ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาเกี่ยวกับความอ้วน....ที่อาจคาดไม่ถึง  (อ่าน 834 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ความอ้วนนอกจากจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพแล้ว ยังอาจมีปัญหาอื่น ตามมาไม่น้อยทีเดียว

เมื่อสองสามวันก่อน วัยรุ่นสาว 3 คน เข้าไปสั่งอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย หลังจากที่เรียกให้พนักงานมาเก็บเงิน เธอทั้งหลายก็อารมณ์เสียทันที เพราะพวกเธอเหลือบไปเห็นข้อความบนบิล ที่เขียนไว้ติดกับ “หมายเลขโต๊ะ” ว่า “เด็กอ้วน” (Fat Girls)

เหตุก็เพราะ ตอนที่รับคำสั่งรายการอาหารนั้น พนักงานเสิร์ฟ ได้เขียนคำว่า “เด็กอ้วน” ลงไปด้วย เข้าใจว่าคงเป็นการเตือนความจำ ไม่ให้สับสนว่าอาหารชุดใด สั่งจากโต๊ะใด ซึ่งการใช้ลักษณะทางกายภาพของเด็กสาวทั้งสามคน เขียนลงไปเช่นนั้น ทำให้เกิดการโต้แย้งกันขึ้น ในที่สุด ผู้จัดการร้านอาหาร ต้องออกมาเจรจาขอโทษ และเสนอลดราคาค่าอาหารให้ 25% แต่เด็กสาวทั้งสามคนก็ไม่ยินยอม ผู้จัดการจึงเสนอลดราคาเป็น 50% ซึ่งข่าวไม่ได้บอกชัดเจนว่าในที่สุดแล้วพวกเธอรับข้อเสนอหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าพวกเธอ”ปฏิเสธการคืนเงิน”

นั่นเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อสองวันก่อน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน จนเป็นข่าวใหญ่โตเกี่ยวกับความอ้วน และกระทบต่อผู้โดยสาร รวมทั้งทำให้สายการบินต่างๆ ต้องนำมาทบทวนนโยบายกันเป็นแถว ก็คือสุภาพสตรีชาวอเมริกันคนหนึ่ง เธอได้ซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ แต่พอจะขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ของสายการบินกลับปฏิเสธ ไม่ยอมให้เธอขึ้นเครื่อง ด้วยเหตุผลว่าเธอนั้น.... “อ้วนเกินไป”

เธอถูกตั้งคำถามหลายคำถาม เช่นน้ำหนักเท่าไร ใส่เสื้อผ้าเบอร์อะไร น้ำหนักเฉลี่ยเท่าใด ฯลฯ ซึ่งเธอก็ตอบไปตามที่ถาม ด้วยอารมณ์ที่หงุดหงิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความจริง ความอึดอัดจากการนั่งในเก้าอี้โดยสารชั้นประหยัด จะเป็นเช่นใด ก็ไม่ใช่ปัญหาของเธอ เพราะเธอรับมันได้ แต่ปัญหาอยู่ที่สายการบิน เพราะสายการบินรับไม่ได้ และไม่ยอมให้เธอขึ้นเครื่อง....... เรื่องราวจึงบานปลายใหญ่โต

เจ้าหน้าที่สายการบินอธิบายว่า นโยบายของสายการบินก็คือ ถ้าหากผู้โดยสารรายใด “อ้วนมากกว่าปกติ” ก็สมควรจะต้องซื้อตั๋วสองใบไว้ก่อน และระบุว่าในทางปฏิบัตินั้น ถ้าหากไฟลท์ใดผู้โดยสารไม่เต็มลำและมีที่ว่างเหลืออยู่ สายการบินก็จะจัดให้นั่งติดกับเก้าอี้ที่ว่าง และจะคืนเงินค่าตั๋วใบที่สองให้ในภายหลัง (ซึ่งในทางปฏิบัติเข้าใจว่าคงเกิดกรณีเช่นนั้นได้ยาก เพราะทุกวันนี้สายการบินประเภทโลว์คอส มักจะเบียดกันจนแน่นเกือบจะทุกไฟลท์อยู่แล้ว)

เจ้าหน้าที่สายการบินบางราย ยังระบุด้วยว่า การรับผู้โดยสารซึ่งอ้วนมากกว่าปกติขึ้นเครื่องบิน ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาในเรื่องอาจผิดกฎของความปลอดภัยอีกข้อหนึ่งด้วย กล่าวคือสายการบินจะต้องระวังไม่ให้ ทางเดินบนเครื่องบิน ซึ่งค่อนข้างคับแคบอยู่แล้วนั้น ไม่ให้ถูกกีดขวาง แต่การที่มีผู้โดยสารซึ่งอ้วนมาก เวลาเดินไปเข้าห้องน้ำบนเครื่องบิน ก็เป็นการกีดขวางทางเดินเกือบจะทั้งหมด อีกด้วย

ทั้งนี้ มีหลายฝ่ายทีเดียว ที่แสดงความเห็นสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสายการบิน เช่นผู้โดยสารที่มีน้ำหนักปกติหลายราย ระบุผ่านสื่อออนไลน์ว่า การที่ผู้โดยสารที่นั่งข้างเคียงมีรูปร่างอ้วนใหญ่นั้น ทำให้พวกเขาได้รับความเดือดร้อน เพราะพวกเขาก็ซื้อตั๋วเครื่องบินในชั้นเดียวกันเช่นเดียวกับคนอื่น สมควรได้รับสิทธิพื้นฐานในที่นั่งของเขา ไม่ควรได้รับผลกระทบเกินเหตุจากผู้โดยสารข้างเคียง เช่นการวางแขนล้ำที่วางแขนเบียดเข้ามาในดินแดนของเขาตลอดเวลาหลายชั่วโมงบิน บางคนกล่าวว่าแม้กระทั่งพื้นที่บริเวณใต้ที่วางแขน ก็ยังมีก้อนเนื้อของผู้โดยสารข้างๆ “ล้น” เข้ามาเบียดในที่นั่งของเขาอีกด้วย นี่ยังไม่รวมความยากลำบาก ในยามที่คนใดคนหนึ่ง จะต้องเดินออกไปใช้ห้องน้ำ อีกด้วย ฯลฯ

