ผู้เขียน หัวข้อ: ความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองจากหน่วยงานต่างๆ  (อ่าน 1676 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
จดหมายถึงผู้ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
31 ตุลาคม 2553
เรื่อง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
เรียน นางฐะปานีย์ อาจารวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านประสานกิจการภายในประเทศ ปฎิบัติราชการแทน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

อ้างถึงหนังสือที่ นร 0404/11941ลวที่ 28 ตุลาคม 2553

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.สรุปความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
                       2.บทความประกอบการบรรยาย ความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....โดยผศ. พอ.(พิเศษ) นพ.กิฎาพล วัฒนะกุล
                         3.มติของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
                        4. จดหมายอีเล็คโทรนิกของผศ.ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


                          จากหนังสือที่อ้างถึงนั้น ท่านประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร(วิปรัฐบาล) ได้ส่งสรุปประเด็นความเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งมายังประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ดิฉันในฐานะประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท) พิจารณานั้น ดิฉันได้สรุปความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเรียนท่านประธานวิปรัฐบาล เพื่อโปรดทราบตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้
                          อนึ่ง ดิฉันขอเสนอชื่อผู้ที่จะเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
1.   จากสผพท. 2 คน คือพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ
2.   จากแพทยสภา 1 คน คือ นอ.(พิเศษ ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ
3.   จากแพทยสมาคม 1 คน คือ นพ.วันชาติ ศุภจตุรัส


                      


สรุปความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
1.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พิจารณาแล้วเห็นว่า เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ร่างขึ้นเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพ และสังคมส่วนรวม แต่เนื้อหายังไม่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล ถ้านำมาใช้จริงอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ เช่นประเด็นมาตรฐานวิชาชีพ ความเสียหาย และการเชื่อมโยงแต่ละมาตรายังไม่สอดคล้องกัน
2.ความเห็นของรศ.ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์ ผู้เข้าประชุมกับคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ มีดังนี้
2.1.       ในส่วนที่ผมเกี่ยวข้อง ผมขอชี้แจง คือ มติของที่ประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีรายละเอียดดังแฟ้มที่ผมแนบมา ซึ่งมีข้อความชัดเจนตามเอกสาร(ในข้อ1)
2.2      สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม ที่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ นั้น ไม่สามารถนับว่าเป็นความเห็นของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลทั้งหมด
2.3      ความกังวลใจของผมในฐานะเป็นผู้ร่วมประชุมในคณะกรรมการสมานฉันท์ มีประเด็นที่ผมเป็นห่วงอย่างมากคือ เจตนาของร่างกฎหมายนี้ มุ่งเน้นให้ได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้รับบริการและผู้ให้บริการ แต่ฝ่ายกฎหมายไม่สามารถเขียนให้เป็นไปตามเจตนาดังกล่าวได้ (ตัวแทนฝ่ายกฤษฎีกา ยืนยันเช่นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ฯ  ซึ่งในที่ประชุม ได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้ อย่างจริงจังและเข้าใจข้อจำกัดนี้ชัดเจน เนื่องจากเกี่ยวพันกับกฎหมายอื่นๆ ในหลายระดับ) ซึ่งผมได้อภิปรายว่า หากสังคมหวังใช้การออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ให้สังคมโดยรวมได้รับประโยชน์ แต่ฝ่ายกฎหมายเองบอกว่า ไม่สามารถเขียนให้เป็นเช่นนี้ได้ คณะกรรมการฯ ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ อีกต่อไป ควรยกเลิกกระบวนการออกกฎหมายได้เลย เพราะสังคมหวังใช้เครื่องมือนี้ แต่เจ้าของเครื่องมือแจ้งว่า เครื่องมือที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ และยังปรับปรุงส่วนต่างๆ ของเครื่องมือให้ทันสมัยไม่ได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงไม่สามารถใช้เครื่องมือนี้สำหรับกฎหมายฉบับนี้โดยตรงได้ อาจต้องดำเนินการโดยทางอ้อม
2.4   จากข้อกังวลดังที่ชี้แจงในข้อ ๓ ผมเห็นว่า ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ฯ ควรให้ตัวแทนกฤษฎีกา ช่วยชี้แจงประเด็นที่ผมกังวลและเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ดังข้อ ๓ ให้เกิดความเข้าใจและมั่นใจว่า ฝ่ายกฎหมายสามารถเขียนได้ ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง ๒ ฝ่ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้จริง และผมไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ซึ่งประเด็นนี้แหละครับ ผมเห็นว่า สำคัญที่สุด เพราะในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ต่างมีความเห็นร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น ไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกันแต่อย่างใด ทั้งฝ่ายตัวแทนผู้รับบริการและตัวแทนผู้ให้บริการที่อยู่ในที่ประชุม ต่างมีความเห็นเอื้ออาทรต่อกันอย่างกัลยาณมิตร แต่ทางกฤษฎีกา แจ้งว่า รู้สึกว่า ตัวเองตกเป็นจำเลยของที่ประชุม เนื่องจากไม่สามารถเชียนตามเจตนาของที่ประชุมได้ เนื่องจากติดขัดกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.5  กล่าวโดยสรุป หากรัฐมนตรีสาธารณสุข ต้องการใช้ความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการฯ ไปสนับสนุนเพื่อดำเนินการในชั้นต่อไป ผมเสนอว่า จำเป็นต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน เพราะมิเช่นนั้น จะเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน และไม่เป็นประโยชน์ต่อใครทั้งสิ้น
ผมจึงขออนุญาตเรียนตอบอาจารย์เชิดชูตามความเข้าใจของผม พร้อมแจ้งท่านอื่นๆ ตามที่อาจารย์เชิดชูเห็นว่า ควรมีส่วนรับรู้มา ณ ที่นี้นะครับ
อนึ่ง ความประทับใจส่วนตัวของผมในเรื่องนี้ คือ ผมรับรู้ได้ว่า แทบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ล้วนเป็นคนดี และมีความปรารถนาดีต่อสังคมจริงๆ แต่ที่มีประเด็นมองต่างมุมและต้องออกมาเคลื่อนไหว ประหนึ่งขัดแย้งกันนั้น เป็นเพราะกระบวนการดำเนินการเร่งรัดมากเกินไป ซึ่งประเด็นการเร่งรัดมากเกินไปนี้ ผมอยากฝากผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า ขอให้ช่วยพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างแท้จริงครับ
ด้วยความเคารพ
รศ.นพ.ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์
                รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
                มหาวิทยาลัยมหิดล
               (อดีตโฆษกและกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ....)
3. ความเห็นของสผพท.
3.1 เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะนำร่างพ.ร.บ.นี้ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ควรชะลอไว้ก่อน และรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการนำร่างพ.ร.บ.นี้ออกมาทำประชาพิจารณ์เพื่อความเข้าใจร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และแก้ไขให้กฎหมายนี้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทย ที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน และสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของประชาชน และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และสามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง
3.2 ในขณะนี้ รัฐบาลสามารถแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเสมอภาคแก่ประชาชนทุกคน
3.3 สผพท.เคยอธิบายเรื่องทำไมจึงคัดค้านร่างพ.ร.บ.นี้มาหลายครั้ง ต่างกรรม ต่างวาระกัน แต่ในวันนี้ขอสรุปอีกครั้งว่า การเสนอประเด็นแก้ไขพ.ร.บ.นี้เพียง 12 ประเด็นนั้น ยังไม่สามารถทำให้พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่จะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมและสร้างสรรค์ให้เกิดความสามัคคีปรองดองและความสงบสุขในบ้านเมืองได้จริง
3.4   นอกจากเหตุผลต่างๆดังที่ได้เคยเสนอไปแล้ว ขออธิบายเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ถ้าพ.ร.บ.นี้สามารถออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ดังนี้
3.4.1   จะมีการเรียกร้องขอเงินค่าช่วยเหลือและเยียวยาเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล จากประสบการณ์ของสปสช.ที่เคยให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ในระยะแรก มีการร้องขอเงินช่วยเหลือน้อยมากเพียง 99 รายในปีพ.ศ. 2547  (จ่ายเงินไป 73 ราย) แต่จำนวนประชาชนที่ร้องขอเงินนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 810 ราย ในปีพ.ศ. 2552 (จ่ายเงินไป 660 ราย)คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า ในระยะเวลา 6 ปี
   และจากสถิติของประเทศสวีเดน(ซึ่งเป็นประเทศที่มีการอ้างถึงว่ามีการใช้กฎหมายลักษณะคล้ายร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้) ก่อนเริ่มมีการออกกฎหมาย (ปี ค.ศ.1975)   มีการยื่นคำร้องประมาณสิบรายต่อปี  พอปีค.ศ. 1977 มีประมาณเก้าพันราย พอถึงปี ค.ศ.2004  มีการยื่นคำร้องมากถึงหนึ่งหมื่นราย นั่นคือ การร้องขอเงินชดเชยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบพันเท่าในระยะเวลายี่สิบกว่าปี ถ้าเอาข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ และของประเทศสวีเดน มาเขียนเป็นรูปกราฟ คงได้กราฟในลักษณะเดียวกัน คืออตราการจ่ายเนเพิ่มขึ้นสูงมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว
  จากข้อมูลของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีกฎหมายลักษณะนี้  มีการยื่นคำร้องประมาณ 2,000 รายต่อประชากร 4 ล้านคนต่อปี ถ้าเอาประชากรประเทศไทยมาคิด จาก 65 ล้านคน ก็คงจะมีการยื่นคำร้องประมาณ สามหมื่นรายต่อปี
  ในขณะที่ปัจจุบันนี้จำนวนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตาม มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จ่ายสูงสุดรายละสองแสนบาท แต่ในร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เงินชดเชย และอาจมีเงินจากการไกล่เกลี่ยอีก โดยไม่กำหนดเพดาน และมีการคาดการณ์กันว่า เป็นหลักล้านบาทขึ้นไปต่อราย
   ฉะนั้นการคาดการณ์จากประสบการณ์ของสปสช.และต่างประเทศ ถ้ามีการใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประเทศไทยคงมีการใช้จ่ายเนื่องจากผลของพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นหลักหมื่นล้านบาทใน ระยะเวลาไม่กี่สิบปีข้างหน้า
3.4.2ถ้ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฯนี้แล้ว จะสูญเสียเงินตราของประเทศมากมายมหาศาลจาการที่ แพทย์จะพยายามป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้อง ด้วยการกระทำที่เรียกว่า การแพทย์เพื่อป้องกันตัวเองจากความผิดพลาด ( Defensive Medicine)  โดยแพทย์ต้องระมัดระวังในการตรวจรักษาผู้ป่วยมากเกินความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิด “ช่องว่างในการถูกจับผิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม” โดยการส่งผู้ป่วยตรวจค้นสาเหตุแห่งอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีพิเศษพิสดาร (แปลว่าละเอียดละออเกินจำเป็น) โดยไม่มีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นทางการแพทย์ เช่นส่งตรวจเลือด เอ๊กซเรย์ ultrasound (อัลตร้าซาวด์ )CT MRI และการตรวจพิเศษอื่นๆอีกมากมาย หรือใช้ยาหลายๆขนานให้ครอบจักรวาล โดยอาจจะไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเงินตราในการนี้อีกมากมายหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ การแพทย์แบบป้องกันตัวเอง ยังจะทำให้แพทย์ไม่กล้ารักษาผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่าเมื่อได้ลงมือรักษาผู้ป่วยแล้ว ผลการรักษาจะดีขึ้นหรือไม่  และแพทย์คงไม่กล้ารักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญเฉพาะ โดยเลือกที่จะส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่รพ.อื่น ที่อาจจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือมีอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการทรุดหนักในระหว่างเดินทางและอาจสูญเสียโอกาสในการรอดชีวิตก็ได้ ซึ่งผลที่สุดแล้ว ผู้จะเสียหายก็คือผู้ป่วยและครอบครัวนั่นเอง
ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการ ฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดในโลก นอกจากแพทย์จะต้องซื้อประกัน(สำหรับความผิดพลาดจากการตรวจรักษาคนไข้) เพื่อจะได้ประกันว่า ถ้าถูกฟ้องร้องให้จ่ายค่าเสียหายแล้ว จะมีบริษัทประกันจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องร้อง  และด้วยความกลัวการตกเป็นจำเลยในศาล แพทย์ยังมีการป้องกันตัวเองแบบ Defensive Medicine ซึ่งมีผลให้มีค่าใช้จ่ายจากการ การจ่ายเงินสูงถึงหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ  
 
