ผู้เขียน หัวข้อ: โอนสถานีอนามัยให้ท้องถิ่นไม่คืบ ชี้แผนกระจายอำนาจไร้ผล  (อ่าน 932 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โอนสถานีอนามัยให้ท้องถิ่นไม่คืบ ชี้แผนกระจายอำนาจไร้ผล

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   14 มกราคม 2556 16:50 น.   

       ศึกษาพบกระจายอำนาจด้านสุขภาพลง อปท. ทำได้แค่ถ่ายโอนสถานีอนามัย 39 แห่ง คิดเป็น 0.4% ของสถานีอนามัยทั้งหมด 9,762 แห่ง สะท้อนแผนกระจายอำนาจฯฉบับ 1-2 ไม่บรรลุผล เล็งออกแผน 3 เน้นสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน แบ่งภารกิจที่ชัดเจนระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น แต่ยังสะดุด หลัง ปธ.อนุฯ กกถ.โยกย้าย ด้าน นายกฯยังเฉยไม่เรียกประชุม-ไม่แต่งตั้ง
       
       วันนี้ (14 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กทม. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษา “โครงการวิจัยประเมินผลแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสุขภาพ” ว่า จากการดำเนินงานตามแผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฉบับที่ 1 พ.ศ.2545-2550 และแผนกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551-2555 พบว่า ความก้าวหน้าในการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปยัง อปท.เฉพาะด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่มีทั้งหมด 103 ภารกิจ สามารถถ่ายโอนได้เพียง 69 ภารกิจ เหลืออีก 34 ภารกิจที่ยังไม่ได้ถ่ายโอน เมื่อสำรวจไปยังการถ่ายโอนสถานีอนามัยทั้งหมด 9,762 แห่งให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการเอง พบว่า มีรอบแรก ปี 2551 มีการถ่ายโอนสถานีอนามัยเพียง 28 แห่ง รอบสอง เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง รวมเป็น 34 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีการถ่ายโอนรวมทั้งสิ้น 39 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.40 ของสถานีอนามัยทั้งหมด
       
       ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้แผนการกระจายอำนาจฯด้านสาธารณสุขไม่ประสบความสำเร็จ คือ 1.กระบวนการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ เมื่อนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนแปลงจึงมีผลต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ที่สำคัญการถ่ายโอนภารกิจยังไม่มีความจริงจัง และมีปัญหาความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากระดับชาติไปยังระดับกระทรวง 2.การทับซ้อนของภารกิจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นที่แบ่งความรับผิดรับชอบกันไม่ชัดเจน จึงทำให้มีการทำงานที่ทับซ้อนทั้งในเชิงพื้นที่ แผนงาน งบประมาณ และเป้าหมายให้บริการ 3.ความไม่พร้อมด้านบุคลากรของ อปท.ในกรณีภารกิจที่ต้องใช้ทักษะสูง นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ยังไม่มีความมั่นใจในการโอนย้ายโดยเฉพาะเรื่องอัตราค่าตอบแทนที่น้อยกว่าเดิม 4.วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร อปท.ในการรักษาความต่อเนื่องของการให้บริการสาธารณะในพื้นที่ และ 5.ความเพียงพอของงบประมาณของ อปท.เพื่อให้ได้มาตรฐานการให้บริการด้านสุขภาพ
       
       “ในเรื่องของการส่งเสริม สุขอนามัย และป้องกัน อปท.ทำได้ดีมีศักยภาพ แต่ส่วนหนึ่งเป็นงานที่มีการดำเนินงานอยู่เดิมในด้านการสุขาภิบาล ส่วนงานรักษาแม้ไม่ได้ประเมินคุณภาพของการรักษาก่อนหรือหลังการกระจายอำนาจ แต่เชื่อว่า ไม่น่ามีความแตกต่างมากนัก ส่วนการประเมินจำนวนการถ่ายโอนสถานีอนามัยและปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงถึงจุดอ่อนในกระบวนการถ่ายโอนตามเป้าหมายของแผน 1 และ 2” ดร.ศุภชัย กล่าว
       
       ดร.ศุภชัย กล่าวด้วยว่า เป็นที่แน่ชัดว่าการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยัง อปท.ไม่สามารถดำเนินการตามแผน 1 และ 2 ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเสนอสำหรับแผน 3 ซึ่งแนวคิดของการจัดทำแผน คือ 1.เน้นหลักการของการสร้างความรับผิดชอบ 2.มีการแบ่งภารกิจที่ชัดเจนระหว่างส่วนกลาง และ อปท.ซึ่งจะนำมาสู่การร่วมรับต้นทุนที่ชัดเจน 3.ใช้แนวคิดประสิทธิภาพและเสมอภาค 4.ต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน 5.มีการกำหนดภารกิจระหว่างท้องถิ่นและกระทรวงสาธารณสุข 6.การทำตามศักยภาพของท้องถิ่นด้วยการมีรูปแบบที่หลากหลาย 7.ต้องมีการประเมินความพร้อมธรรมาภิบาล 8.การสร้างการมีส่วนร่วม โดยการให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และ 9.ต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินผล
       
       ด้านนายณรงค์ เชื้อบุญช่วย สำนักงานคณะกรรมการ กกถ. กล่าวว่า สำหรับแผนการกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 3 คณะกรรมการ กกถ.เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ได้มีการนำเอากลับมาทบทวนใหม่ จนกระทั่งมีการโยกย้ายของประธานอนุกรรมการ กกถ. ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จึงยื่นเรื่องเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกถ. ให้แต่งตั้งประธานคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำแผนกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 3 ขึ้นใหม่ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แววคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งแต่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งมายังไม่เคยประชุมคณะกรรมการ กกถ.เลย