ผู้เขียน หัวข้อ: พบต้นตอเด็ก กทม.ฟันเน่าเพิ่มสูงปรี๊ด เหตุ สปสช.เลือกปฏิบัติ-จี้รัฐแก้หวั่นงบพันล  (อ่าน 794 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
จี้หน่วยงานรัฐ สปสช.กทม. ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ แก้ปัญหาเด็ก กทม.ฟันผุ ปี 54 พบเด็กอายุ 5 ขวบฟันน้ำนมผุเพิ่ม 81% และเสี่ยงต่อการเกิด 7 โรคไม่พึงประสงค์ แจงรัฐมีกองทุนงบบริการทันตกรรมปีละพันกว่าล้านบาท ขณะที่ผู้ปกครองต้องสูญเงินกว่า 100 ล้านต่อปีเพื่อดูแลฟันลูก เหตุ สปสช. กทม.หมกเม็ดเลือกอุ้มเฉพาะเด็กสังกัดโรงเรียน กทม. ทิ้งเด็กเอกชน-สพฐ. ส่งผลให้เด็ก กทม.มีคุณภาพด้านสุขภาพฟันต่ำกว่าเด็กต่างจังหวัด ทั้งที่มีทันตแพทย์ และจ่ายภาษีมากกว่า วงในพบพิรุธนโยบายเอื้อพวกพ้องผลักเด็กใน กทม.ไปรักษาคลินิกเอกชนแทน
       
       “ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก” แคมเปญรณรงค์ให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก เพราะปัญหาช่องปากจะนำไปสู่โรคร้ายในที่สุด “ฟันผุ” ในเด็กจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะในระยะยาวเด็กจะมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดพัฒนาการ และเป็นโรคทางเดินหายใจขั้นรุนแรง
       
       ฟันผุในเด็ก! ก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าที่คิด
       
       หลายคนคงไม่ทราบว่างบบริการทันตกรรมในปี 2554 มีมูลค่าสูงมากกว่าพันล้านบาท ขณะที่ปี 2554 พบโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ขวบ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 61.7 และรัฐได้วางเป้าหมายทันตกรรมสุขภาพปี 2563 ในการลดแนวโน้มการเพิ่มให้เหลือร้อยละ 50
       
       หากแต่ทุกวันนี้การเข้าถึง และการรับรู้ของประชาชนถือว่าน้อยมาก เมื่อวัดจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า การเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนทั้งประเทศมีไม่ถึง 10%
       
       ทุ่มกว่าพันล้าน! ล้มเหลว เด็กฟันผุเพิ่มทะลุ 80%
               
       ตัวเลขงบบริการทันตกรรมในปี 2554 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ ส่วนที่ 1 วงเงิน 2.25 บาทต่อประชาชนราว 47 ล้านคน โดยเน้นการทำฟันปลอมให้ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนที่ 2 เน้นกลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในวงเงิน 36 บาทต่อประชากร ในประชากรกว่า 63 ล้านคน
       
       แม้งบบริการทันตกรรมจะสูงเกินพันล้านบาท โดยเน้นที่กลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี กลับพบว่า “ล้มเหลว” เมื่อดูจากการสำรวจทันตสุขภาพปี 2554 พบอัตราฟันน้ำนมผุในเด็กปฐมวัยมากถึง 61% และเมื่ออายุ 5 ขวบอัตราการเพิ่มขึ้นเป็น 81% สอดคล้องกับตัวเลขการสำรวจ ปี 2554 ของทางสำนักอนามัยภารกิจประจำพื้นฐานพบความรุนแรงของโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ขวบ อยู่ที่ 3.68 ซี่ต่อคน และเด็กอายุ 12 ปี อยู่ที่ 1.33 ซี่ต่อคน
       
       ขณะที่ภาครัฐใช้เงินจากภาษีของประชาชน เข้าดูแลจัดการในเรื่องบริการทันตกรรม แต่หารู้ไม่ว่าเด็กใน กทม.วันนี้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราการจ่ายภาษีสูงสุด และมีทันตแพทย์มากที่สุดในประเทศ กลับได้รับโอกาสในการดูแล รักษา และป้องกันด้านทันตกรรมต่ำกว่าเด็กในต่างจังหวัดเสียอีก ปัญหาความไม่เท่าเทียมเกาะกิน จนอาจส่งผลร้ายให้เด็กใน กทม.ฟันผุ และเป็นโรคร้ายตามมา
       
       ดังนั้น เด็กฟันผุทุกคน กำลังต้องเสี่ยงกับโรคร้ายอะไรบ้าง?
       
