ผู้เขียน หัวข้อ: จีนออกกฎหมายคุ้มครองคนชรา ลูกหลานต้องไปเยี่ยมสม่ำเสมอ  (อ่าน 1212 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ในอนาคตอันใกล้ คนชรา จะกลายเป็น "คนหมู่มาก" ในหลายประเทศกันแล้ว อย่างที่จีน ก็มีรายงานจากสำนักข่าวซินหัว ที่อ้างว่ามีตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ระบุว่า เมื่อสิ้นปี 2553 จีนมีประชากรวัยเกิน 60 ปี อยู่กว่า 184 ล้านคน ขณะที่ หวี เจียนเว่ย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงตัวเลขผู้สูงอายุในจีนภายในปี 2556 ว่า น่าจะมีมากกว่า 200 ล้านคน

และจากการคาดการณ์ของสหประชาชาติก็ว่า ภายในปี 2593 ประชากรสูงวัยอายุกว่า 60 ปีในจีน จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนราว 30% ของประชากรในประเทศ

ดังนั้น เพื่อเป็นการทำอะไรสักอย่างเพื่อดูแลประชากรกลุ่มนี้ รัฐบาลจีนจึงได้ออกกฎหมายระบุให้ สมาชิกในครอบครัวควรจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติที่แก่ชราเป็นประจำ

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลจีน ระบุว่า สภาประชาชนแห่งชาติของจีนได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายใหม่นี้เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยร่างกฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของคนชรา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2556

"สมาชิกครอบครัวที่แยกกันอยู่กับญาติที่ชราภาพ ควรไปเยี่ยมเยียนญาติที่แก่เฒ่าสม่ำเสมอ ส่วนนายจ้างก็ควรให้สิทธิพนักงานลากลับบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกฎหมายนี้" หนึ่งในข้อความที่ระบุในร่างกฎหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในร่างกฎหมายก็ไม่ได้ระบุบทลงโทษว่าผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษอย่างไรบ้าง และไม่ได้ขยายความถึงคำว่า "สม่ำเสมอ" ว่า ต้องไปเดือนละกี่ครั้ง หรือบ่อยขนาดไหน?

แต่ในเนื้อหาได้ระบุว่า หากสิทธิและผลประโยชน์ของคนชราถูกละเมิด ทั้งผู้ชรา หรือผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้แทนของคนชรา สามารถไปร้องขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรม หรือฟ้องศาลได้

นอกจากนั้น เนื้อหาในร่างกฎหมายใหม่นี้ยังครอบคลุมไปถึงปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว และมีการระบุถึงการให้ความดูแลญาติที่ชราภาพทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย เงินทอง รวมทั้งมีบทลงโทษผู้ทำร้ายคนชรา ผู้ที่ไม่ดูแลคนชรา และเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการแต่งงานของคนชราด้วย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายที่มีขึ้นนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่จีนกำลังเผชิญทั้งเรื่องประชากรสูงวัยที่กำลังเพิ่มมากขึ้น หลังจาก 30 ปีที่มีกฎหมายบังคับให้สามีภรรยามีบุตรได้เพียง 1 คน

อีกทั้งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมสมัยนิยม การเติบโตอย่างพุ่งพรวดทางเศรษฐกิจ การเติบโตของเมือง ล้วนส่งผลต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวจีนทั้งสิ้น

ด้านสำนักข่าวซินหัวได้พูดถึงการแก้ไข ปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นความพยายามอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องการหาทางออก ในเรื่องประชากรผู้สูงวัยที่กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 5 มกราคม 2555