ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: มองซีอีโอโลก: 'คริสเตียน บาร์นาร์ด' ศัลยแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจคนแรกของโลก  (อ่าน 1607 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2555 00:00:17 น.
โดย วิกรม กรมดิษฐ์
ปัจจุบันอายุขัยของมนุษย์สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาประชากรล้นโลก จนถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีสุขภาพและอายุขัยยาวนานขึ้น เกิดจากพวกนักวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ที่ได้มีการคิดค้นกรรมวิธีต่างๆ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยาวนานขึ้นกว่าคนในอดีต

 
ผมเชื่อว่าหากในวันนี้เราไม่มีการแพทย์ที่ดีเฉกเช่นในปัจจุบัน อายุขัยของคนเราอาจจะยังเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 30 ปี เท่ากับอายุขัยของคนเมื่อ200 ปีก่อน เหมือนกับปู่ของผมเมื่อ50 กว่าปีที่แล้ว ที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม ซึ่งถือเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง มิหนำซ้ำผมยังเคยได้ยินข่าวว่า มีคนเสียชีวิตด้วยการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่เพียงเพราะว่าการรักษาพยาบาลล้าหลัง อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือโรคเอดส์ ที่เราเพิ่งรู้จักอย่างจริงว่าเป็นอย่างไรก็เมื่อประมาณ20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น เมื่อก่อนไม่มีใครรู้เลยว่าโรคเอดส์เป็นอย่างไร เนื่องจากความรู้ทางด้านการแพทย์ยังไม่พัฒนานัก มีผู้ป่วยโรคเอดส์จำนวนมากที่ต้องตายลง โดยที่พวกเขาและญาติๆ ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีสาเหตุมาจากอะไร

โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงโรคหนึ่ง แม้เราจะสามารถป้องกันได้ แต่หมอและพยาบาลก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเอดส์จากคนไข้ที่เขารักษาได้ด้วย เพราะจะต้องสัมผัสกับคนไข้เหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ต้องผจญกับความเสี่ยงสูง และงานยังหนักจนแทบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เรากลับไม่เคยได้ยินว่ามีหมอคนไหนรวยติดอันดับโลกเลย และไม่มีหมอที่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนกับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับโลกเช่นเดียวกัน สิ่งนี้เองที่เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า อาชีพหมอนั้นเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ปิดทองหลังพระ เนื่องจากเป็นคนที่ต้องเสียสละและสร้างคุณงามความดีให้แก่มวลมนุษย์ จึงไม่ค่อยปรากฏว่ามีชื่อเสียงหรือร่ำรวยเหมือนอาชีพอื่นๆ

ในอดีตโรคหัวใจเป็นอีกโรคหนึ่งที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก ในแต่ละปีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมีจำนวนมากอยู่ในอันดับต้นๆ โรคหัวใจเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากใครป่วยเป็นโรคนี้โอกาสที่จะเสียชีวิตมีอยู่สูงมาก แต่เมื่อ40 กว่าปีที่แล้ว มีนายแพทย์คนหนึ่งเป็นผู้ริเริ่มรักษาโรคหัวใจโดยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ทำให้ผู้ที่ป่วยมีชีวิตต่อไปได้

นายแพทย์คริสเตียน บาร์นาร์ด กลายเป็นศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้สำเร็จคนแรกของโลก และกลายเป็นคนมีชื่อเสียงระดับโลก จุดนี้เองที่เปลี่ยนให้วงการแพทย์หันมาสนใจที่จะพัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ จนกระทั่งปัจจุบันนี้สามารถรักษาโรคหัวใจได้แล้ว โรคหัวใจจึงไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างเช่นในอดีตอีกต่อไป

เมื่อตอนอายุ40 ปี ผมมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ แต่ขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีการรักษาโรคหัวใจผิดจังหวะ ผมจึงมีโอกาสได้ไปทดลองรักษากับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในโรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยให้ผมมีหัวใจที่แข็งแรงเกือบถึงขั้นปกติมาจนทุกวันนี้