       เด็กฟันผุเสี่ยง 7 ปัญหาอันตราย “โรคทางเดินหายใจ-ฟันแท้เน่า”
       
       แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ระบุว่า การปล่อยให้เด็กฟันผุเป็น “อันตราย” เพราะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ รวมถึงพัฒนาการของเด็ก และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคตามมาอีก 7 ปัญหาดังนี้
       
       1. เด็กที่ฟันผุเมื่อทิ้งไว้จะส่งผลลุกลามไปสู่การเป็น “โรคทางเดินหายใจ” อันเนื่องมาจากแบคทีเรีย เชื้อโรคจากฟันที่ผุจะลงสู่ลำคอตลอดเวลา
       
       2. ฟันผุนานจะทำให้เกิดเป็นหนอง แล้วมีโอกาสลามไปที่หน่อฟันแท้ ส่งผลให้ฟันแท้อาจเปลี่ยนสี และผุได้ด้วย
       
       3. ฟันที่ผุจนเหลือแต่ตอ จนต้องถอนออก ฟันที่ขึ้นใหม่ และขึ้นซ้อน กลายเป็นฟันเก ไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจ และการบดเคี้ยวไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินเกือบครึ่งแสน เพื่อการจัดระเบียบฟันของลูกหรือที่เรียกกันว่า การจัดฟันหรือดัดฟัน นั่นเอง
       
       4. การที่เด็กฟันผุเร็วจนเหลือแต่ตอ หรือต้องถอนฟันออก จะส่งผลร้ายแรงทำให้ลูกของคุณออกเสียงไม่ชัด เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการออกเสียงที่ถูกต้อง
       
       5. ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน บดเคี้ยวอาหารลำบาก
       
       6. เจ็บคอ ไอ เรื้อรัง
       
       7. มีกลิ่นปาก ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
       
       “อย่างกรณีฟันหน้าผุตั้งแต่อายุ 4 ขวบ หากไม่ถอนออกก็จะเจ็บ และมีเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านลำคอ แต่หากถอนออกแล้ว ต้องรอจนอายุ 6 ขวบ ฟันแท้จึงจะขึ้นใหม่ ส่งผลต่อการออกเสียงของเด็ก ทำให้พูดไม่ชัด ทั้งนี้พบว่าเด็กที่ปวดฟันรุนแรง จนต้องขาดเรียน มีมากถึงปีละ 500,000 กว่ารายทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการเรียนด้วย” แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุข ระบุ
               
       พบพิรุธเชิงนโยบายหลายจุด
       เด็ก กทม. “เอกชน-สพฐ.” ถูกทิ้ง
       
       ในเรื่องการดูแลด้านทันตกรรมในเด็กนั้น ข้อเท็จจริงซึ่งผู้ปกครองและเด็กทั่วประเทศอาจไม่รู้ว่ารัฐมีการจัดสรรงบประมาณไว้ดูแลในส่วนนี้ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้รับผิดชอบกองทุนงบบริการทันตกรรม แบ่งตามพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน
       
       ในส่วนของพื้นที่ กทม. จะมี สปสช.กทม.เป็นผู้วางนโยบาย เป้าหมายด้านทันตกรรม โดยแบ่งสัดส่วนการตรวจสุขภาพช่องปากที่ 70% ประกอบด้วยการป้องกัน โดยการเคลือบฟลูออไรด์เจล (Gel) หรือวานิช (Vanish) และอีกส่วนงานเป็นการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 20% แบ่งเป็นด้านการป้องกัน โดยการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์ ) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ และในส่วนของการรักษา ประกอบด้วยการอุดฟัน ถอนฟัน การขูดหินปูน รักษารากฟันที่ซีก D กับ E
       
