ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทย์ ตรวจการติดเชื้อวัณโรคจากตัวอย่างเลือด รู้ผล 24 ชม.  (อ่าน 897 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   14 ธันวาคม 2555 16:22 น.   

       สธ. ตรวจการติดเชื้อวัณโรคโดยใช้เทคนิค ตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด มีความจำเพาะสูงและรู้ผลเร็วภายใน 24 ชั่วโมง โดยกรมวิทย์เป็นหน่วยงานแรกที่ทำการศึกษาวิจัยและนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรค ในประเทศไทยด้วยระบบคุณภาพสากล มีการใช้แพร่หลายมากขึ้น โดยใช้ตรวจการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ใช้ช่วยตรวจวินิจฉัยผู้สงสัยเป็นวัณโรคหรือผู้ป่วยวัณโรค ที่เก็บเสมหะตรวจไม่ได้ ผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด
       
       นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรคเป็นปัญหาสำคัญ ด้านสาธารณสุขของประเทศและของโลก องค์การอนามัยโลกรายงาน 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรค และจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง คาดว่าไทยมีผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดประมาณ 130,000 คน เสียชีวิตปีละกว่า 11,000 ราย โดยร้อยละ 80 เป็นวัณโรคปอด สำหรับแนวโน้มปัญหาวัณโรคของไทยอาจรุนแรงขึ้นเนื่องจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อมีภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้สูงกว่าคนปกติ และปัญหาเชื้อดื้อยาเพราะผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการควบคุมป้องกันวัณโรคอย่างเต็มที่ตลอดมา ตามข้อกำหนด ขององค์การอนามัยโลก โดยเร่งทำงานเชิงรุกในการค้นหาผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาให้เร็ว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของวัณโรค
       
       นพ.นิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการสร้างมาตรฐาน ความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของรถบริการสาธารณะ เพื่อเตรียมก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีภารกิจด้านการศึกษาวิจัย และให้บริการตรวจวิเคราะห์สนับสนุนการควบคุมโรค สำหรับการตรวจวัณโรคได้ศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการตรวจวัณโรคเพื่อให้รู้ผลเร็ว จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัย และการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อวัณโรคมีประสิทธิภาพและลดการแพร่ติดต่อของโรคได้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เทคนิคตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด มีความจำเพาะสูงและรู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง ขณะที่การเพาะเชื้อวัณโรคใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ จึงจะรู้ผล เนื่องจากเชื้อวัณโรคเจริญช้าและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานแรกที่ทำการศึกษาวิจัยและนำเทคนิคนี้มาใช้เพื่อการวินิจฉัย ผู้ติดเชื้อวัณโรคในประเทศไทยด้วยระบบคุณภาพสากล มีการใช้แพร่หลายมากขึ้น โดยใช้ตรวจการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ใช้ช่วยตรวจวินิจฉัยผู้สงสัยเป็นวัณโรคหรือผู้ป่วย วัณโรคที่เก็บเสมหะตรวจไม่ได้ผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด เป็นต้น
       
       นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจการติดเชื้อหรือตรวจวัณโรคระยะแรก สามารถทำได้โดยการตรวจการตอบสนอง ของภูมิคุ้มกัน ซึ่งในผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อวัณโรค ระบบภูมิคุ้มกันแบบพึ่งเซลล์จะมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อ วัณโรค ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ เรียกว่าวัณโรคแฝง ซึ่งอาจก่อโรคเมื่อภูมิคุ้มกันบกพร่องและแพร่โรค การตรวจการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อตรวจการติดเชื้อหรือการป่วยเป็นวัณโรคโดยการฉีดแอนติเจน Purified protein derivative (PPD) เข้าใต้ผิวหนัง มีความจำเพาะต่อวัณโรคต่ำ เนื่องจาก PPD เป็นแอนติเจนที่เป็นโปรตีนพบในเชื้อมัยโคแบคทีเรียทั่วไป ผลการทดสอบที่ให้ผลบวกอาจแยกไม่ได้ว่ามีการติดเชื้อหรือ ป่วยเป็นวัณโรคหรือติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียอื่น และแยกไม่ได้จากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคบีซีจี การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อวัณโรคหรือป่วยเป็นวัณโรค จะมีการผลิตสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมา สามารถตรวจวัดได้จากตัวอย่างเลือด ใช้เป็นเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการช่วยตรวจวินิจฉัยวัณโรคและตรวจการติดเชื้อระยะแรก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
       กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดบริการการตรวจการติดเชื้อวัณโรคโดยตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมา จากตัวอย่างเลือด ซึ่งรู้ผลเร็วและมีความจำเพาะสูง นำมาใช้ในโครงการตรวจสุขภาพแท็กซี่ ซึ่งได้ดำเนินโครงการร่วมกับกรมการแพทย์ ตรวจสุขภาพแท็กซี่โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จุดแรกในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงระหว่างวันที่ 17-28 ธันวาคม 2555 คาดว่าจะมีผู้ขับขี่แท็กซี่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก จุดต่อไปจะดำเนินการในสนามบินดอนเมือง โครงการนี้นอกจากการตรวจสุขภาพ ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักให้กับผู้ขับขี่แท็กซี่ใส่ใจดูแลสุขภาพที่อาจมีผลต่อผู้ใช้บริการด้วยแล้ว จะได้ผลประเมินสุขภาวะของผู้ขับขี่แท็กซี่ ให้การรับรองแท็กซี่สุขภาพดี ได้ข้อมูลอัตราการติดเชื้อวัณโรค และค้นหาผู้ติดเชื้อระยะแรก เป็นการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกและร่วมดำเนินการหยุดยั้งการแพร่ติดต่อวัณโรค