ผมขอขอบคุณคุณหมอและนักวิทยาศาสตร์ทุกคน ที่ช่วยกันคิดค้นวิธีต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้อายุขัยของมนุษย์เรายาวนานขึ้น และในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1967 ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่พลิกโฉมหน้าการรักษาของวงการแพทย์ เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมนุษย์ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในครั้งนั้นกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงก้องโลกไปในทันที

เขากล่าวเอาไว้ว่า "ตอนวันเสาร์ ผมยังเป็นศัลยแพทย์คนหนึ่งในแอฟริกาใต้ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่พอมาวันจันทร์ ผมก็กลายเป็นคนดังของโลก"

ประวัติ
คริสเตียน บาร์นาร์ด ชื่อเต็มของเขาคือคริสเตียน นีธลิง บาร์นาร์ด(Christiaan Neethling Barnard) เกิดเมื่อวันที่8 พฤศจิกายน ค.ศ.1922 เขาเกิดและเติบโตขึ้นที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่าโบฟอร์ตเวสต์ (Beaufort West) ของเคปทาวน์ (Cape Town) อยู่ทางตอนใต้ในประเทศแอฟริกาใต้ บิดามีชื่อว่าอดัม เฮนดริก บาร์นาร์ด (Adam Hendrik Barnard) เป็นบาทหลวงผู้เป็นนักเทศน์ประจำโบสถ์ มารดามีชื่อว่ามาเรีย เอลิซาเบธ เดอ สจวต เป็นคนเล่นออร์แกนประจำโบสถ์และเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวของคริสเตียน บาร์นาร์ด เป็นชาวแอฟริกันผิวขาว (Afrikaner) ที่สืบเชื้อสายจากชาวดัตช์

ครอบครัวเขาเป็นครอบครัวใหญ่ เขามีพี่น้องเป็นชายทั้งหมดด้วยกัน 4 คน แต่มีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นกับครอบครัวนี้เมื่ออับราฮัม พี่ชายคนหนึ่งของเขาได้เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจตั้งแต่มีอายุได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น ประสบการณ์ตรงในชีวิตวัยเด็กจึงถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้คริสเตียน บาร์นาร์ด เลือกประกอบอาชีพเป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ และยังทำให้น้องชายของคริสเตียน บาร์นาร์ด อีกคนคือ มาริอุส เลือกที่จะเดินตามรอยเท้าพี่ชายด้วยเหตุผลเดียวกัน และในที่สุดก็กลายมาเป็นนายแพทย์มือขวาคนสำคัญของคริสเตียน บาร์นาร์ด ที่ร่วมมือกันทำงานที่แผนกศัลยกรรมหัวใจ

อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดี เขาจึงเลือกเรียนและประกอบอาชีพทางด้านนี้ เพื่อจะได้นำเงินมาให้แก่บิดาใช้หนี้ที่ยืมมาเลี้ยงดูส่งเสียให้ลูกๆ เรียน น่าเสียดายที่บิดาของเขาเสียชีวิตก่อนหน้าที่เขาจะทำการผ่าตัดหัวใจสำเร็จเพียง 3 สัปดาห์

คริสเตียน บาร์นาร์ด เป็นเด็กที่เรียนดี เล่นดนตรีและกีฬาควบคู่กัน    เขาตัดสินใจที่จะเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ (Beaufort West High School) แม้ว่าครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดีนัก แต่พอจะมีเงินเก็บให้เขาเรียนหนังสือได้เป็นเวลา 3 ปี กล่าวกันว่าเรื่องความยากจนในวัยเด็กนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้เขากลายเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จและมีนิสัยยอมเสี่ยง

เขาศึกษาวิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเคปทาวน์เมื่อปีค.ศ.1940 เขาเป็นนักเรียนแพทย์ธรรมดาที่เต็มไปด้วยความอุตสาหะพากเพียรในการเรียน  และต้องทำงานพิเศษอย่างหนักเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการเรียน

นอกจากปัญหาเรื่องเงินแล้วปัญหาอีกเรื่องหนึ่งสำหรับการเรียนคือภาษา เพราะครอบครัวของเขาพูดภาษาดัตช์ ดังนั้นเขาจึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการเรียนและพูดภาษาอังกฤษ เขาเรียนจบได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตและศัลยศาสตรบัณฑิตในปี ค.ศ.1946 หลังจากที่ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 6 ปี

