ผู้เขียน หัวข้อ: หมอชนบทหนุนปรับค่ารักษาพยาบาล เตือนสธ.ควรขึ้นเฉพาะที่ต้นทุนขยับ/รพ.รามาฯรับพิษค่าแรง300ควักเนื้อโปะ1  (อ่าน 790 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หมอชนบทหนุนปรับค่ารักษาพยาบาล ติงต้องคิดตามต้นทุนที่แท้จริง ไม่ควรปรับโอเวอร์ยกแผง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งระบบ บริษัทยาและเวชภัณฑ์อาจฉวยโอกาสขึ้นราคาตามไปด้วย แนะ สธ.ควรหารือกับ รพ.โรงเรียนแพทย์ กรมบัญชีกลางและ 3 กองทุนสุขภาพ ด้าน รพ.รามาฯ ปรับราคาค่าบริการแน่ เพราะค่อยๆ ทยอยปรับทุกปี แต่ปีนี้เจอพิษค่าแรง 300 ทำให้ต้องควักกระเป๋าปีละเกือบ 130 บาท แถมยังสูญเสียรายได้จากการคุมเข้มห้ามใช้ยานอกของรัฐด้วย
    นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพิจารณาปรับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ยังไม่เสร็จ หากเสร็จแล้วจะเสนอให้ปลัด สธ.ลงนาม เรื่องนี้เคยทำมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว โดยการคิดราคาค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับค่ารักษาพยาบาลใหม่ก็มีทั้งตัวที่เพิ่มและลดลง เพราะมี 8 กลุ่มย่อยที่ช่วยกันทำ ทั้งคิดเรื่องค่าห้อง คิดค่ายา ค่าผ่าตัด คิดเรื่องเอกซเรย์ ห้องปฏิบัติการกายภาพบำบัด คือการรักษาพยาบาลทั้งหมด เป็นเล่มหนาเลย
    นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การจะปรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มหากเป็นการคิดตามต้นทุนจริงคงไม่มีปัญหา เพราะปัจจุบันค่าบริการบางอย่างต่ำกว่าต้นทุน บางอย่างสูงกว่าต้นทุน บางรายการขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี สธ.ต้องคุยกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และต้องคุยกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. ถ้า 3 กองทุนให้การยอมรับก็ได้เงินเพิ่ม
    “ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ผมเห็นด้วย เพราะจะได้สะท้อนข้อมูลที่เป็นจริง แต่อยากให้ทำราคาภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่ใช่ตั้งราคาเวอร์เกินไป หากกำหนดราคาที่สูงเกินไป บริษัทยาและเวชภัณฑ์ก็จะขายในราคาที่สูงตาม เป็นผลกระทบเชิงระบบ เพราะบางครั้งการคิดค่าแรงอาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น หัตถการบางอย่าง ต้นทุนที่เหมาะสมใช้เจ้าหน้าที่ 1 คน แต่ถ้าเอาบุคลากรไปใส่มากกว่า 1 คน ถามว่าใครเดือดร้อน กองทุนที่ดูแลก็เดือดร้อน” นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
    ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การปรับค่ารักษาพยาบาลของ สธ.คงจะถูกนำไปใช้คำนวณในการตั้งของบประมาณของ สปสช. ถ้าปรับปีนี้แล้วไปใช้ปีหน้าไม่กระทบต่อตัวระบบ หากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่กำลังขอไปไม่โดนสำนักงบประมาณตัด เพราะงบประมาณที่ขอไปมีการรวมค่าตอบแทนพิเศษของโรงพยาบาลสังกัด สธ. และคิดค่าอะไรต่างๆ หมดแล้ว
    ทางด้าน รพ.รามาธิบดี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาฯ กล่าวว่า กรณีที่มีโรงเรียนแพทย์จะปรับขึ้นอัตราค่าบริการทางการแพทย์นั้น ในส่วนของ รพ.รามาธิบดีได้พิจารณาปรับทุกปีอยู่แล้ว โดยคำนึงต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด จะพิจารณาเป็นรายการไป และต้องต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน 30% แต่ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับผู้ป่วยในทุกระบบ เพราะว่าตรงนี้จะคิดตามดีอาร์จี หรือรหัสโรคร่วม แต่จะมีผลบ้างกับผู้ป่วยที่ใช้เงินสด
    "อย่างค่าหัตถการ ค่าบริการ ค่าห้องแล็บ ค่าอาหาร เราก็ต้องดูเป็นรายการๆ ไป อย่างห้องผู้ป่วยก็ไม่ได้ปรับหมด ห้องเก่าก็คงราคาเดิมไว้ ปรับแค่ห้องที่ทำใหม่ โดยดูจากต้นทุน แต่อยู่ในขอบเขตที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชน 30%" ผอ.รพ.รามาฯ กล่าว
    รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่านโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และเงินดือน 15,000 บาทสำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ส่งผลกระทบให้ต้องใช้เงินบำรุงของทางโรงพยาบาลเองไปจ่ายประมาณปีละ 30-40 ล้านบาท ให้กับคนที่ทำงานมาก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
    ในขณะที่นโยบายลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา ที่ห้ามใช้ยานอกบัญชีและต้องใช้ยาที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น ส่งผลให้โรงพยาบาลมีรายได้ลดลงประมาณเดือนละ 10 ล้านบาท หรือปีละเกือบ 130 ล้านบาท แต่เนื่องจากเป็นนโยบายใหญ่ของรัฐบาล เราก็ต้องทำตาม.


ไทยโพสต์ 25 January 2013