ผู้เขียน หัวข้อ: 'โลกป่วย คนป่วน'--อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา(กรุงเทพธุรกิจ)  (อ่าน 1738 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ต้นปีภัยแล้ง อีกไม่กี่เดือนน้ำท่วมอีสานลามมาถึงภาคกลาง ก่อนไปจมภาคใต้ ปลายปียังมีภัยหนาว นี่คือสัญญาณของโลกป่วยหรือคนต่างหากที่เป็นตัวป่วน

ทศวรรษที่ผ่านมาดูเหมือน ว่าวาทกรรมเรื่องโลกร้อนจะประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในการสร้าง "แพะ" ผู้รับผิดชอบภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งปวง โดยมีฮอลลีวูดรับหน้าที่ฉายภาพอันน่าสะพรึงกลัวออกมาข่มขวัญมวลมนุษยชาติ อย่างต่อเนื่อง


 แต่ถ้าถามถึงความตื่นตัวของคนไทยแล้ว คงไม่มีอะไรน่ากังวลเท่ากับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของ ประเทศ ก่อนจะซ้ำเติมด้วยภัยหนาวที่คาดว่าจะหนักหนากว่าทุกปี

 หลายคนอาจสงสัยว่า "เรากำลังเผชิญหน้ากับหายนภัยชนิดไหนกันแน่" บางคนฟันธงว่าโลกกำลังจะเอาคืนมนุษยชาติอย่างที่ เจมส์ เลิฟล็อก นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผู้โด่งดัง เขียนไว้ใน 'The Revenge of Gaia  เมื่อโลกเอาคืน' ..."หากเราไม่ใส่ใจดูแลรักษาโลก โลกก็จะหันมาจัดการดูแลตัวเอง และเมื่อถึงจุดนั้นโลกก็จะทำลายล้างผู้ก่อความเสียหายให้นั่นเอง"

 ทว่าในบรรดาข้อสันนิษฐานทั้งหลาย มีข้อสังเกตเรื่องวิธีคิดและการรับมือแบบไทยๆ เป็นหนึ่งในปัญหาคาใจด้วย
 เรื่องนี้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ถูกตั้งคำถามมากที่สุดในช่วงนี้ มีทั้ง "คำตอบ" และ "คำเตือน" ถึงมหันตภัยที่คนไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาหรือเปล่าคะ

 เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่ความเสียหายก็ถือว่ามาก แต่ถ้าเรามาดูต้นเหตุของปัญหาที่มาจากด้านกายภาพภายนอก คือตัวสภาพอากาศหรืออะไรก็แล้วแต่ มันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงความถี่ ช่วงเวลาหรือสถานที่ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง เป็นต้นว่าฝนตกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 - 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ปริมาณฝนขนาดนี้ก็ไม่ได้แปลกมาก ไม่ถึงขนาดว่าไม่เคยมีมาก่อน แต่มันเป็นฝนมรสุมที่ไปตกแถวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม่เคยมีอย่างนี้มานานแล้ว เพราะฉะนั้นปัจจัยจากภายนอกก็มีส่วนแต่ไม่มาก

 ส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากก็คือวิธีในการรับมือของเรา หรือความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาพวกนี้มีน้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเจอ หรือเคยเจอเมื่อนานมาแล้วลืมไปแล้ว คนไทยส่วนใหญ่เมมโมรีสั้น อะไรเกินสี่ห้าปีนี่ลืมแล้ว เพราะพอผ่านไปเกินกว่านั้น เรามักจะถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องคำนึง เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ความตระหนักในเรื่องนี้มันต่อเนื่อง มีการฝึกซ้อม มีการกระตุ้นให้มันเข้มข้น ผมเชื่อว่าจะทำให้ลืมช้าลงนิดหน่อย ซึ่งก็จะช่วยได้ แต่เรามักเห่อกันอยู่เฉพาะในช่วงเหตุการณ์นั่นแหละ

