ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิญญาณแห่งกังฟู-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2676 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ท่านอาจารย์ทอดร่างใต้ผ้านวมฝีมือการตัดเย็บของภรรยาในวันสุดท้ายของชีวิต  ใน ห้องนอนเล็กๆมีเพียงเสียงลมหายใจแหบพร่าดังเป็นห้วงๆ อาคันตุกะทั้งหลวงจีนและฆราวาสต่างหลั่งไหลมายังเมืองเหยี่ยนชือตรงตีนเทือก เขาซงชาน ในฤดูใบไม้ผลิ  เพื่อคารวะท่านอาจารย์หยางกุ้ยอู่ผู้ถ่ายทอดวิชากังฟูให้พวกตนเป็นครั้งสุดท้าย

               ท่านอาจารย์เองคงยอมรับในวัฏจักรอันไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง  อันเป็นบทเรียนสุดท้ายว่าด้วยความนอบน้อมถ่อมตนจากบุรุษผู้พร่ำสอนศิษยานุศิษย์ว่า  การหายใจเป็นพื้นฐานของการฝึกพลัง ชี่ หรือลมปราณ  การ ฝึกควบคุมลมหายใจให้ช้าและสม่ำเสมอ สอดคล้องกับจังหวะการเต้นของหัวใจและท่วงทำนองของอวัยวะอื่นๆ ถือเป็นก้าวแรกบนเส้นทางอันยากลำบากแสนสาหัสเพื่อเข้าถึงบ่อกำเนิดแห่งพลัง ชี่ พร้อมไปกับการไขประตูปริศนาอันลี้ลับที่สุดบานหนึ่งของจักรวาล

เพียง 19 กิโลเมตรจากนิวาสถานของท่านอาจารย์  ในหุบเขาเหนือเทือกเขาซงชานเพียงเล็กน้อย  รถ ทัศนาจรพร้อมจะปล่อยขบวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่กำแพงวัดเส้าหลิน พวกเขาหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมาเยี่ยมเยือนแหล่งกำเนิดตำนานกังฟูอันยิ่งยงที่สุดของแผ่นดินมังกร

เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมามีอยู่ว่า ณ ที่แห่งนี้ ภิกษุชาวอินเดียสมัยศตวรรษที่ห้าได้ถ่ายทอดท่วงท่าการ  ออกกำลังกาย หรือกระบวนท่าที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ให้เหล่านักบวชแห่งวัดเส้าหลินที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น  หลวงจีนทั้งหลายได้ประยุกต์กระบวนท่าเพื่อใช้ในการป้องกันตัว  และต่อมาได้ปรับปรุงสำหรับใช้ในการศึก  ชน รุ่นหลังในยุคต่อๆมาค่อยๆขัดเกลา “ศิลปะการป้องกันตัว” เหล่านี้ และใช้ในการรบพุ่งนับครั้งไม่ถ้วนตลอด 1,400 ปีต่อมา ทั้งต่อกรกับเหล่าทรราช ปราบกบฏ และต่อต้านผู้รุกราน  เรื่องราวเหล่านี้ได้รับการจารึกไว้บนแผ่นศิลาภายในวัด รวมทั้งเล่าขานในนิยายหลายต่อหลายเรื่องย้อนไปถึงยุคราชวงค์หมิง

อย่าง ไรก็ตาม ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่วัดดูจะให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้า ยี่ห้อเส้าหลิน มากกว่าการฟื้นฟูจิตวิญญาณของวัด ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา  เจ้าอาวาสนามว่าชื่อหย่งซิ่นวัย 45 ปีได้สร้างอาณาจักรธุรกิจระดับโลกขึ้น โดยมีจุดขายอย่างคณะกังฟูที่เดินสายแสดง   โครงการสร้างภาพยนตร์ทั้งจอเงินและจอแก้ว ร้านค้าออนไลน์จำหน่ายชาและสบู่ยี่ห้อเส้าหลิน ไปจนถึงสาขาวัดเส้าหลินในต่างประเทศ  ทั้งนี้ท่านเจ้าอาวาสอธิบายว่า  “การทำให้ชื่อหรือเส้าหลินเป็นที่รู้จักในต่างประเทศก็ดี การเผยแพร่วัฒนธรรมดั้งเดิมของเส้าหลิน รวมทั้งกังฟูก็ดี  เท่ากับเป็นการทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและนับถือพุทธศาสนานิกายเซนมากขึ้น”