       โดยมีหน่วยให้บริการด้านทันตกรรมกับเด็กใน กทม.ด้วยกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย
       
       1. สำนักอนามัยมีบริการทันตกรรมทั่วไป และทันตกรรมเฉพาะทางสาขา
       
       2. คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย
       
       3. คลินิกทันตกรรม (ภายใต้โครงการ)
       
       ขณะที่การดูแลบริการทันตกรรมในเด็กต่างจังหวัด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยมีเป้าหมายที่การตรวจสุขภาพช่องปาก 100% และส่วนงานการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 50% โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่าง โรงเรียนในสังกัดหน่วยงานการปกครองท้องถิ่น หรือโรงเรียนในสังกัดเอกชน
       
       ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อมีการนำแผนการบริหารจัดการทันตกรรมสุขภาพ รวมถึงขั้นลงมือปฏิบัติมาประเมินเบื้องต้น พบว่า กทม.มีปัญหาการบริหารจัดการ และมีการเลือกปฏิบัติขณะที่ข้อมูลยังพบด้วยว่าเด็กต่างจังหวัดได้รับการดูแลเรื่องทันตกรรมดีกว่าเด็กใน กทม.
       
       เริ่มตั้งแต่การวางนโยบายของ สปสช.กทม. ที่มีการกำหนดเป้าของ กทม. ในเรื่องการตรวจสุขภาพช่องปากเด็กเพียง 70% และการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 20% เท่านั้น ต่างจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป้าในการตรวจสุขภาพช่องปากเด็กต่างจังหวัดที่ 100% และส่วนงานบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) อยู่ที่ 50% ทั้งๆ ที่ใน กทม.มีทันตแพทย์มากที่สุดในประเทศ
       
       อีกทั้งใน กทม.มีการเลือกปฏิบัติกับเด็กอย่างไม่เท่าเทียมในกรณีที่สำนักอนามัย กทม.สามารถทำงานในเชิงรุก ลงพื้นที่ได้ แต่จะเจาะจงเฉพาะโรงเรียนในสังกัด กทม.เท่านั้น ขณะที่เด็กที่เรียนในสังกัดอื่นๆ ไม่ได้รับสิทธิ์นี้ หากต้องการรับบริการจะต้องเดินทางมารับการบริการเองตามสถานที่ที่ระบุไว้ใน 3 ส่วนข้างต้นเท่านั้น
       
       ขณะเดียวกันสำนักอนามัย กทม.ได้เพิ่มเป้าการทำการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์ ) เป็น 50% ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของการบริการทันตกรรมผสมผสาน (comprehensive care) ที่มีเป้ารวมอยู่ที่ 20% ดังนั้นเด็กในสังกัดโรงเรียนอื่นจะมีโอกาสน้อยลงไปอีก
       
       “จำนวนเด็กที่เรียนอยู่ใน กทม.มีประมาณ 60,000 คน อยู่ในโรงเรียนสังกัด กทม.ประมาณ 40,000 คน ในสัดส่วนโรงเรียนที่มีการเปิดสอนในระดับประถมศึกษาจำนวน 431 โรงเรียน และเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาอีก 4 แห่งที่เหลืออยู่ในโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. โรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชน อีกประมาณ 20,000 คน”
       