 อย่างเรื่องสึนามิเป็นตัวอย่างนะครับ ตอนนี้ไม่มีใครดูเรื่องสึนามิ แล้วถ้าเผื่อใครไปทำตรงนี้ ถ้าจะหาทุนมารณรงค์ แหล่งทุนก็บอก โห...คุณจะมาทำเรื่องสึนามิตอนนี้หรอ ไม่มีสปอนเซอร์ ทำขึ้นมาก็ไม่มีคนฟัง ก็เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่ตลอดเวลานะครับ แล้วถ้าเกิดพรุ่งนี้สึนามิมา...เอาอีกแล้ว ถึงบอกว่ามันต้องไปแก้เรื่องการให้ความรู้ให้ความตระหนักก่อน ไม่ใช่เราไม่มีเงินนะ เงินจำนวนเท่ากันนี้ ถ้าเราเอาไปกระจายให้ดี ถูกกว่าด้วยซ้ำ ดีกว่ามาโหมเอาตอนนี้ เงินมันซ้ำซ้อนกัน ผมว่าเรื่องแรกเป็นเรื่องของความตระหนัก ความพร้อมเราไม่ค่อยมี

 อย่างที่สองคือทิศทางการพัฒนา เราไม่ค่อยเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็น ไม่ค่อยเอาเรื่องภัยพิบัติมาเป็นประเด็นในการพัฒนาเลย เรามักจะมองว่าทำอย่างไรให้ถูกที่สุด เร็วที่สุด นั่นคือเงื่อนไขในการพัฒนาเมือง พัฒนาฐานการผลิต พัฒนาอะไรต่างๆ แต่เรามักจะไม่ค่อยดูว่าความเสี่ยงของการเกิดเรื่องแบบนี้เป็นอย่างไร เราถึงคิดว่ามันยังไม่เสี่ยง หรือมีอะไรเกิดขึ้นก็ค่อยมาแก้เอาแบบนี้ เอาตัวรอดไปครั้งนึง เพราะหวังว่ามันไม่เกิดบ่อย คือถ้าเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดสิบปีครั้งสิบห้าปีครั้ง ผมว่าวิธีการแบบนี้ก็ยังพอใช้ได้ แต่ถ้าเกิดมันเกิดขึ้นสามปีครั้งสี่ปีครั้งแบบนี้ผมว่ามันไม่ไหว เพราะฉะนั้นเราต้องมานั่งคิดว่า ตอนนี้ความเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดซ้ำเป็นอย่างไร

แล้วความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำมีมากน้อยแค่ไหน

 ถ้าเราเชื่อในระดับหนึ่งว่าปรากฎการณ์ลานีญา (La Nina) มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ อย่างน้อยๆ ในช่วงปลายปีนี้ ช่วงกรกฎา-สิงหาเป็นต้นมานะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฝนมรสุมที่มีเยอะ หรือว่าอากาศที่เริ่มเย็นมากกว่าปกติในปีนี้ เชื่อมโยงกับเรื่องลานีญา มีโอกาสเป็นไปได้ว่าในช่วง 10 - 20 ปีข้างหน้านี้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้น เพราะดูจาก

สถานการณ์ที่ผ่านมา 5 - 6 ปี เราเริ่มเห็นทิศทางที่อาจจะชัดเจนมาก ดูเหมือนลานีญาจะมาถี่ขึ้น อันนี้ยังไม่เกี่ยวกับโลกร้อนนะ มันเป็นวงรอบตามธรรมชาติของมัน และถ้ามันเกิดถี่ขึ้นจริง กระบวนการแบบเดิมๆ ก็อาจจะใช้ไม่ได้

