ผู้เขียน หัวข้อ: แห่งแรกในเอเชีย! “ศิริราช” ผ่าตัดทารกในครรภ์มารดารักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น  (อ่าน 884 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   2 มกราคม 2556 17:48 น.   

“ศิริราช” ผ่าตัดส่องกล้องรักษากระเพาะปัสสาวะอุดกั้นของทารกในครรภ์ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย เผย พบได้เพียง 1 ใน 50,000 ราย หากรักษาไม่ทันทารกในครรภ์อาจถึงขั้นไตวายได้
       
       วันนี้ (2 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าว “สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย ศิริราชผ่าตัดส่องกล้องทารกในครรภ์ รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น” ว่า รพ.ศิริราช ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดทารกในครรภ์ด้วยการส่องกล้อง โดยทำการผ่าตัดแยกทารกแฝดที่มีการถ่ายเลือดระหว่างกันได้เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี 2552 จึงพัฒนาการผ่าตัดทารกในครรภ์ ซึ่งป่วยด้วยโรคที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การทำหัตถการระบายน้ำท่วมช่องเยื่อหุ้มหัวใจของทารกในครรภ์ ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 300 ราย จนมาถึงผู้ป่วยรายนี้ที่มีปัญหาภาวะอุดกั้นในกระเพาะปัสสาวะ แต่ปัญหาคือ ยังอยู่ในครรภ์มารดา ทำให้การผ่าตัดลำบากมาก แต่หากไม่รักษาโอกาสเสียชีวิตสูง จึงมีการพัฒนาเทคนิคการส่องกล้องผ่าตัดทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยกล้องและเครื่องมือขนาดเล็กที่เรียกว่า ฟีโตสโคป (Fetoscope) เพื่อช่วยชีวิตของทารกขึ้น จนสามารถผ่าตัดรักษาทารกในครรภ์ที่ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย

       รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวว่า ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น (Posterior Urethral Valve) เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ทารกบางคนมีความผิดปกติในพัฒนาการ ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นเกิดจากการมีเนื้อเยื่อที่ผิดปกติอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะที่ต่อไปยังท่อปัสสาวะทำให้น้ำปัสสาวะที่สร้างจากไตไม่สามารถผ่านออกมาได้ลักษณะคล้ายลิ้นหัวใจที่กั้นห้องหัวใจ ทำให้ปัสสาวะไม่สามารถขับออกได้ กระเพาะปัสสาวะบวมตึง อาจทำให้แรงดันย้อนกลับขึ้นไปตามท่อไต ทำให้ท่อไตขยาย ไตบวม และไตวายในที่สุด ซึ่งสาเหตุของการอุดกั้นนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้พบได้เพียงประมาณ 1 ใน 50,000 ของทารกในครรภ์
       
       ด้าน นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา แพทย์ผู้ทำการรักษาประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กล่าวว่า ปกติในถุงน้ำคร่ำจะมีน้ำปัสสาวะจากทารกปนอยู่ด้วย เนื่องจากไตของทารกสร้างน้ำปัสสาวะแล้วปล่อยลงมาเก็บที่กระเพาะปัสสาวะ จากนั้นจะบีบตัวเพื่อขับน้ำออกมาเข้าไปปนกับน้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวทารก แต่ในครรภ์มารดารายนี้พบน้ำคร่ำน้อยมาก ทำให้สงสัยว่าน่าจะมีความผิดปกติ ทีมแพทย์จึงได้ทำการตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์มารดาที่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ พบว่า ทารกมีกระเพาะปัสสาวะตึงขยายผิดปกติและน้ำคร่ำแห้ง จึงทำการตรวจเพิ่มด้วยคลื่นสะท้อนพลังแม่เหล็ก (MRI) พบว่า ทารกมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น ซึ่งหากไม่รักษาทารกอาจเสียชีวิตได้ เพราะไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ จึงคั่งในกระเพาะปัสสาวะจนบวมเป่ง นานเข้าไตก็จะบวม ทำงานไม่ได้ และเกิดไตวายจนทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หากรอดก็จะเกิดภาวะไตพิการ
       
       “ทีมแพทย์แนะนำให้คุณแม่รีบทำการรักษา ซึ่งการผ่าตัดนั้นอายุครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ โดยอายุครรภ์ที่เหมาะสม คือ 16-26 สัปดาห์ โดยรายนี้อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ถือว่าเหมาะสม จึงทำการผ่าตัดทันที โดยใช้วิธีบล็อกหลังแทนการดมยาสลบ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับคุณแม่ได้ตลอดเวลา จากนั้นสอดกล้องขนาดเล็กเพียง 1.3 มิลลิเมตร ผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะของทารกในครรภ์ แล้วสำรวจโครงสร้างภายในกระเพาะปัสสาวะของทารกโดยละเอียด ซึ่งในช่วงนี้ทารกมีความยาวลำตัวเพียง 15 ซม.โดยที่โครงสร้างทุกอย่างมีขนาดเล็กมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการผ่าตัด เมื่อพบตำแหน่งอุดกั้นในท่อปัสสาวะ ทีมแพทย์ได้ใช้เลเซอร์กำลังต่ำเจาะเปิดตำแหน่งที่อุดกั้น เพื่อให้น้ำปัสสาวะสามารถผ่านท่อปัสสาวะออกมาได้” รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ กล่าว
       
       รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หลังการผ่าตัดพบว่า ทารกมีหัวใจเต้นดี กระเพาะปัสสาวะยุบตัวลงและน้ำคร่ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยที่การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นทีมแพทย์ได้ติดตามอาการของทารก ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะๆ พบว่า ทารกสามารถปัสสาวะได้ กระเพาะปัสสาวะยุบลง และน้ำคร่ำเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ ถือว่ามีการตอบสนองต่อการผ่าตัดรักษาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม มารดาได้คลอดก่อนกำหนด ทำให้เด็กมีน้ำหนัก แรกเกิดเพียง 1.8 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันทารกมีอายุประมาณ 1 เดือน น้ำหนักเพิ่มเป็น 2.3 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าปกติแล้ว สำหรับการรักษานั้นในผู้ป่วยรายนี้ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากรักษาโดยไม่ใช้สิทธิจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะผ่าตัดราว 2 หมื่นบาท ซึ่งหากไม่สามารถจ่ายได้ ทางศิริราชพยาบาลยังมี “กองทุนการรักษาทารกในครรภ์” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือมารดากลุ่มนี้ ผู้สนใจสามารถบริจาคได้ทุกวันที่ ศิริราชมูลนิธิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โทร.0-2419-7658-60