ผู้เขียน หัวข้อ: สสจ.ภูเก็ตผลักดันสถานีอนามัยรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร  (อ่าน 968 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   10 มกราคม 2556 10:47 น.   

   


       ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เดินหน้าขับเคลื่อนรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรในบัญชีหลักแห่งชาติ ดึงสถานีอนามัยเข้าร่วม เน้นการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคกล้ามเนื้อ และโครงสร้าง



       นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการพัฒนาส่งเสริมเรื่องการรักษาโรคด้วยสมุนไพร ว่า ขณะนี้ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการ เรื่องการรักษาโรคด้วยสมุนไพร เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรในบัญชีหลักแห่งชาติ โดยเน้นการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคกล้ามเนื้อและโครงสร้างขึ้น โดยมีนายแพทย์ฉัตรชัย สวัสดิไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลพระปกเกล้า มาให้ความรู้แก่แพทย์ เภสัชกร พยาบาล พยาบาลเวชปฏิบัติ แพทย์แผนไทย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเข้าร่วมประมาณ 50 คน

       สำหรับปีงบประมาณ 2556 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้กำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับการบริการแพทย์แผนไทยว่า ร้อยละ 14 ของผู้ป่วยนอกได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน และมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จึงได้จัดทำ CPG หรือแนวทางเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทยในโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้าง จึงได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรในบัญชีหลักแห่งชาติ โดยเน้นการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคกล้ามเนื้อและโครงสร้าง



       นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะพึ่งพายาแผนปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละปีจะมีมูลค่าค่อนข้างมาก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อลดการใช้ยา และมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น สำหรับจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาการใช้สมุนไพรให้ครอบคลุม ภายใต้เป้าหมายหลักคิดที่ว่า เมื่อผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาลเน้นรักษาแบบแพทย์ตะวันตก ใช้ยารักษาแผนปัจจุบัน แต่กรณีของสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์ คือ สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นจุดที่จะสามารถพัฒนาแพทย์แผนไทยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นการทำให้สถานีอนามัยมีคุณค่าในการให้บริการผู้ป่วย และในอนาคต อาจจะมีผู้ที่สนใจที่จะรับการรักษาแบบแพทย์แผนไทยที่สถานีอนามัยมากขึ้น เพราะมีบริการที่ครบวงจร และมีมาตรฐาน



       “อย่างไรก็ตาม จะเน้นให้สถานีอนามัยทุกแห่งขับเคลื่อนการใช้ยาสมุนไพรตามนโยบาย ซึ่งมีบัญชีรายการยากว่า 20 ชนิด ตามกรอบของกระทรวง และในโรงพยาบาลของรัฐก็มีแผนกแพทย์แผนไทยที่ให้บริการประชาชน ทั้งเรื่องของยาสมุนไพร และการนวดประคบ เพียงแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้ป่วยมากนัก เพราะส่วนใหญ่เน้นการรักษาตามแผนปัจจุบัน แม้ว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น คนไข้ติดเชื้อไวรัส ไวรัสลงตับ มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งบางคนรักษาหายได้ หรืออาการดีขึ้นจากการใช้ยาสมุนไพร จึงถือได้ว่ายาสมุนไพรจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคได้ในอนาคต” นายแพทย์บัญชากล่าว