     ถ้ามีการใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ในประเทศไทย มีการคาดการณ์กันว่า จะเกิดการแพทย์เพื่อป้องกันตัวเองจากความผิดพลาด (Defensive Medicine)ทุกอย่างเต็มรูปแบบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้งบประมาณภาครัฐที่ใช้ในด้านสาธารณสุขของประเทศไทยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องถูกใช้ไปอย่างไม่จำเป็นในการที่แพทย์ต้องประกอบวิชาชีพอย่างป้องกันตัวเอง โดยที่ขณะนี้งบประมาณสาธารณสุขภาครัฐอยู่ที่มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่า เงินประมาณหลักหมื่นล้านบาทจะถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์เพื่อ Defensive Medicine อย่างแน่นอน
  ในขณะที่ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีความขาดแคลน ทั้งเงินงบประมาณ (ขาดทุนหลายร้อยแห่ง) ขาดบุคลากรทุกประเภท (แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิเชียน และอื่นๆ) ขาดทั้งอาคารสถานที่ (ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ต้องนอนตามระเบียง เตียงแทรก เตียงเสริม) แพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอ ก็ไม่กล้ารักษาผ่าตัดผู้ป่วย เนื่องจากมีตัวอย่างคำพิพากษาให้จำคุกแพทย์ในคดีผ่าตัดไส้ติ่งที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต่อไปถ้ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย มีคำว่า “รักษาตามมาตรฐาน”ในมาตรา 6 แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัด (ทั้งโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ฯ) ก็คงไม่กล้ารักษาผู้ป่วย เพราะเกรงว่าอาจไม่ได้มาตรฐานเหมือนในโรงเรียนแพทย์ และก็คงเลือกที่จะส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลระดับสูงกว่า คือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่อไป  
3.4.3 ถ้ามีพ.ร.บ.นี้ ผู้ป่วยก็อาจจะไม่ไว้ใจหมอว่าผลการรักษานั้นมันดีที่สุดแค่นี้แล้วหรือ และก็คงอยากจะเรียกร้องเงินจากกองทุนตามพ.ร.บ.นี้  ในขณะที่บุคลากรสาธารณสุขก็คงหวาดระแวงว่า อาจจะถูกผู้ป่วยหรือญาติฟ้องร้อง แพทย์ก็คงจะต้องหาทางป้องกันตนเองจากการร้องเรียน/ฟ้องร้องและคดีความ ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ก็คงจะไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนในปัจจุบัน กลายเป็นต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน การบริการทางการแพทย์ก็จะเป็นการทำตามหน้าที่ (และผู้ป่วยก็อาจจะคาดหวังว่าจะได้รับเงินชดเชย ถ้ารักษาแล้วไม่หายจากอาการป่วย)  โดยปราศจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตามแบบเดิมๆในปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฯนี้
4. ความเห็นจากพญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์รพ.ศ./รพ.ท. ที่เข้าร่วประชุมกับคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯของกระทรวงสาธารณสุข ได้บอกกับพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาว่า เธอต้องการให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเข้าสู่การพิจารณาของสภษฯ และปลัดกระทรวงยืนยันว่า จะพิจารณาประเด็นที่จะแก้ไขในที่ประชุมก่อน แล้วจะนำไปทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเข้าประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อไปพิจารณาแก้ไขประเด็นต่างๆก่อนนำไปทำประชาพิจารณ์ แต่หลังจากได้ผลสรุป ที่ต้องการแก้ไข 12 ประเด็นแล้ว ปรากฏว่า ปลัดกระทรวงไม่ได้ทำตามคำพูดที่ว่าจะทำประชาพิจารณ์ใน 18 เขตของงานสาธารณสุข เมื่อพญ.พจนา ทวงถามปลัดว่า ทำไมไม่ทำประชาพิจารณ์อย่างที่พูดไว้ ปลัดกระทรวงตอบว่า “เพราะรัฐมนตรีไม่ได้สั่งให้ทำ”