ในช่วงเวลาเดียวกับที่พญามังกรจีนผงาดขึ้นในฐานะผู้ทรงอิทธิพลของโลก โรงเรียนกังฟูเองก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอเติงเฟิงซึ่งอยู่ห่างจากประตูวัดเพียง 10  กิโลเมตร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา  ที่ นี่มีสำนักสอนศิลปะการป้องกันตัวเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 60 แห่ง และมีนักเรียนแห่แหนมาเรียนมากกว่า 50,000 คน ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงจากทั่วทุกสารทิศ อายุตั้งแต่ 5 ขวบไปจนถึง 20 ปลายๆ บางคนมาเรียนเพราะหวังจะเป็นดาราหนังชื่อดัง หรือมีชื่อเสียงในฐานะนักมวยคิกบ็อกซิ่ง บ้างมาร่ำเรียนทักษะที่เชื่อว่าจะช่วยให้ได้งานดีๆในกองทัพ  สำนักงานตำรวจ หรืองานบอดี้การ์ด และส่วนน้อยที่พ่อแม่ส่งมาเพื่อให้เรียนรู้ความมีวินัยและความวิริยะอุตสาหะ

หูเจิ้งเชิง ศิษย์เอกของท่าอาจารย์หยาง อธิบายว่า การต่อสู้ไม่ใช่บทเรียนสำคัญที่สุดของกังฟู  หาก แต่เป็นศักดิ์ศรี หลังจากเปิดโรงเรียนกังฟูของตัวเองโดยได้รับความเห็นชอบจากท่านอาจารย์ เขาได้ถ่ายทอดทักษะให้กับลูกศิษย์และสอนว่านี่เป็นสิ่งที่มาพร้อมความรับผิด ชอบที่ยิ่งใหญ่ เขาได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเคารพในเพื่อนมนุษย์ และความเต็มใจ  ที่จะ “ดื่มด่ำความลำเค็ญ” ในเด็กแต่ละคน โดยสอนให้น้อมรับความยากลำบาก และใช้มันเป็นเครื่องกล่อมเกลาพลังใจและหล่อหลอมบุคลิกตลอดจนอุปนิสัยใจคอ ทว่าหูเองต้องเริ่มทำตามกระแสนิยมเพื่อพยุงการเงินของโรงเรียนไว้ โดยเริ่มสอนคิกบ็อกซิ่งสองสามหลักสูตร รวมทั้งกังฟูแนวกายกรรม โดยหวังจะดึงดูดนักเรียนใหม่ๆเข้ามา ก่อนจะค่อยๆเบนเข็มให้เด็กเหล่านั้นเข้าสู่การเรียนการสอนกังฟูแบบดั้งเดิม

หูเสริมว่า  “กังฟู เส้าหลินคิดค้นขึ้นมาเพื่อการต่อสู้ ไม่ใช่เพื่อสร้างความบันเทิงให้คนดู ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับที่จะทำให้เด็กๆเชื่อมั่นและยอมใช้เวลาหลายปีเรียน รู้สิ่งที่ไม่สามารถทำให้พวกเขาร่ำรวยหรือมีชื่อเสียงได้” เมื่อพูดถึงตรงนี้เขาดูเนือยๆลงไป “เพราะเหตุนี้แหละครับ ผมจึงเป็นห่วงว่าการเรียนการสอนกังฟูแบบดั้งเดิมจะสูญหายไป”

