ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ปูยุทธศาสตร์ลดค่าใช้จ่าย 'ยา' ตีกรอบเห็นผลใน ม.ค.56  (อ่าน 935 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
สธ.เดินหน้าวางยุทธศาสตร์การใช้ "ยา"  เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านควบคุมราคากลาง สนับสนุนยาผลิตในปท. พัฒนาบัญชียา เป็นต้น  กำหนดกรอบเห็นผลเป็นรูปธรรมในเดือน ม.ค.ปีหน้า …

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐฯ ว่า   การดำเนินงานของคณะกรรมการแต่ละชุดมีความคืบหน้า ขณะนี้ได้มีการต่อรองราคายานอกบัญชียาหลักรวม 774 รายการ จะส่งให้กรมบัญชีกลางพิจารณากำหนดเป็นราคาอ้างอิงในการเบิกจ่าย คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 1,800 ล้านบาท

ทั้งนี้  มาตรการต่อไป คือ ต้องนำไปใช้จริงให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และองค์การเภสัชกรรมเห็นชอบในหลักการที่จะบริหารจัดการยาร่วมกัน มีคณะกรรมการคัดเลือกรายการยาที่เหมาะสม ให้องค์การเภสัชกรรมต่อรองราคายา กำหนดเป็นราคากลาง และให้โรงพยาบาลต่างๆ ซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือซื้อบริษัทอื่นๆ ในราคาที่ไม่เกินราคากลาง ซึ่งกรมบัญชีกลางจะมีระเบียบมาตรการออกมารองรับ เช่น กลุ่มยาลดไขมันที่มีการใช้สูง เป็นต้น

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ในการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยา นอกจากการสนับสนุนการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ยาส่วนที่นอกเหนือจากบัญชียาหลักยังสามารถใช้ได้ภายใต้หลักการ คือ 1.มีข้อบ่งชี้ในการใช้ และ2.มีราคากลางยา โดยสนับสนุนให้มีการใช้ยาชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาลดลง ตัวอย่างเช่น กลูโคซามีนซัลเฟต  สามารถลดการใช้จาก 600 ล้านบาทต่อปีเหลือประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี  

อีกทั้ง   ได้กำหนดราคายาอ้างอิงจากบริษัทผู้ผลิตภายในประเทศที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ทำให้ยาถูกลงประมาณ 3 เท่า คือ ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นแนวทางต่อไปในการดำเนินการสำหรับยากลุ่มอื่นๆ ที่มีมูลค่าการใช้สูงอีก 9 รายการ เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาต้านการอักเสบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากทำได้ครบทุกรายการคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า  มาตรการเสริมในการลดราคายา ได้จัดทำข้อบ่งชี้ในการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีราคาแพง การตรวจวินิจฉัยที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูง การตรวจวินิจฉัยทางรังสี และรังสีรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตาม  สิ่งต่างๆ ที่ดำเนินการ ไม่ได้ต้องการให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาด้วยวิธีที่ถูกที่สุด แต่ทำเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่สมเหตุผล และประเทศสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้

นอกจากนี้ มีการพัฒนาบัญชียาและรหัสมาตรฐานยา  ช่วยให้สามารถตรวจสอบการใช้ยาของโรงพยาบาลต่างๆ ได้ โดยได้วางระบบการตรวจสอบการรักษาพยาบาลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้เน้นย้ำว่าให้เป็นการตรวจสอบการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลในระดับองค์กร มากกว่าเป็นระดับตัวแพทย์ เพราะในการรักษาการใช้ยาถือเป็นการประกอบโรคศิลปะ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทั้งหมด

นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการระบบข่าวสารข้อมูลด้านการแพทย์ โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน เพื่อจัดระบบข้อมูลของผู้ให้บริการและผู้รับบริการของทั้ง 3 กองทุน ให้เชื่อมโยงกันสามารถประมวลผลข้อมูลด้านการรักษาและการใช้ยาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า  ความคืบหน้าในการดำเนินการ ตามมาตรการต่างๆ จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเดือนมกราคมปี 2556   เช่น มีการใช้ยาชื่อสามัญแล้วจำนวนเท่าใด มีการจัดซื้อยารวมสามารถลดค่าใช้ยาลงเท่าไร รวมทั้งกลุ่มโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ เช่นโรงเรียนแพทย์ กองทัพ จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานความก้าวหน้าของการนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยายาอย่างสมเหตุผล ในกลุ่มยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ  เป็นต้น

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาระบบยาของประเทศในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งด้านการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์การส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาชื่อสามัญการกำหนดแนวทางรักษา ข้อบ่งชี้การใช้ยา การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาลการพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาลและการเบิกจ่าย การพัฒนาบัญชียาและรหัสมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์ และการปรับปรุงกลไกการจ่ายยาของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐเพื่อให้มีการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ.


ไทยรัฐ