 การเกิดลานีญาถี่ๆ 2 - 3 ปีมีครั้งในอดีตก็เคยเกิด แต่เป็นอดีตที่นานมากแล้ว สัก 50-60 ปีมาแล้ว แต่สมัยก่อนคนไทยเรามีไม่ถึง 20 ล้านคน เงื่อนไขการใช้ทรัพยากรต่างๆ มันต่างจากเดี๋ยวนี้มาก เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนใช้แบบวิธีแบบเดี๋ยวนี้ยังพอใช้ได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้วิธีตั้งรับแบบเดิมโดยที่เรามีประชากร 70 กว่าล้านคน มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น มีความซับซ้อนในเรื่องทางสังคมมากขึ้น ผมว่ามันไม่เพียงพอครับ

จากข้อมูลที่มีอยู่คาดการณ์ได้ไหมคะว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเราหลังจากนี้

 เวลาพูดถึงภูมิอากาศ ทศวรรษเดียวอาจจะสั้นไป เอาสัก 2-3 ทศวรรษที่จะมาถึงนี้ เราอาจจะเห็นสภาพที่น้ำค่อนข้างมากนะครับ อากาศค่อนข้างเย็นกว่าปกติ เมื่อเทียบกับ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาถ้าคุณไปดูข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จะเห็นข่าวภัยแล้งเป็น อันดับ 1 น้ำท่วมนานๆ มีที แต่ภัยแล้งนี่มีเยอะมาก คือเกือบทุกปี แล้วพอมันเป็นอย่างนั้น ระบบต่างๆ ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจึงถูกออกแบบให้รับแล้งมากกว่า ซึ่งถ้าให้คะแนนกันระหว่างการรับภัยแล้งกับน้ำท่วม ภัยแล้งได้คะแนนดีกว่าแน่นอน เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดบ่อย

 อีกอย่างดูเหมือนกับว่าความแห้งแล้งเป็นไปในทิศทางโลกร้อนเหมือนกัน มันมีความรู้สึกในเชิงจิตวิทยาว่าโลกร้อนก็ต้องแล้ง แต่คราวนี้ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ถ้ามันพลิกกับมาเป็นเรื่องน้ำมากและเย็น อาจจะเริ่มขัดๆ กันว่า เฮ้ย! ไหนบอกโลกร้อนไง แต่ปีนี้ทำไมมันหนาว คือคำว่าโลกร้อนเนี่ยเหมือนดาบสองคม พอมีคำว่าร้อนอยู่คนก็คิดว่ามันต้องร้อน ไม่คิดว่าโลกร้อนมันอาจจะเย็นก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มันอาจจะไม่เกี่ยวกับโลกร้อน แต่มันก็เป็นความแปรปรวน โลกร้อนอาจจะเสริมเข้าไป ทำให้บางที่เย็นกว่าปกติ หรือบางที่ร้อนกว่าปกติ ส่วนที่ที่มีฝนมากก็มากเข้าไปอีก

 แต่ทุกวันนี้เวลาเกิดภัยธรรมชาติคนทั่วไปมักเชื่อว่ามาจากภาวะโลกร้อน?

 ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ในปีนี้ อาจจะยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ทันทีว่ามาจากปัญหาโลกร้อน ผมว่าตอนนี้ปัญหาข้อจำกัดมันอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจ งานวิจัย คือจะตอบให้เกี่ยวมันก็เกี่ยวได้ พวกนี้เอาทฤษฎีมาโยงได้หมดแหละ แต่ว่าพอโยงเสร็จแล้วต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยการไปเก็บข้อมูลจริง มีการศึกษา แต่ว่าเราไม่มีตรงนั้นไง ถ้าโยงในทางทฤษฎีมันก็ได้ในระดับหนึ่ง คือมีความเป็นไปได้ แต่ก็มีบ้างเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันแน่นอน โยงยังไงก็โยงไม่ได้ เช่น เรื่องภูเขาไฟระเบิด หรือว่าเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง ระดับน้ำที่มันสูง วงรอบต่างๆ ที่มาจากดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อิทธิพลจากดาราศาสตร์ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง

อนาคตหากเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอีก อาจารย์ประเมินความพร้อมในการรับมือไว้แค่ไหน