ปีที่แล้ว อาเธอร์ เบอโควิช วัย 57 ปี ขึ้นเครื่องบินสายการบินยู.เอส. แอร์เวย์ส (U.S. Airways) จากอลาสก้า ไปยัง ฟิลาเดลเฟีย เขาบอกว่าผู้โดยสารชายน้ำหนักมากกว่าปกติที่นั่งติดกับเขา ทำให้เขาอึดอัดมาก จนเขาต้องลุกจากที่นั่ง ออกมายืนเกือบตลอดเวลาของการบิน 7 ชั่วโมง

นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานที่สายการบินแควนตัส ให้ความเห็นว่าผู้โดยสารที่มีน้ำหนักมากกว่าปกติ สมควรที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะเมื่อใครขนกระเป๋าเกินกว่าจำนวนที่กำหนด หรือเกินน้ำหนัก ก็ยังต้องจ่ายเงินเพิ่ม ดังนั้นผู้โดยสารรายใด มีน้ำหนักเกินปกติ ก็ควรจะต้องจ่ายเพิ่มเช่นกัน เพราะมีส่วนทำให้สายการบินเกิดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า “นั่นมันของ (นะ) แต่นี่มันคน (ย่ะ)”

ส่วนผู้โดยสารหญิงที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง เธอก็มีเหตุผลว่า เธอถูกตั้งคำถามมากเกินไปต่อหน้าธารกำนัล ทำให้เธอเสียหาย ขณะเดียวกัน ถ้าหากสายการบินจะให้เธอซื้อตั๋วสองใบ ก็ควรแจ้งในขณะที่เธอซื้อตั๋ว ไม่ใช่มาแจ้งที่สนามบินในขณะที่กำลังจะขึ้นเครื่องอยู่แล้ว และการปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องในเวลาเช่นนั้น ทำให้เธอได้รับความเสียหายต่อแผนการเดินทางของเธอเช่นกัน

เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา และสายการบินต่างๆก็หวนกลับไปทบทวน “นโยบายผู้โดยสารน้ำหนักมากกว่าปกติ” ซึ่งสายการบินหลายสาย ก็มีนโยบายที่ชัดเจนแล้ว ส่วนสมาคมท่องเที่ยวบางแห่ง ก็ได้พิมพ์คู่มือการเดินทาง สำหรับผู้โดยสารน้ำหนักมาก เพื่อช่วยให้การวางแผนการเดินทาง ราบรื่นยิ่งขึ้น

กลับไปที่เรื่องราวของเด็กสาวสามคน ที่ถูกระบุบนบิลค่าอาหารว่าเป็นโต๊ะ “เด็กอ้วน” อีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ ทั้งสามคนกำลังพิจารณาว่า จะฟ้อง ร้านอาหารดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมที่มีการฟ้องร้องกันได้เกือบจะทุกเรื่องนั้น ทนายหลายคนขันอาสาจะทำคดีให้ แต่นักกฎหมายบางคน ก็ให้ความเห็นว่า คดีอย่างนี้คงจะชนะยาก เพราะ “ไม่น่าจะระบุความเสียหายที่ชัดเจนได้” นอกจากนั้น นักกฎหมายบางคน ยังให้ความเห็นว่า เหตุที่ไม่น่าจะชนะคดีได้ก็เพราะ “ความอ้วน ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ”

เลยทำให้ผมนึกถึงรัฐธรรมนูญไทยขึ้นมา ว่ารัฐธรรมนูญคุ้มครองอะไรเราบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญของเรา น่าจะคุ้มครองเรามากมายหลายเรื่องเลยทีเดียว เพราะเห็นเขียนขึ้นมาคราใด ก็ช่วยกันคิดแล้วคิดอีก ว่าพวกเรามีสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรกันบ้าง แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า รัฐธรรมนูญจะคุ้มครองเราได้จริงหรือ..... เพราะขนาดคุ้มครองตัวเอง บางครั้งก็ยังคุ้มครองไม่ค่อยจะได้เลย ถูกเขาฉีกแล้วฉีกอีก ไม่รู้กี่ฉบับเข้าไปแล้ว

ช่วงนี้ก็กลับมาเป็นข่าวอีกแล้ว ว่าอาจจะถูกนำมาขัดสีฉวีวรรณ ฉีดโบท็อกซ์ ลอกผิวหน้า หรือไม่ก็อาจจะเขียนใหม่ทั้งฉบับ ยังถกเถียงกันอยู่ว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน และควรทำประชามติหรือไม่

ในฐานะคนไทยธรรมดาอย่างเราทั้งหลาย ก็คงทำได้เพียงช่วยกันให้ความเห็นในเวทีต่างๆ หรือถ้ามีการทำประชามติ ก็ไปใช้สิทธิออกเสียง เท่านั้นแหละครับ........ แล้วหลังจากนั้น ถ้าจะเกิดอะไรตามมา ก็ถือเสียว่าเป็นเรื่องของวาสนาหรือโชคชะตาของบ้านเมืองเรา ก็แล้วกัน

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  14 ธันวาคม 2555