ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์จุฬาฯ ยัน “โครงค้ำยันฯ” รักษาหัวใจตีบแนวใหม่ได้ผล  (อ่าน 1187 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 แพทย์จุฬาฯ เผย กรมบัญชีกลางเตรียมบรรจุ โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดแบบย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแนวใหม่ เข้าสู่สิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่เบิกได้ในราคาเทียบเท่าการทำบอลลูนแบบใส่ขดลวด ส่วนต่างที่เหลือผู้ป่วยต้องจ่ายเอง ชูย่อยสลายได้ใน 2 ปี ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ลดโอกาสเสี่ยงกลับมาเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบอีก
       
       รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม แพทย์ผูเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ รพ.จุฬาฯ มีการนำโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้ (Bioresorbable Vascular Scaffold) เข้ามาใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยทำเรื่องขออนุญาตเป็นพิเศษเพื่อนำมาใช้ในกรณีศึกษาผู้ป่วยแล้ว 2 ราย เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่มีการรับรองภายในประเทศสหรัฐฯเอง ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี แม้จะมีการวิจัยที่ได้ผลชัดเจนจากกลุ่มประเทศยุโรปแล้วก็ตาม อาทิ ออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่รับรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวเพื่อใช้ในทางการค้า แต่สามารถใช้ในกรณีการศึกษาได้
       
       รศ.นพ.วสันต์ กล่าวอีกว่า เดิมการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะใช้วิธีการผ่าตัดบายพาส และการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดโดยการใช้ขดลวดเข้าไปขยาย แต่เนื่องจากขดลวดเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้การฟื้นตัวของหลอดเลือดไม่เป็นธรรมชาติ มีโอกาสที่เม็ดเลือดยึดเกาะตัวรวมกันจนเป็นลิ่มเลือดจนนำไปสู่ภาวะขดลวดอุดตันได้ แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยแต่ก็มีอันตรายถึงชีวิต จึงเป็นที่มาของโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดฯชนิดย่อยสลายได้ เพราะผลิตมาจากโพลีแลคติก แอซิด (Polylactic acid) ที่จะค่อยๆ ย่อยสลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ภายใน 2 ปี และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบอีก
   
       “โครงค้ำยันฯจะมีความแข็งแรงเหมือนขดลวด สามารถค้ำยันเป็นโครงสร้างได้ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้การฟื้นตัวของหลอดเลือดสมบูรณ์ จากนั้นจะค่อยๆ สลาย และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไปเองภายใน 2 ปี หลอดเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติ สามารถหดและคลายตัวได้ดีกว่าการใส่ขดลวด ซึ่งมีความแข็งทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและติดขัด อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยให้หลอดเลือดกลับมาเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยควรระมัดระวังในเรื่องของเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง และบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย” รศ.นพ.วสันต์ กล่าว
       
       รศ.นพ.วสันต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมา สมาคมมัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพของแพทย์ผู้ทำบอลลูน ได้เสนอให้ต่อกรมบัญชีกลาง เพื่อให้บรรจุโครงค้ำยันฯเข้าสู่ระบบการเบิกของสิทธิสวัสดิการข้าราชการแล้ว ซึ่งดูจากท่าทีของกรมบัญชีกลางคาดว่าจะสามารถออกระเบียบให้สามารถใช้ได้ภายในปี 2556 โดยสามารถเบิกค่ารักษาได้เทียบเท่ากับการทำบอลลูนใส่ขดลวด ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 45,000 บาท ต่อหนึ่งขดลวด แต่ส่วนต่างของราคาที่เหลือผู้ป่วยต้องจ่ายเอง ซึ่งราคาของโครงค้ำยันฯจะแพงกว่าขดลวดถึง 3 เท่า
       
       “การรักษาหลอดเลือดด้วยการทำบายพาส บอลลูนใส่ขดลวด หรือใส่โครงค้ำยันฯ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ประชาชนและผู้ป่วยโดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงควรหมั่นรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหากมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้น เช่น เดินขึ้นบันได 2-3 ชั้นแล้วรู้สึกเหนื่อยกว่าเมื่อก่อน มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนหัวใจขาดเลือด มีอะไรมากดทับ บีบรัด หรืออาการแสบๆ ควรไปทำการตรวจและให้แพทย์วินิจฉัยทันทีว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ เพื่อที่จะทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที” รศ.นพ.วสันต์ กล่าว


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 ธันวาคม 2555