 คุณดูว่าปีนี้รับได้ไหม ปีนี้เป็นบทพิสูจน์ของเราเลย ซึ่งผมมองว่ามันยังไม่พร้อม แต่ถ้าถามว่ายังมีโอกาสพัฒนาได้ไหม โดยไม่ต้องทำอะไรมาก อย่างน้อยๆ ต้องลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องข้อมูล เรื่องความรู้ ให้มันกระจายไปในท้องถิ่น ส่วนในระดับบน ระดับวิชาการ ระดับองค์ความรู้ ข้อมูล ให้มันเชื่อมโยงกันให้ได้ ไม่ใช่หมายความว่าเราต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศหรือเป็น ฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว มีเอกภาพ อะไรอย่างนี้นะ

 ผมกลัวมากเลยไอ้ความเป็นเอกภาพ เพราะตอนนี้การบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติมันต้องใช้หลักการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่การจัดการความแม่นยำ ถ้าเกิดคุณไปเน้นเรื่องความแม่นยำเมื่อไหร่ มันจะทำให้คุณ input ตัวเองไปในจุดที่เสี่ยง เพราะถ้าเราพูดว่ามันแม่น เกิดไม่แม่นจะซวยเลย แต่ถ้าเรารับสภาพว่า เฮ้ย...มันไม่แม่น ห้าหน่วยงานบอกมาต่างกันขนาดนี้เลย ความคิดผมนะต่างกันเยอะๆ ยิ่งดี เพราะว่าอย่างน้อยๆ การเตรียมพร้อมในช่วงกว้าง คือจะมาน้อยมามากรับได้หมด แต่ถ้าคุณเรียกร้องให้แม่นเนี่ยน่ากลัว เพราะว่าผิดแน่นอน

 เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวเรื่องความไม่ลงรอย ตอนผมไปนั่งประชุมที่ทำเนียบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานกลัวกันมาก สำหรับผมข้อมูลความรู้ไม่จำเป็นต้องมีเอกภาพ แต่การตัดสินใจต้องมีเอกภาพ

เรื่องการเตือนภัยก็มีข้อบกพร่องเยอะเหมือนกัน?

  ผมคิดว่าก่อนอื่นเราต้องไปสร้างขีดความสามารถที่ปลายทาง แปลผลตรงนั้น พยากรณ์ตรงนั้น เตือนตรงนั้น การเตือนที่ปลายทางดีกว่าการเตือนที่ต้นทาง เพราะถ้าคุณเตือนผิด คนที่เตือนผิดจะมาด่าเดี๋ยวนั้นเลย แต่เราต้องไปสร้างขีดความสามารถที่ปลายทางให้ได้ เรื่องการถ่ายทอดความรู้ตรงนี้สำคัญ ความรู้ไม่ใช่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไกลตัวคน บางอันอาจใช้ empirical เช่น มดมันคาบไข่ขึ้นมาตรงนั้นแล้วฝนจะตก อธิบายไม่ได้หรอกแต่มันเวิร์กก็ใช้ไปก่อน เราต้องพยายามเอามาโยงใช้ประโยชน์ให้ได้บ้าง แต่ตอนนี้ทุกคนไม่มองสิ่งรอบตัวเลย จะฟังวิทยุโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์นิดหน่อย เป็นช่องทางเดียวแล้วเดี๋ยวนี้ แทนที่จะคอยฟังว่าวันนี้ฝนจะตกรึเปล่า ก็ออกไปชะโงกหน้าต่างดูว่าฝนตกรึเปล่า ถ้าสังคมไปติดอยู่กับตรงนี้มากเกินไปจะลำบาก