       ทั้งนี้ จากจำนวนเด็ก กทม. ที่ไม่ได้รับการดูแลสุขภาพฟันที่เท่าเทียม โดยเฉพาะผลจากการทำงานเชิงรุก ที่เลือกปฏิบัติกับโรงเรียนในสังกัด กทม. เท่านั้น ทั้งๆ ที่ผู้ปกครอง ประชาชนใน กทม. ต่างจ่ายภาษีที่นำมาใช้ทั้งสิ้น และผลจากปัญหาการปฏิบัติที่ต่างกัน อาจส่งผลต่อสุขภาพปากของเด็ก โดยเฉพาะการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์ ) จำนวน 1 ซี่ สำหรับเด็ก ป.1-ป.6 และเด็ก ม.1-ม.6 จำนวน 4 ซี่ ซึ่งถือว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุในเด็กได้
       
       “เด็กในช่วง ป.1-ป.6 จะมีหลุมร่องฟันทุกคน แต่การดูแลทันตกรรมให้ดีคือจะต้องมีการทำการเคลือบหลุมร่องฟัน ไม่ให้เศษอาหารลงไปสะสมจนกลายเป็นฟันผุ ซึ่งกองทุนทันตกรรมมีเป้าหมายที่จะดูแลในส่วนนี้ด้วย แต่ กทม.รับนโยบายมา แต่เลือกปฏิบัติเฉพาะโรงเรียนสังกัด กทม.เท่านั้น และมีผลงานน้อยกว่าต่างจังหวัดมาก”
       
       ที่สำคัญนอกจากงานป้องกันเชิงรุก จะไปบริการให้เฉพาะเด็กโรงเรียนในสังกัด กทม.เท่านั้น แล้ว เด็กอื่นจะต้องไปรับบริการที่ศูนย์อนามัยเท่านั้น ยังพบว่าการไปศูนย์อนามัยต่างๆ จะทำได้แค่ทันตกรรมป้องกัน และการทำทันตกรรมรักษา ก็ยังมีการจำกัดสถานที่ โดยมีให้บริการแค่ 6 จุด คือ 1. ศูนย์บริการสาธารณสุข 15 ลาดพร้าว 2. ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง 3. ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง 4. ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา 5. ศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ราษฎร์บูรณะ 6. ศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค
       
       โดย 6 แห่งจะเปิดทำการรักษาแค่ 08.00-12.00 น. ในวันและเวลาราชการเท่านั้น!
       
       “ปัญหาอยู่ตรงที่สถานที่ให้บริการไม่เข้าถึงชุมชน เปิดในเวลาไม่เหมาะสม เป็นช่วงที่ผู้ปกครองทำงาน และเด็กต้องไปเรียนหนังสือเท่านั้น”
       
       ตรงนี้จึงเป็นปัญหาสำหรับการที่เด็กใน กทม.จะเข้าถึงบริการที่รัฐบาลจัดให้ยากขึ้นไปอีก
       
       นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการทำงานเชิงรุกของ กทม.ในการให้บริการด้านทันตกรรมแก่เด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่าผู้ที่ดำเนินการต้องเป็นทันตแพทย์ในส่วนของราชการเท่านั้น ต่างจากต่างจังหวัดที่ให้ทันตภิบาลสามารถดำเนินการได้
       
       การกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้ส่งผลให้เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องจำนวนของทันตแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อการลงพื้นที่จริงแม้ กทม.จะมีจำนวนทันตแพทย์มากก็ตาม
       
       แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งข้อสงสัย จากตัวเลขรายงานของปี 2554 ที่ระบุว่า ในพื้นที่ กทม.ได้ทำการเคลือบหลุมร่องฟัน (ซีแลนด์) เป็นจำนวนฟันเด็ก ป.1-ป.6 ไปประมาณ 120,000 ซี่ และหากนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์กับระยะเวลาในการเปิดเรียน และจากข้อกำหนดการปฏิบัติงานที่ต้องเป็นทันตแพทย์ราชการเท่านั้นน่าจะไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง เพราะหากทำได้จริงตามตัวเลขในรายงานนั้นจะต้องใช้แพทย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
       
       “ตัวเลขนี้น่าจะไม่ชอบมาพากล ที่สำคัญการดำเนินงานไม่ต้องส่งหลักฐาน และไม่ต้องตั้งเบิกด้วย ทำให้การรายงานผลไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 ธันวาคม 2555