธ. สปสช. เตรียมลงเอ็มโอยูร่วมมือกับ อปท. กระทรวงมหาดไทย ตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวนกว่า 5.3 แสนคนทั่วประเทศ ในวันที่ 6 ก.พ. 2556 สิทธิทัดเทียมกับข้าราชการพลเรือนรักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า โดยท้องถิ่นเตรียมงบประมาณเบื้องต้น 6,000 ล้านบาท ก่อนส่งเข้า ครม. อนุมัติรับรองก่อนดำเนินการในปีงบประมาณ 2557

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือหรือเอ็มโอยู(MOU) ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย ในการตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่น หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาพันธ์และเครือข่าย ได้หารือกันอย่างต่อเนื่อง ในการหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดบริการการรักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการ พนักงานและครอบครัว ที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะขอตั้งงบประมาณจัดตั้งกองทุนเบื้องต้น 6,000 ล้านบาท โดยโอนไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดเป็นกองทุน เพื่อดูแลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและครอบครัว สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 5,693 แห่ง รวมจำนวนทั้งหมด 537,692 คน เฉลี่ยประมาณรายละ 12,000 บาท ซึ่งสิทธิประโยชน์จะทัดเทียมระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพลเรือน ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง โดยหลังลงนามบันทึกความร่วมมือแล้ว จะมีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาภายใต้มาตรา 9 ของพระราช บัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลในปีงบประมาณ 2557 ต่อไป

“ที่ผ่านมา การจัดบริการการรักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการ พนักงานและครอบครัว ที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ทุกคนต้องสำรองจ่ายการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ไม่มีสิทธิเบิกตรงเหมือนข้าราชการพลเรือน ระยะเวลาเบิกจ่ายค่อนข้างนาน กระทบกับข้าราชการชั้นผู้น้อย รวมทั้งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กบางแห่ง มีงบประมาณน้อย แต่เสียค่ารักษารักษาพยาบาลจำนวนมาก ต้องจ่ายเพิ่มเอง ซึ่งการจัดตั้งกองทุนกลางมาดูแลในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวให้ได้รับบริการที่เสมอภาคกับสิทธิอื่น ๆ ยิ่งขึ้น” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

http://www.healthfocus.in.th  2013-01-31

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากมีการเรียกร้องจากข้าราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อขอให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับการสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลและหากบางกรณีที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็จะกระทบกับการทำงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีรายได้น้อยทำให้ไม่มีงบประมาณที่จะนำไปบริการประชาชน เห็นควรให้มีกองทุนกลางดูแล ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข ได้จับมือประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคม และสมาพันธ์ จนได้ข้อสรุปและพร้อมที่จะลงนาม MOU ร่วมกัน ในวันที่6 ก.พ.56 นี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลนายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติมาเป็นประธาน

นายศักดิพงศ์ กล่าวว่า ซึ่งการลงนามในครั้งนี้เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างสถ. กับ สปสช. สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ตัวแทนสมาคม และสมาพันธ์ อปท.ร่วม 10 องค์กรเครือข่ายที่จะร่วมกันผลักดันและเดินหน้าให้เร็วเสร็จโดยเร็ว

"หลังจากลงนาม MOU แล้วทางกระทรวงสาธารณสุข จะนำเสนอข้อตกลงดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การรับรองถือว่าทุกหน่วยงานรับทราบที่จะดำเนินการต่อไป เบื้องต้น สถ.จะเป็นหน่วยงานขอตั้งงบประมาณเพื่อใช้จ่ายเป็นเงินกองทุน ประมาณ 6,500 ล้านบาทและสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ จะจัดสรรงบประมาณซึ่งเป็นในสัดส่วนของงบประมาณท้องถิ่นผ่านไปยังสถ.เพื่อโอนไปยัง สปสช.ตั้งเป็นกองทุนต่อไป" นายศักดิพงศ์ กล่าวและว่าปีงบประมาณ 2557เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 คาดว่าน่าจะเสร็จทันปีงบประมาณหลังจากนี้ ตนและคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งมีรศ.วุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานจะเร่งดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องหากไม่ติดขัดในข้อกฎหมายใดๆ หลังจากนั้นก็นำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีอีกรอบ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ต่อไป คาดว่าใช้ระยะเวลาไม่เกิน3-4 เดือนคงเสร็จเรียบร้อย ในระหว่างนี้ให้ทาง สปสช. รีบดำเนินการจัดทำระเบียนข้อมูลของผู้มีสิทธิในเบิกค่ารักษาพยาบาลของท้องถิ่น

"ซึ่งในวันนี้หลักการ ยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาลพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541ซึ่งรวมถึงนายก อปท.ก็จะได้รับสิทธิตรงนี้และเข้าได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ 997 แห่งทั่วประเทศ ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินล่วงหน้า มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการประเภทอื่น ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร และคณะโดยเฉพาะ สถ.และ สปสช.ที่ช่วยเหลือ ถือว่าท่านได้มอบของขวัญให้กับพวกเราชาวท้องถิ่นทั่วประเทศ" นายศักดิพงศ์ กล่าว

สยามรัฐ  31 มกราคม 2556