ผู้เขียน หัวข้อ: ลุย..งานคุ้มครองสุขภาพ กับ...เลขาธิการ อย.น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข  (อ่าน 851 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2556 00:00:34 น.
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากที่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งวางขายในท้องตลาด จากการลักลอบผลิต นำเข้า และจำหน่าย แถมยังมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และมัลติมีเดีย โดยมุ่งหวังเพียงส่งเสริมการขายด้วยการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ หลงเชื่อและซื้อไปใช้ จนก่อให้เกิดโทษและได้รับความเสียหายต่อสุขภาพ ต้องสูญเสียทั้งเงินทองและโอกาสในการรักษาสุขภาพของตนอย่างถูกต้อง


 
ในโอกาสที่ ทีมข่าวสาธารณสุข นสพ.บ้านเมือง ได้พูดคุยกับ น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. มีหลายประเด็นที่ท่านได้ถ่ายทอดไว้อย่างน่าสนใจ ถึงแนวทางการทำงานของอย.รับศักราชใหม่ปี 2556 กับการเตรียมความพร้อมในงานคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ รองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำความรู้จักสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

น.พ.บุญชัย อธิบายว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่หลักในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสุขภาพประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งได้แก่ อาหาร ยา ซึ่งมีทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย เช่น น้ำยาล้างพื้น ยาฉีดฆ่าแมลง และยากันยุง วัตถุเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น พวกสารระเหย ฯลฯ รวมทั้งให้การส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง ด้วยข้อมูลวิชาการที่มีหลักฐานเชื่อถือได้และมีความเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัยและสมประโยชน์ ตามวิสัยทัศน์ของ อย. คือ "องค์กรที่เป็นเลิศด้านการคุ้มครอง และส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพปลอดภัย และสมประโยชน์ มุ่งสู่สังคมสุขภาพดี" แนวทางการคุ้มครองสุขภาพประชาชนรับปี 2556

ในปี 2556 นี้ ปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ อาหารและยาจำพวกอาหารเสริมและยาสมุนไพร เนื่องจากพบว่ามีการโฆษณาเกินจริง และมีช่องทางโฆษณาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางหนังสือ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ ฟรีทีวี โดยเฉพาะทางช่องเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียม และทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งพบว่าจะมีการโฆษณาเยอะมาก ส่วนการโฆษณาเครื่องสำอางนั้น น.พ.บุญชัย บอกว่า ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องการผลิตและขายโดยที่ไม่แจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์กับ อย. ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปขายในตลาดล่าง พวกตลาดเคลื่อนที่ ตลาดเร่ หรือตลาดนัด เป็นต้น

ตอนนี้ อย.กำลังเร่งแก้ไขปัญหา การโฆษณาเกินจริงโดยได้เซ็นข้อตกลงร่วมกันกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การขอให้ปิดเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง คาดว่าภายในปี 2556 นี้น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งทาง อย. มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนสามารถร้องเรียนได้หลายช่องทาง โดยทางโทรศัพท์ที่สายด่วน อย. โทร.1556 ทางจดหมายที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข 11004 หรือร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ อย. กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เช่นกัน  การเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

การเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ตามนโยบายของ รมว.กระทรวงสาธารณสุข น.พ.บุญชัย กล่าวว่า เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีการเปิดการค้าเสรี ทำให้มีการไหลเข้ามาของสินค้าจากประเทศในอาเซียนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ในการเตรียมความพร้อมของทาง อย.ก็จะมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การเข้าไปร่วมกับประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ในการกำหนดกฎหมาย กฎระเบียบในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ กฎระเบียบในการที่จะระบุเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน ให้มีความเข้าใจกับคำว่า "คุณภาพและความปลอดภัย" ที่ตรงกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานของอาเซียน ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งในประเทศไทยและในอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