แล้วทัศนคติของคนมีปัญหาไหม

  มี คือที่ผ่านมาเรานึกเอาเองว่าอยู่กรุงเทพฯ ต้องแห้ง ที่มันแย่คือเงื่อนไขทางธรรมชาติกับเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมา พอมาถึงจุดหนึ่งเราจะไปไม่ไหว คนที่อายุน้อยว่าสามสิบปีที่ไม่เคยเห็นภาพกรุงเทพน้ำท่วมก็รู้สึกอีกอย่าง หนึ่ง ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนหกสิบเจ็ดสิบปีที่แล้วที่น้ำท่วมปีเว้นปีเลย ก็จะรู้สึกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมามันก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้จัดการเรื่องนี้ได้ดีขึ้น อย่างกรุงเทพฯ คงต้องปล่อยไปแล้ว มันมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปได้ แต่มันมีเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองที่เข้าคิวรอจะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ
 ถ้าเกิดเมืองในประเทศไทยเป็นเหมือนกรุงเทพฯ หมดคงไม่ไหว การลงทุนตรงนี้จะมหาศาลมาก เพราะว่า

ถ้าเราออกแบบเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องปริมาณน้ำ ในที่สุดน้ำมันก็จะย้อนกลับมาหาเราอยู่ดี คือเราสามารถจัดการให้เราอยู่กับน้ำได้ แต่ตอนนี้เราผลักให้การจัดการน้ำเป็นของหน่วยงานรัฐเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีระบบเอกชนหรือให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถทำให้เป็นธุรกิจที่มีรายได้ ตรงนั้นจะทำให้น้ำที่ไม่มีประโยชน์ที่ต้องปัดทิ้งลงทะเลมีมูลค่าขึ้นมา พอน้ำมีมูลค่าก็จะมีคนสนใจลงทุน

นอกจากการตั้งรับแล้ว อาจารย์คิดอย่างไรกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมธรรมชาติ

 บางเรื่องมันอาจจะทำได้ แต่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวมันทำไม่ได้ อย่างเรื่องพายุในทางทฤษฎี ถ้าผมมีเครื่องบินสักลำหนึ่ง แล้วมีพายุใหญ่มา ผมก็ทิ้งระเบิดที่มีความเย็นมากๆ ลงไปคุณก็สลายพายุได้ หลักการไม่ได้ไฮเทคอะไร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งเรื่องการสลายพายุ หรือการสลายฝนที่จีนเขาก็ใช้นะในโอลิมปิก อาจจะได้ประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าได้ผล ตอนนี้บางเรื่องมันมีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าคุ้มขนาดไหน ต้องจัดการให้ดี เทคโนโลยีถ้าใช้มากเกินไปมันก็เป็นอันตราย

 เพราะฉะนั้นผมมองว่าเราน่าจะใช้เทคโนโลยีไปทำให้คนมีความเข้มแข็งใน ระดับปลายทางดีกว่า เพราะต้นทางถ้าทำให้คนมายึดติดตรงนี้มากไป จะทำให้คนที่คุมตรงนี้ชี้ทางได้เลยว่าจะให้ฝนไปตกที่ไหน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการคุมแบบนี้ มันจะนำไปสู่ปัญหาเชิงสังคมอีกมาก ตอนนี้มีคนไม่กี่คนที่จะตัดสินใจว่าให้กรุงเทพน้ำท่วมหรือไม่ท่วม มันก็ทำให้คนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว

ในมุมกลับอาจจะอันตรายมากกว่า?

 ในภาพรวมผมว่ามันจะทำให้สถานการณ์เปราะบางมากขึ้น ถ้าให้เลือกระหว่างมีเทคโนโลยีคุมที่ต้นทางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กับไม่มีเทคโนโลยีเลย แล้วปล่อยไปตามบุญตามกรรม อย่างหลังอาจจะดีกว่า เพราะคนเราจะหาทางเอาตัวรอดของตัวเองอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต นั่นคือทุกคนจะมีวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง แล้ววิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะไปช่วยส่งเสริมกัน แต่ไม่ใช่คอนเซ็ปต์แบบท็อปดาวน์นะ
 
