ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: คดีปกครอง: 'คุณหมอ..ขา!'จ่ายค่าเสียหายด้วยค่ะ...?  (อ่าน 954 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 26 มกราคม 2556 00:00:44 น.
นายปกครอง
ตามกฎหมายหากแพทย์ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือประมาทเลินเล่อจนผู้ป่วยได้รับความเสียหาย เช่น มีอาการหนักมากขึ้นหรือเสียชีวิต ถือเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้เสียหายมีสิทธิ์เรียกร้องให้แพทย์นั้นเองหรือหน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าเสียหายและฟ้องศาล เพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไป

 
โดยหากเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนผู้เสียหายต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นคดีระหว่างเอกชนด้วยกัน แต่หากเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลของรัฐ อาจมีข้อสงสัยว่าจะต้องฟ้องต่อศาลปกครองหรือไม่? เพราะศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือการใช้อำนาจในทางปกครอง (มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542)

คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้มี 2 คดี ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ป่วยและทายาทของผู้ป่วยที่ถึงแก่ความตายนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดย คดีแรก ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แพทย์ที่รักษาชดใช้ค่าเสียหายส่วนคดีที่สองผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการแพทยสภาที่มีมติเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์

คดีแรก เป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดีซึ่งเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐด้วยอาการเห็นแสงแว้บที่ตา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (แพทย์ผู้ทำการรักษา) ตรวจดูอาการแล้วก็จ่ายยาทั้งรับประทานและยาหยอดตาเป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาผู้ฟ้องคดีมีอาการผิดปกติ มีใยสีดำอยู่ที่ตา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็สั่งจ่ายยาชนิดเดิมให้อีก หลังจากนั้นตาซ้ายเริ่มมองไม่เห็นผู้ฟ้องคดีขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิเสธ ผู้ฟ้องคดีจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นเอง โดยแพทย์รักษาโดยยิงเลเซอร์และผ่าตัด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนได้รับความเสียหายจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกมองไม่เห็น หลังจากร้องเรียนต่อแพทยสภาแล้ว จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้แพทย์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การกระทำของแพทย์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติทั่วไปในการตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วย มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือการใช้อำนาจทางปกครอง จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 678/2554 ทำนองเดียวกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 606/2554) จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คดีที่สอง ผู้ฟ้องคดีเป็นสามีของผู้ป่วยซึ่งได้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐและต่อมาภรรยาเสียชีวิต จึงร้องเรียนกล่าวโทษแพทย์ผู้รักษาต่อคณะกรรมการแพทยสภา (ผู้ถูกฟ้องคดี) ว่า ทำการรักษาไม่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น ให้ยาแรงไป นำวัสดุทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องมาใช้ และเรียกเก็บเงินค่าเวชภัณฑ์ทั้งที่มีบัตรประกันสุขภาพ และไม่อนุญาตให้ย้ายโรงพยาบาล ต่อมาคณะกรรมการแพทยสภามีมติว่าเรื่องร้องเรียนไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวโทษ จึงฟ้องคณะกรรมการแพทยสภาต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยมีแพทยสภาทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และเมื่อบุคคลใดได้รับความเสียหาย เพราะการประพฤติผิดจริยธรรมดังกล่าวก็มีสิทธิ์กล่าวหาต่อแพทยสภา และคณะกรรมการต้องพิจารณาและมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งมติดังกล่าวและผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งมติแล้วเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติดังกล่าว และมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการแพทยสภา

จึงรับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 405/2549) ดังนั้น คดีนี้เมื่อศาลปกครองรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีในประเด็นว่า มติของคณะกรรมการแพทยสภาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วผู้สนใจสามารถหาคำตอบได้ไม่ยากจาก คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 498/2555 ทั้งสองคดีข้างต้นมีข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลเหนือคดีระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรม แต่ไม่ว่าข้อพิพาทจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดก็ตาม ประเด็นในทางกฎหมายที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วก็คือหากเมื่อใดแพทย์ประกอบวิชาชีพแล้วเกิดความเสียหายขึ้น โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อถือว่าเป็นการกระทำละเมิดที่ย่อมต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายเสมอ ส่วนจะเป็นแพทย์ผู้นั้นเองหรือหน่วยงานต้นสังกัดก็แล้วแต่กรณี และหากจำเป็นต้องฟ้องศาลก็จะต้องมาพิจารณาก่อนว่ามูลละเมิดอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด แต่หากต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ซึ่งกันและกันด้วยความรับผิดชอบ คดีความต่างๆ ก็คงไม่เกิดขึ้นในศาลไม่ว่าศาลใดๆ ครับ.