ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์ถกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข  (อ่าน 1301 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
กรุงเทพฯ 10 พ.ย. - กลุ่มแพทย์ถกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยืนยันคนไข้เสียประโยชน์ ทำให้แพทย์ปฏิบัติงานไม่เต็มความสามารถ เพราะต้องระวังและคิดถึงแต่ตัวเอง ส่งผลให้คนไข้พลาดการรักษา ย้ำให้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น ส่วนการล่ารายชื่อถอดถอน รมว.สาธารณสุข เป็นการแสดงความรู้สึก เตรียมเข้าพบประธานวิปรัฐบาล พรุ่งนี้ ให้ข้อมูลร่าง พ.ร.บ.ฯ

นพ.อาวุธ ศรีศุกรี ประธานคณะทำงานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... กล่าวภายหลังประชุมสัมมนาสรุปปัญหาผลกระทบและหาทางออกในความขัดแย้งของร่าง พ.ร.บ.ฯ ว่า หากร่างดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายโดยไม่มีการแก้ไข จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากแพทย์ต่อไปเมื่อปฏิบัติหน้าที่จะไม่ทำงานเต็มความสามารถ ต้องระวังและคิดถึงแต่ตัวเองมากขึ้น ทำให้คนไข้บางรายอาจเสียประโยชน์ในการรักษา เพราะแพทย์เกรงกระทบและถูกฟ้องร้องในที่สุด นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรมีการแก้ไขในเรื่องการฟ้องร้องแพทย์ เนื่องจากกระทบต่อการทำงาน โดยปกติแพทย์และพยาบาลถือว่าเป็นบุคคลที่เสียสละทำงานมากกว่าคนปกติถึง 12 ชั่วโมง บางวันหากมีคนไข้หนัก ต้องสละเวลาส่วนตัวเพื่อคนอื่น ถือเป็นวิชาชีพที่เสียสละอย่างแท้จริง และเกรงว่าในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อการปลูกฝังจิตวิญญาณของแพทย์รุ่นใหม่ และเห็นว่าควรทำประชาพิจารณ์

ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มแพทย์บางส่วนได้รวบรวมรายชื่อถอดถอนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง เป็นการแสดงความรู้สึก เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และไม่เคยสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร จากนี้ไปทางเครือข่ายจะจับตาการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพิจารณาร่างดังกล่าวไม่น่าจะทันการประชุมนี้ และวันพรุ่งนี้ (11 พ.ย.) เตรียมหารือกับประธานวิปรัฐบาลถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ

ขณะ ที่ นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ที่ประชุมฯ สามารถสรุปการสัมมนาได้ดังนี้ คือ เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย และต้องมีการเสนอข้อเท็จจริงการทำงานของแพทย์ ทั้งในส่วนของโรงเรียนแพทย์ กองทัพ กทม. ตำรวจ เพื่อให้ร่างดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่ใช้ได้อย่างแท้จริงในทุกหน่วย และต้องมีการชี้แจงและให้ความชัดเจนที่มาของเงินกองทุนแต่ละปี ต้องมีการสะสมรวมกันเท่าไร เป็นเงินภาษีหรือไม่ และควรมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้เกิดความรู้ในวงกว้าง ไม่ใช้การรับรู้เพียงฝ่ายเดียว และเห็นควรให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของกฎหมายเดิม ด้วยการขยายสิทธิของ พ.ร.บ.ทั้งมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม. - สำนักข่าวไทย