สำหรับเมืองไทยนอกจากปัญหาเรื่องการจัดการแล้ว มีอะไรที่ต้องกังวลอีกบ้าง

 ปัญหาเรื่องชายฝั่ง ระยะเวลาไม่นานหรอก ยี่สิบปี สามสิบปีก็เห็นแล้ว มันจะทำให้การบริหารการจัดการยุ่งยากมากขึ้น เพราะเรามีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดินในอัตราที่สูงมาก ตอนนี้เรามีนักวิจัยโดยเฉพาะเลยนะที่ใช้ดาวเทียมเรดาห์ดูว่าเป็นอย่างไร พบว่ามันทรุดตัว 2-3 เซนติเมตรต่อปี 10 ปีก็หนึ่งฟุต 20 ปี ก็ 2 ฟุต 30 ปีก็หนึ่งเมตร บวกเรื่องน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทุกปี มันยากที่จะจัดการ บางคนบอกว่าไม่เป็นไรหรอกแค่กั้นกำแพง แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น

หลายปีก่อนอาจารย์เคยบอกว่าโลกยังไม่ป่วย ตอนนี้ถือว่าอาการแย่ลงไหมคะ

 ตอนนี้จะเรียกว่าป่วยก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าป่วย ความหมายคือผิดปกติไปจากเดิม แล้วเราพยายามดึงมันกลับมาให้เหมือนเดิม แต่ตอนนี้โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปอีกสถานภาพหนึ่ง สำหรับตัวโลกเองมันไม่ได้เดือดร้อนอะไรหรอก ที่เดือดร้อนจริงๆ คือมนุษย์ โลกก็มีวิวัฒนาการของมันไป จริงๆ บรรยากาศรอบโลกเป็นส่วนนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมาแล้วทำให้มนุษย์ทั้งโลกตายเรียบไปเลยนะ 7 พันล้านคน โลกใช้เวลาอีกไม่เกิน...ระดับเป็นหมื่นปีเท่านั้นเองมันก็กลับมาได้

เพราะตัวปัญหาจริงๆ ก็คือมนุษย์?

 อันนี้แน่นอน ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องทำวิจัย แต่ตอนนี้เรากำลังจะดูว่าจะทำได้อย่างไรโดยที่ไม่เอาตัวปัญหา 7 พันล้านคนออกไป แถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก คือตอนนี้โจทย์ที่ตั้งกันอยู่นี่จะเอาทุกอย่างเลย ผมมองว่าป็นโจทย์ที่หาคำตอบไม่ได้ สำหรับผมเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะอีกไม่กี่ร้อยปีก็หมด ปัญหาเรื่องโลกร้อนเดี๋ยวมันแก้ของมันเอง ในระยะยาวผมไม่ได้แคร์หรอก ร้อยกว่าปีก็แค่ 2 เจเนอเรชั่นเอง แต่ผมสนใจประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา เช่นเรื่องคุณภาพดิน พวกนี้อันตรายมาก เพราะดินถ้ามันเสื่อมสภาพไปแล้ว แก้ยาก นับหมื่นปี นับแสนปี ในการจะฟื้นสภาพมัน เค็มแล้วมันเค็มเลย กว่าจะจืดใหม่ใช้เวลานานกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเยอะ

เหมือนเรากำลังโฟกัสผิดจุด?

 เรามักจะมองอะไรที่มันใกล้ตัว แต่แค่มองเรื่องโลกร้อนก็นับว่าดีขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว เป็นการมองที่ระดับร้อยสองร้อยปี เมื่อก่อนมองแค่วันต่อวัน เราขยับจากมองวันต่อวันมาเป็นระดับร้อยปีถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล แล้ว ทุกอย่างมันต้องมีกระบวนการของมันไป แล้วก็ต้องมีการเจ็บตัวบ้าง แต่การเจ็บตัวที่ดีควรเป็นการเจ็บตัวโดยสมัครใจ ถือเป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องแชร์กัน

9 พฤศจิกายน 2553