ผู้เขียน หัวข้อ: ภารกิจขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ... นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย  (อ่าน 1105 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 5 มกราคม 2556 00:00:28 น.
ไม่ว่าจะเป็นปี "งูใหญ่" หรือ "งูเล็ก"ความเสี่ยงของโรคและภัยสุขภาพ จากการปนเปื้อนของสารพิษ สารตกค้าง เชื้อก่อโรคต่างๆ ที่แฝงอยู่ในอาหาร น้ำ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงปัญหายาเสพติด ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญและเป็นภัยร้ายที่คอยคุกคามและสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนคนไทยมาโดยตลอด

เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ 2556 ทีมข่าวบ้านเมืองได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย เจ้าบ้านคนใหม่ล่าสุดแห่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานด้านสาธารณสุขมาแล้วกว่า 38 ปี เพื่อพูดคุยถึงแผนงานและทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยในปี พ.ศ.2556 ซึ่งบทบาทงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่คอยทำหน้าที่ "เบื้องหลัง" ในการตรวจสอบเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพของประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน ยิ่งในยุคที่ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็เป็นต้องระแวงระวังตัวกับอันตรายที่อาจปนเปื้อนมากับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นพิเศษแล้ว ปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองสิ่งที่อาจเป็นพิษภัยต่อสุขภาพให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น


น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานที่ทำงานบนพื้นฐานของห้องปฏิบัติการ เรียกว่าการทำงานมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และที่ต่างจากหน่วยงานอื่นๆ เนื่องจากลักษณะงานของกรมวิทย์ฯ จะไม่สิ้นสุดเมื่องานเสร็จ แต่จะใช้ผลการตรวจหรือข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาผลกระทบ เฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยง ของทั้งเชื้อโรค สารปนเปื้อน ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร เครื่องสำอาง ยา สมุนไพร ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังมีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะที่เป็นองค์กรชั้นนำด้านการตรวจวิเคราะห์ วิจัยทางห้องปฏิบัติการ คือการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ที่เปรียบเสมือนเป็นการ "การันตี" ความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข ทั้งในแง่การตรวจชันสูตรโรค และการตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยในสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ รวมถึงการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทั้งหมดทั่วประเทศ และในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับแผนการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 56 นี้ น.พ.นิพนธ์ เล่าว่า ทางกรมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านงานสาธารณสุขทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีโครงการเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการเสริมสร้างรายได้สุขภาพของประเทศ ทั้งด้านยาสมุนไพรไทย อาหาร สินค้าพื้นเมือง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบบริการภาครัฐ โดยเฉพาะ OTOP, Food Safety, การประกันคุณภาพยา รวมทั้งเรื่องการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีสุขภาพทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และระดับนานาชาติ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและประโยชน์ร่วมกันทั้งระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งแผนการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สำคัญของปี 56 คือ...

-การตรวจสอบคุณภาพอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ในตลาดค้าส่ง ซึ่งมีการตั้งห้องปฏิบัติหรือแล็บเล็กๆ ในตลาดค้าส่ง เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในอาหาร เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยปีนี้จะขยายผลจากพื้นที่ที่ได้ดำเนินการแล้ว เชื่อมโยงให้เกิดกลไกการเรียนรู้เรื่อง Mega Store บูรณาการให้เกิดการพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่ตลาดค้าส่งของแต่ละภูมิภาค

-การยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า OTOP เนื่องจากผลิตภัณฑ์ OTOP ของแต่ละพื้นที่นั้นมีความหลากหลายและไม่เหมือนกัน รวมทั้งมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสินค้าร่วมกันหลายหน่วยงาน มีทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ กรมวิทย์ฯ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้น โดยเน้นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อค้นหารูปแบบที่ดีจากวิธีการดำเนินงาน เพื่อนำไปบูรณาการกับเขต หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ศูนย์วิทย์ฯ ทั้ง 14 แห่ง ได้ร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบเรื่อง OTOP ขึ้น เป้าหมายในปีแรก คือ ชุมชนหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ 76 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์ชุมชนต้องได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยแต่ละศูนย์จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยประสานกับภาคีเครือข่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมโครงการ

-การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรมวิทย์ฯ ได้มีการพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสินค้าผ่านแดน เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่อาจเป็นภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค รวมทั้งการพัฒนาห้องปฏิบัติการส่งเสริมการทดสอบเครื่องสำอางเพื่อการส่งออก โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ติดกับชายแดนและด่านชายแดน นอกจากนี้สำนักยาและวัตถุเสพติด ยังได้รับการรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สามารถรับตรวจวิเคราะห์ยาในโครงการระดับสากล เช่น โครงการ Roll back malaria ของ Global Fund โดยทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการตรวจยืนยันกลุ่มยาต้านมาลาเรีย และเป็นศูนย์ฝึกอบรมการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นสำหรับเจ้าหน้าที่ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์ฝึกอบรมการตรวจวิเคราะห์เภสัชภัณฑ์สำหรับผู้ได้รับทุนขององค์การอนามัยโลกในการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน รองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า

-การรองรับนโยบายเรื่องยาเสพติด เนื่องจากยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และที่ผ่านมาทางกรมวิทย์ฯ ได้ใช้เครื่อง GC-MS-MS ควบคู่กับวิธี TLC ในการตรวจพิสูจน์วัตถุเสพติดในของกลางและในปัสสาวะ สามารถตรวจได้ในปริมาณที่มากขึ้นและรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งการตรวจโดยเครื่อง GC-MS นี้เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสารเสพติดชนิดใดและมีปริมาณเท่าไร และยังช่วยลดภาระงานตรวจในกรณีที่มีตัวอย่างส่งตรวจจำนวนมาก ในปีนี้กรมวิทย์ฯ จึงได้มีการเตรียมเครือข่ายที่จะใช้เครื่อง GC-MS และจะเสริมบทบาทของ Com Med Sci เพื่อประสานการใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์ในการตรวจพิสูจน์วัตถุเสพติดในของกลางและในปัสสาวะอย่างเต็มประสิทธิภาพโดยเฉพาะยาเสพติดในรูปแบบใหม่ๆ

พร้อมทั้งได้พัฒนาและสนับสนุนชุดทดสอบอย่างง่าย สำหรับตรวจหายาเสพติดในปัสสาวะ ให้กับสถานศึกษา ชุมชน โรงพยาบาล ฝ่ายปราบปราม เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย

ส่วนนโยบายอื่นๆ น.พ.นิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังคงจะสานต่อโครงการที่เคยดำเนินการมาแล้ว เช่น การสร้างความมั่นใจในคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการสร้างหลักประกันคุณภาพและมาตรฐานบริการด้านยา มีเป้าหมายเพื่อประเมินคุณภาพและมาตรฐานยาสามัญ (Generic drugs) ที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และได้จัดทำเอกสารสรุปผลวิเคราะห์ทั้งหมดเผยแพร่ไปยังเครือข่ายสาธารณสุขภาครัฐ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดทำหนังสือเผยแพร่ GREEN BOOK หรือ "รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต" ปัจจุบันได้จัดพิมพ์ไปแล้วจำนวน 8 เล่ม ซึ่งจะได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 ต่อไป เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมั่นใจในคุณภาพ และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการจัดซื้อยาที่มีคุณภาพเพื่อบริการประชาชนในโรงพยาบาล รวมทั้งจะขยายขอบเขตโครงการนี้ ให้ครอบคลุมแหล่งกระจายยาที่สำคัญของประเทศ เช่น ร้านขายยา เพื่อตรวจสอบคุณภาพยาที่ประชาชนสามารถซื้อได้ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาสามัญทั่วไปที่ไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์

การดูแลกลุ่มต่างๆ ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ผ่านศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พึ่งได้ และโครงการ EWEC ซึ่งกรมวิทย์ฯ จะมีศูนย์ปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด ซึ่งนอกจากดูแลเรื่องการคัดกรองเด็กทารกแรกเกิดเพื่อหาภาวะพร่องไทรอยด์แล้ว ยังมีการทำเรื่องการเสริมไอโอดีนในห่วงโซ่อาหาร

การปรับปรุงคุณภาพด้านการบริการประชาชน เช่น การลดคิวและระยะเวลารอคอยการรับบริการของผู้ป่วย โดยทางกรมวิทย์ฯ มีศูนย์ one stop service และสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ดำเนินการรองรับนโยบายเรื่องนี้อยู่ ฯลฯ  สำหรับคำอวยพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่นี้ น.พ.นิพนธ์ ได้ฝากให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น ออกกำลังกาย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และรู้จักป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีความปลอดภัย หมั่นไปตรวจสุขภาพตามระยะเวลาที่กำหนด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการมีสุขภาพดีก็คือการได้รับพรปีใหม่ที่ล้ำค่านั่นเอง

บรรยายใต้ภาพ
น.พ.นิพนธ์ อธิบาดีกรมวิทย์ฯ