นอกจากนี้ อย.ยังต้องช่วยในเรื่องของการเตรียมความพร้อมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ หรือที่ผลิตในชุมชนขนาดเล็ก ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และยังมีเรื่องของการเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกสู่ท้องตลาดและเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยจะสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ ถ้าพบว่ามีปัญหาก็จะทำการยึด อายัด ทำลาย และดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนอีกภารกิจสำคัญที่ อย.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็คือ การกำหนดให้มีจุดตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ในด่านสำคัญๆ ทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งมีประมาณ 40 จุด โดยขณะนี้กำลังพยายามพัฒนาด่านเหล่านี้ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบไอที ช่วยให้การตรวจสินค้าและการปล่อยสินค้ามีความรวดเร็วขึ้น เกิดประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการที่จะนำเข้าสินค้า

น.พ.บุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ทาง อย.ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน โดยทาง อย.จะนำเอาเรื่องของ GMP เข้าไปใช้กับผู้ประกอบการ ให้เข้าใจในเรื่องของกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านสถานที่ผลิต ขั้นตอนกระบวนการผลิต และวัตถุดิบต่างๆ เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือและช่วยยกระดับผู้ประกอบการ โดยจะมีการจูงใจด้วยการให้เลขสารระบบกับผู้ประกอบการด้วย เพราะสินค้าโอท็อปเหล่านี้ต้องนำออกไปขายภายนอกชุมชนและต่างประเทศ ปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญในการทำงานของ อย.

เรื่องของกำลังคนถือว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญในการทำงานคุ้มครองสุขภาพประชาชนของ อย. เพราะ อย.มีกำลังคนน้อย มีเจ้าหน้าที่แค่ 700-800 คน ที่เป็นข้าราชการ นอกนั้นเป็นลูกจ้างแบบจ้างเหมา ในขณะที่ปริมาณงาน ปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพ การซื้อ-ขายของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นทุกวัน น.พ.บุญชัย กล่าวและอธิบายว่า งานของ อย.จะเป็นงานทางด้านการตรวจทะเบียน ต้องใช้คนที่เป็นมืออาชีพ และบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ข้าราชการเป็นผู้ทำ ไม่สามารถให้ลูกจ้างทำได้ อัตรากำลังคนของ อย. ที่จะดูแลผลิตภัณฑ์หลังจากออกสู่ท้องตลาดจึงไม่เพียงพอ แม้จะมีการกระจายงานบางอย่างไปให้ทางจังหวัด และหารูปแบบใหม่ๆ ในการทำงาน เช่น การจ้างหน่วยงานหรือบริษัทนอกมาช่วยงาน แต่ก็ช่วยได้ไม่มากเท่าที่ควร เพราะติดในเรื่องข้อบังคับทางกฎหมาย ทุกวันนี้ก็ถูกทางภาคธุรกิจบางหน่วยที่ไม่เข้าใจสภาพปัญหาต่อว่า ว่าทำงานล่าช้า ซึ่งตรงนี้ก็พยายามหาทางแก้ไขด้วยหลายๆ วิธี ทั้งการลดงาน ลดขั้นตอนลง แต่สุดท้ายก็ยังขาดกำลังคนอยู่ดี ซึ่งนักวิชาการได้เข้ามาทำการศึกษาแล้วว่า อย. ต้องการคนอีกประมาณ 200-400 คน ที่จะทำให้ครบและครอบคลุมกับงานที่ดูแลทั้งหมดได้ ของขวัญปีใหม่ 2556 ที่จะมอบให้ประชาชน

สำหรับของขวัญปีใหม่ ปี 2556 ที่เลขาธิการ อย.ได้มอบให้ประชาชน แทนความห่วงใย คือข้อแนะนำในการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย ได้แก่ 1.ไม่หลงเชื่อง่ายกับคำโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง 2.เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือแหล่งที่เราคุ้นเคย ถ้าไม่รู้จักไม่คุ้นเคยไม่ควรซื้อ 3.ตรวจดูฉลากสินค้าให้ดีก่อนซื้อ โดยเฉพาะวันผลิต วันหมดอายุ ผู้ผลิต รวมถึงดูเครื่องหมาย อย.ด้วย 4.ติดอาวุธความรู้ให้ตัวเอง สนใจศึกษาหาข้อมูลเรื่องของผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสม่ำเสมอ