ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ธ.ค.2555  (อ่าน 1094 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ธ.ค.2555
« เมื่อ: 06 มกราคม 2013, 21:36:07 »
  1. นักข่าวทำเนียบฯ ตั้งฉายารัฐบาล “พี่คนแรก” ขณะที่นายกฯ ได้ฉายา “ปูกรรเชียง” ส่วนณัฐวุฒิ “ไหร่เทียม”!

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาจากนักข่าวทำเนียบรัฐบาลว่า ปูกรรเชียง
       เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ประชุมและตั้งฉายารัฐบาล ฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 10 คน พร้อมด้วยวาทะแห่งปี ประจำปี 2555 สำหรับฉายาที่รัฐบาลได้รับ ก็คือ “พี่คนแรก” ซึ่งล้อมาจากนโยบายของรัฐบาล เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก ส่วนที่ได้ฉายาพี่คนแรก เพราะการบริหารงานของรัฐบาลมีเงาของพี่ชาย พี่สาวพาดผ่านเข้ามา ขณะที่ปัญหาต่างๆ ก็มาจากเรื่องของพี่ ทั้งปัญหาบ้านเมือง ข้าวของแพง ข้อครหาทุจริต เรียกได้ว่าเอะอะไรก็พี่ เรื่องของพี่ต้องมาก่อน ต้องมาเป็นอันดับแรก
       
       ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “ปูกรรเชียง” ซึ่งล้อมาจากชื่อเล่นของนายกฯ คือ “ปู” เหตุที่ได้ฉายดังกล่าว เพราะในการบริหารงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องแบกรับภาระและใบสั่งจากพี่ชาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และพี่สาว(เจ๊ ด.) ขณะที่คนรอบข้างก็คอยลากไปลากมา ทำงานไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้แต่เดินโชว์ไปโชว์มา เมื่อมีปัญหาทางการเมือง มักจะตีกรรเชียง ลอยตัวหนีปัญหา
       
       สำหรับฉายารัฐมนตรีอีก 9 คน ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “กันชนตระกูลชิน” เพราะเป็นบอดี้การ์ดคอยปกป้องนายกรัฐมนตรี และนายใหญ่ โดยเฉพาะคนตระกูลชินวัตรทุกรูปแบบ ทั้งงานในสภาและม็อบต้านรัฐบาล เดินหน้าชนทุกเรื่อง แต่กลัวการลงไปแก้ปัญหาภาคใต้
       
       นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฉายา “ลูกไก่ไวท์ไล” เพราะเป็นถึงรองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ แต่กลับดิสเครดิตตัวเองจากกรณีโกหกสีขาว คือ การตั้งเป้าทางเศรษฐกิจเกินจริง จนถูกตราหน้าว่าขี้โกหก เป็นเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ
       
       พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฉายา “ตามล่าหน้าหล่อ” เพราะมีตำแหน่งใหญ่โต แต่กลับไม่มีผลงานโดดเด่นด้านความมั่นคง ผลงานที่ประจักษ์อย่างเดียวคือ การไล่ล่าอดีตนายกฯ หน้าหล่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อถอดยศ กรณีหนีการเกณฑ์ทหาร
       
       นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ฉายา “ไพร่เทียม” เพราะเป็นโควตาหนึ่งเดียวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ได้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ก็ยังได้เป็นรัฐมนตรี แต่ผลงานไม่เด่นชัด ที่ชัดเจนมีแค่การพูดเก่ง ดีแต่ปาก เมื่อมาเป็นรัฐมนตรี กลับใช้ชีวิตในลักษณะอำมาตย์ ไม่ต่างจากคำว่าไพร่เทียม
       
       นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ฉายา “บุญทรุด” เพราะเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายหลักของรัฐบาล คือ รับจำนำข้าว แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง แต่กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าแก้ไม่ได้ แทนที่จะเป็นผลงาน กลับเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี ขณะเดียวกันถูกมองว่า ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ได้ เพราะเป็นเด็กเจ๊ ด.
       
       นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ฉายา “ด.ดันดี” เพราะเป็นเด็กเจ๊แดง ผลงานไม่ปรากฏ แต่ไม่เคยถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี แถมล่าสุด ยังได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการเลยทีเดียว เชื่อว่ามีแรงดันดีจากเจ๊ ด.
       
       นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ฉายา “โฟร์แมนสแตนด์บาย” เพราะเป็นรัฐมนตรีน้องใหม่ และเป็นที่คาดหวังของรัฐมนตรีน้ำดี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานสารพัด เป็นคนเก่ง ไฟแรง และประกาศไม่ขอยุ่งการเมือง เร่งผลักดันงานด้านคมนาคม
       
       นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “ปั้นน้ำเป็นทุน” เพราะผลงานโดดเด่นคือ รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เนื่องจากปีนี้น้ำไม่ท่วม และมั่นใจว่าเป็นฝีมือของตนเอง จึงคุยโม้และแอ๊กอาร์ต โดยเฉพาะเมื่อได้รับการเลื่อนชั้นจากรัฐมนตรีขึ้นเป็นรองนายกฯ ที่ได้ดูแลโปรเจ็กต์น้ำมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้าน
       
       นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ฉายา “สิงห์สำรอง” ซึ่งสัญลักษณ์ ของกระทรวงมหาดไทย คือ สิงห์ แต่การเข้ามาทำหน้าที่ของนายจารุพงษ์ ทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกมองว่าเพียงหุ่นเชิด ไม่ใช่ตัวจริง
       
       ส่วนวาทะที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ เลือกให้เป็นวาทะแห่งปี ก็คือ “คำว่าลอยตัวนั้น ต่างกับคำว่าไม่รับผิดชอบ” ซึ่งเป็นคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2555 หลังถูกกล่าวหาเรื่องขาดความรับผิดชอบ ลอยตัวเหนือปัญหา ไม่ชี้แจงประเด็นที่ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะเรื่องรับจำนำข้าว และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
       
       2. นักข่าวรัฐสภา ตั้งฉายาสภา “จองล้างจ้องผลาญ” ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้าน “หล่อ รับ เละ” ด้าน “วิสุทธิ์” คว้าดาวเด่น!

เหตุการณ์ความวุ่นวายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในสภาเมื่อ 31 พ.ค.55 ได้รับเลือกจากนักข่าวสภาว่า เป็นเหตุการณ์แห่งปี
       เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ระดมความคิดเห็นตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อสะท้อนภาพการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในรอบปี 2555 สำหรับฉายาที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับ ก็คือ “จองล้าง...จ้องผลาญ” เนื่องจากภาพรวมการทำงานของสภาฯ ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ต่างเสนอญัตติหรือยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการที่เป็นพรรคพวกเดียวกันตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งตั้งกระทู้ถามสดเพื่อหาข้อผิดพลาดของอีกฝ่าย ซึ่งไม่ต่างกับการจ้องจะล้างแค้นซึ่งกันและกัน ขณะที่ “จ้องผลาญ” คือการผลาญงบประมาณแผ่นดิน เห็นได้จากการที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯ ให้พวกตัวเอง
       
       ส่วนฉายาของวุฒิสภา คือ “ตะแกรงเลือกร่อน” เนื่องจากภาพรวมการทำงานของวุฒิสภาตลอดปีที่ผ่านมา ยังคงมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เห็นได้จากการที่กลุ่ม 40 ส.ว.พุ่งเป้าตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ ส.ว.อีกกลุ่มก็พยายามออกแรงช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ จึงเปรียบเหมือนตะแกรงเลือกร่อนเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา “ค้อนน้อย...หมวกแดง” เพราะนอกจากไม่สามารถแสดงผลงานให้เห็นว่าเป็นขุนค้อนที่น่าเกรงขามเหมือนในอดีตแล้ว ยังมีข้อครหาเรื่องความเป็นกลาง ประกอบกับมีคลิปเสียงที่สร้างความกระฉ่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นได้แค่ค้อนน้อยที่สวมหมวกแดง แทนการสวมหมวกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
       
       ส่วนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้ฉายา “ผลัดไม้สุดท้าย” เนื่องจากได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภามาอย่างเหลือเชื่อ หลัง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ต้องตกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภา จากคดีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง สมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทำให้นายนิคมซึ่งทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ลงท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสภาสูงเป็นครั้งที่ 2 และสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอย
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายา “หล่อ รับ เละ” เนื่องจากตกอยู่ในสภาพต้องคดีทางการเมือง เช่น ถูกดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหาพร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดี 91 ศพ ,ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งถอดยศว่าที่ร้อยตรี จึงเปรียบเหมือนนายอภิสิทธิ์ที่มีหน้าตาหล่อเหลา แต่ถูกมรสุมการเมืองรุมถล่มจนเละ
       