5. ผศ.พอ.(พิเศษ) นพ.กิฎาพล วัฒนกุล แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เห็นว่า ร่างพ.รงบ.นี้ สมควรแก้ไข 25 มาตรา ในจำนวน 50 มาตรา ดังรายละเอียดตามข้อมูลที่แนบมาพร้อมนี้
6. คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิได้มีรายชื่อเป็นกรรมการสมานฉันท์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ทำไมมีรายชื่อว่าเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้
7.มีหลายหน่วยงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่าเห็นด้วยในหลักการ นั้น ส่วนมากเท่าที่ได้สอบถามแล้วและจากมติในการประชุมวันที่ 12 ตค. 53 พบว่าควรชะลอร่างพ.ร.บ.ไว้ก่อน ไม่ควรรีบเร่งนำพ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยนำมาทำประชาพิจารณ์ก่อน เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร แพทยสมาคม แพทยสภา กลุ่มวิชาชีพพยาบาล กลุ่มวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ กลุ่มวิชาชีพกายภาพบำบั และผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

 จึงขอกราบเรียนประธานวิปรัฐบาล ได้โปรดทราบความเห็นของหน่วยงาน และองค์กรต่างๆตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ ในแวดวงนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย
 

 
    

 
 


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พฤศจิกายน 2010, 15:33:26 โดย khunpou »