ข่าววาระสุดท้ายที่ใกล้มาถึงของอาจารย์หยาง ล่วงรู้ถึงหูลูกศิษย์ผู้ลึกลับที่สุดบนยอดเขาอันโดดเดี่ยวเหนือวัดเส้าหลิน หลวงจีน “ชื่อเต๋อเจี้ยน” วัย 47 ปี เป็นที่รู้จักในโลกอินเทอร์เน็ตผ่านทางรายการโทรทัศน์ที่ต้องการพิสูจน์วิทยายุทธของท่าน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คลิปวิดีโอที่เผยแพร่อยู่ตามเว็บไซต์เกี่ยวกับกังฟูและการแพทย์แผนจีน มีส่วนสร้างกระแสความสนใจในปรัชญาที่ว่า  ร่างกายที่แข็งแรงนั้นตั้งอยู่บนวิถีแห่ง ฉาน (การทำสมาธิแบบเซ็น) อู่ (ศิลปะการป้องกันตัว) และ อี (สมุนไพร) หลวงจีนเต๋อเจี้ยนกล่าวว่า วิถีทั้งสามนี้คือหลักการเดียวกับรากฐานทางปรัชญาของวัดเส้าหลิน และแม้ท่านจะไม่ได้เอ่ยออกมา แต่วิถีดังกล่าวคือสิ่งที่นักวิจารณ์วัดเส้าหลินทั้งในและนอกประเทศเห็นตรง กันว่า  ถูกบดบังละเลยด้วยสัญญาทางธุรกิจและเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว

หลวง จีนเต๋อเจี้ยนแสวงหาความวิเวก ขณะที่คลื่นนักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้น ทศวรรษ 1990 หลวงจีนอาวุโสในวัดผู้กล้ำกลืนกับการขยายตัวของพุทธพาณิชย์ในเส้าหลิน ต่างสนับสนุนหลวงจีนเต๋อเจี้ยนให้ใช้วัดเก่าบนยอดเขาสูงให้เป็นสำนักสงฆ์ เพื่อปฏิบัติฉาน-อู่-อี

ระหว่าง ที่ผมไปเยือนวัดของท่าน หลวงจีนเต๋อเจี้ยนอธิบายให้ผมฟังเกี่ยวกับหัวใจของวิชากังฟูเส้าหลินว่า แก่นแท้ของกังฟูคือการเปลี่ยนพลังงานให้เป็นพลัง เมื่อไร้ซึ่งคู่ต่อสู้ภายนอก ความอ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ฝึกจะกลายเป็นศัตรูภายใน  “ด้วยเหตุนี้ กังฟูจึงไม่ต่างจากการอบรมบ่มนิสัยดีๆนี่เอง” ท่านย้ำ

ใน เช้าวันสุดท้ายของผมบนยอดเขาซงชาน หลวงจีนเต๋อเจี้ยนพาผมไปชมกุฏิของท่าน เป็นกระท่อมหินหลังเล็กหลังคาทรงโดมตั้งอยู่บนชะง่อนผาชัน จู่ๆโดยไม่บอกไม่กล่าว ท่านก็กระโดดขึ้นไปยืนบนแนวกำแพงเตี้ยๆที่กั้นริมหน้าผา ท่านถามเมื่อเห็นสีหน้าผมว่า “คุณโยมกลัวหรือ กังฟูไม่ใช่แค่การฝึกฝนร่างกาย แต่ยังหมายถึงการควบคุมความกลัวด้วย” ท่านกระโดดสลับเท้าไปมาอย่างนิ่มนวล เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ปล่อยหมัด หมุนตัว แต่ละก้าวห่างจากการพลัดตกจากหน้าผาสูงเสียดฟ้าไม่กี่เซนติเมตร
                 ท่านอธิบายด้วยน้ำเสียงดังกังวานแข่งกับสายลม “เราไม่อาจเอาชนะความตาย” ตามด้วยการเตะเท้าเหนือหุบผาเวิ้งว้าง ทรงตัวด้วยขาอีกข้างที่แข็งแกร่งราวกับต้นไม้ “แต่เราสามารถเอาชนะความกลัวตายได้”

พฤศจิกายน 2553