       ส่วนผู้ที่ได้เป็น “ดาวเด่น” คือ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุน ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งได้รับคำชมถึงความเป็นกลางจากพรรคฝ่ายค้าน ด้วยการทำหน้าที่ที่สามารถผ่อนหนักเป็นเบา และกล้าแสดงท่าทีตำหนิ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวกันที่แสดงกิริยาไม่เหมาะสมกลางสภา ขณะที่ “ดาวดับ” ได้แก่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เพราะแทนที่จะใช้สภาแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ กลับแสดงพฤติกรรมที่หยาบคายและก้าวร้าว ทำให้ภาพพจน์ของสภาเสื่อมเสียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
       
       ส่วน “คู่กัดแห่งปี” คือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ VS ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งในอดีตเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิมเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายชูวิทย์ได้เข้าสภาอีกสมัยในนามหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และประกาศตัวชัดเจนว่าจะทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามและโต้เถียงกันในสภาหลายครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ปี 2555 ไม่มีใครได้เป็น “คนดีศรีสภา” เนื่องจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภามองว่า ไม่มีใครแสดงบทบาทคนดีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
       
       สำหรับ “เหตุการณ์แห่งปี” คือ “การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง” ซึ่งถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่น่าจดจำ เพราะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในสภาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ 4 ฉบับ มีสาระสำคัญเพื่อล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ปรากฏว่าได้เกิดกระแสต่อต้านทั้งในและนอกสภา โดยในสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงการคัดค้านถึงขั้นขว้างปาสิ่งของ
       
       ส่วน “วาทะแห่งปี” คือ “เต็มใจเป็นขี้ข้า” ซึ่งเป็นคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่พูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2555 หลังถูกนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายพาดพิงว่าเพิกเฉยการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับเป็นขี้ข้า ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ลุกขึ้นชี้แจงว่า “ผมเป็นขี้ข้า แต่เสียใจหน่อย คุณสาทิตย์รู้ช้า ก็เป็นมานานแล้ว แต่ผมไม่เห็นเสียหายเลย ผมเต็มใจ”
       
       3. “ยิ่งลักษณ์” ชี้ ถ้าประชามติไม่ผ่าน แก้ รธน.รายมาตราได้ รบ.ไม่ต้องรับผิดชอบ พร้อมขีดเส้นได้วิธีแก้ รธน.ก่อน 15 ม.ค.!

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.ชี้ ถ้าทำประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลควรยุติการแก้ รธน.
       ความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ยังไม่ยอมเคาะว่าจะทำประชามติหรือไม่ โดยมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อแล้วเสร็จ ให้สรุปวิธีที่เหมาะสมเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่ในพรรคเพื่อไทยเอง ยังเสียงแตก เพราะมีทั้งคนที่เห็นว่าควรทำประชามติ และคนที่เห็นว่าควรเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ไปเลยโดยไม่ต้องทำประชามติ
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า การที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการทำประชามติ ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้ง พร้อมย้ำว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่แก้เพื่อประชาชน
       
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุม ส.ส.ของพรรคในวันเดียวกัน(25 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าลงมติในวาระ 3 2.เสนอแก้ไขรายมาตรา และ 3.ทำประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้ แต่ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางใด เพราะแต่ละแนวทางก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงอยากรอข้อสรุปของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาศึกษาก่อน จากนั้นจะนำผลสรุปที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมพรรคในการสัมมนาที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค.อีกครั้ง เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550
       
       นายพร้อมพงศ์ ยังเผยด้วยว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราใน 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอแก้ ได้แก่ เรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง พร้อมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองไปอยู่ในแผนกหนึ่งของศาลฎีกา เมื่อมีคดีความต่างๆ ขึ้นสู่ศาลฎีกา สามารถเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษามาทำหน้าที่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น ให้รัฐสภาเป็นผู้สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รวมทั้งเสนอให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
       
       ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. โดยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นบางบอนเรียงมาตรา หรือปฏิญญาเขาใหญ่ ในที่สุดก็ต้องศิโรราบให้ดูไบประกาศิต การแก้ไขเรียงมาตราเป็นวิธีที่หงายไพ่โปร่งใสเปิดเผยว่า ต้องการจะลบล้างมาตรา 309 ใช่หรือไม่ เพื่อต้องการยกเลิกองค์กรอิสระ หรือควบคุมให้อยู่ในอำนาจ
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นเช่นกันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอ ชัดเจนว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพยายามลดอำนาจการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ เพราะรัฐบาลต้องการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องและพยายามเพิ่มอำนาจตัวเอง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขีดเส้นให้พรรคเพื่อไทยสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนวันที่ 15 ม.ค. และว่า ไม่ว่ามติพรรคออกมาทางใด ส.ส.ของพรรคพร้อมปฏิบัติตามมติพรรค เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายที่พรรคได้สัญญาไว้กับประชาชน
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังส่งสัญญาณด้วยว่า รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ หากทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วไม่ผ่าน เพราะมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง รัฐบาลก็กลับไปใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ ไม่ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะการทำประชามติไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แต่เป็นข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า หากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน โดยชี้ว่า ถ้าจะทำประชามติ รัฐบาลก็ควรรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่คอยแต่รับชอบอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน รัฐบาลควรยุติการแก้รัฐธรรมนูญไว้ก่อน นายองอาจ ยังย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมา พฤติกรรมของนายกฯ และคนในรัฐบาลชัดเจนว่าทำเพื่อประโยชน์ของคนบางคน ดังนั้นสิ่งที่นายกฯ บอกว่าไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด
       
       4. ปชป.มีมติส่ง “สุขุมพันธุ์” ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย ด้าน พท.ยังไม่เคาะ รอ 10 ม.ค.!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเปิดตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.(28 ธ.ค.)
       เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้เรียกระชุมกรรมการบริหารพรรค 19 คน เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่เสนอตัวลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 4 คน ที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ,นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตกรรมการบริหารพรรค ,นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และนายอภิชัย เตชะอุบล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ยังได้เสนอชื่อนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย โดยขอให้เป็นทางเลือกอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ หลังใช้เวลาพิจารณานาน 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
       
       นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยเหตุที่คณะกรรมการเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า เนื่องจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม พร้อมเชื่อมั่นว่า นโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์วางไว้ จะสามารถเอาชนะใจคน กทม.ได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งในการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน
       
       ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เตรียมแจ้งข้อกล่าวหากับ 11 ผู้บริหาร กทม.ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค คือการต่อสัญญาให้บริษัท บีทีเอสซี บริหารส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น นายชวนนท์ บอกว่า พรรคได้ประเมินแล้วว่า อาจมีการเดินเรื่องดังกล่าวเพื่อดิสเครดิต ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง แต่พรรคเชื่อว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมชี้แจงทุกประเด็น และมั่นใจว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้
       
       ด้านพรรคเพื่อไทย(พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ได้ออกมาปฏิเสธกรณีมีข่าวว่า แกนนำพรรคและ ส.ส. รวมทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต(ส.ข.) ของพรรค มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยยืนยันว่าไม่จริงแต่อย่างใด และว่า พรรคจะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ในวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน
       
       5. ป.ป.ช. เปิดบัญชีทรัพย์สิน ครม. “ยิ่งลักษณ์ 3” พบ “พงศ์เทพ” รวยสุดเกือบ 3 พันล้าน ขณะที่ “นพ.ชลน่าน” จนสุดแค่ 3 ล้านเศษ!

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวยสุดใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 3
       เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยิ่งลักษณ์ 3 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 23 ราย 24 ตำแหน่ง ซึ่งปรากฏว่า รัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดใน ครม.ชุดนี้ คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีทรัพย์สินกว่า 331 ล้านบาท ส่วนภรรยามีทรัพย์สินกว่า 2,590 ล้านบาท รวมมีทรัพย์สินทั้งสิ้นกว่า 2,921 ล้านบาท ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินรองลงมาคือ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 1,140 ล้านบาท ตามด้วย นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 963 ล้านบาท สำหรับรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินน้อยที่สุด คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินแค่ 3 ล้านกว่าบาทเท่านั้น
       
       ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้แก่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินประมาณ 5 ล้านบาทเศษ ไม่มีหนี้สิน , นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 48 ล้านบาท , นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 963 ล้านบาท , นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 25 ล้านบาท , น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 54 ล้านบาท , นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 17 ล้านบาท , นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 46 ล้านบาท , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 51 ล้านบาท
       
       พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 49 ล้านบาท , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 32 ล้านบาท , นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 842 ล้านบาท , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 17 ล้านบาท , นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 17 ล้านบาท , นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 232 ล้านบาท , นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 83 ล้านบาท , นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 21 ล้านบาท , นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 56 ล้านบาท , นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 12 ล้านบาท และนายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีทรัพยสินมากกว่าหนี้สินกว่า 43 ล้านบาท


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 ธันวาคม 2555