หลังเรียนจบ คริสเตียน บาร์นาร์ด เริ่มทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลกรูตชืร ที่ซึ่งเขาได้แต่งงานกับภรรยาคนแรก และมีเรื่องเกิดขึ้นระหว่างการทำงานที่นั่น ซึ่งเป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เขากลายเป็นศัลยแพทย์ด้านหัวใจคือ มีคนไข้ที่ถูกส่งตัวมารักษาเป็นทารกชายที่ป่วยเป็นโรคหัวใจรักษาไม่ได้ ต่อมาเด็กทารกคนนั้นเสียชีวิตลง ทำให้เขาเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องมีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหัวใจโดยใช้วิธีผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1951 เขาย้ายกลับมาที่เมืองเคปทาวน์ เพื่อทำงานเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลซิตี (City Hospital) พร้อมกับทำงานในภาควิชาการแพทย์ของโรงพยาบาลกรูตชืร (Groote Schuur Hospital) ในปี ค.ศ.1953 เขาได้รับปริญญาแพทยศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ต่อมาในปีเดียวกัน เขาก็ได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน และเป็นแพทย์ประจำแผนกศัลยศาสตร์ของโรงพยาบาลกรูตชืร

ในปี ค.ศ.1956 นายแพทย์คริสเตียน บาร์นาร์ด ได้รับทุนการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี เพื่อศึกษาด้านการผ่าตัดศัลยกรรมหลอดเลือดและหัวใจ ณ มหาวิทยาลัยแห่งมินนิโซตา (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการผ่าตัดล่าสุดเพื่อการรักษาโรคทางหัวใจ     ระหว่างนั้นเขาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ทำงานด้านเครื่องหัวใจและปอดเทียม (heart-lung machine) กับศาสตราจารย์วาเกนสตีน (Professor Wagensteen) นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัด ทำให้เขาเปลี่ยนจากการเป็นศัลยแพทย์ทั่วไปมาเป็นแพทย์ผู้ศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจและการผ่าตัดหลอดเลือดและหัวใจ เขาเห็นประโยชน์ของการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมในการผ่าตัด และเกิดแนวคิดว่าหากสามารถผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ แล้วทำไมจะไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้

อีก 2 ปีต่อมา เขาได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านศัลยศาสตร์ และในปีเดียวกันก็ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลังจากนั้นเขาได้เดินทางกลับประเทศแอฟริกาใต้พร้อมกับ "ของขวัญ" จากศาสตราจารย์วาเกนสตีน นั่นคือเครื่องหัวใจและปอดเทียมเขากลับมาทำงานที่โรงพยาบาลเดิมในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหลอดเลือดและหัวใจ หน้าที่การงานของเขาก็ก้าวหน้าเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่เขาได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้สอนและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการผ่าตัดของมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ หลังจากนั้นอีก 3 ปี เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกศัลยกรรมหลอดเลือดและหัวใจที่โรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยเคปทาวน์

ในปี ค.ศ.1962 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองศาสตราจารย์ของภาควิชาศัลยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ในปีต่อๆ มาเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคทางหัวใจ และกลายเป็นศัลยแพทย์อาวุโสด้านหลอดเลือดและหัวใจที่เป็นที่เคารพในโรงพยาบาลกรูตชืรในเมืองเคปทาวน์ เขาได้นำวิธีการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดและวิธีการรักษาอื่นๆมาใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ได้ทำการทดลองผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสุนัขอยู่เป็นเวลาหลายปี แต่สุนัขมากกว่า 50 ตัวที่ทำการทดลองผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนั้นตายลงหลังการผ่าตัดไม่นาน

ในปี ค.ศ.1972 เขาได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นศาสตราจารย์ของภาควิชาศัลยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคปทาวน์

นายแพทย์คริสเตียน บาร์นาร์ด มีคนไข้อยู่ในความดูแลคนหนึ่งชื่อว่าหลุยส์ วอชแคนสกี (Louis Washkansky) อายุ 55 ปี เป็นพ่อค้าขายส่งของชำที่เมืองเคปทาวน์ ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจที่รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที ผู้ป่วยรายนี้มีอาการหัวใจล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง แต่รอดชีวิตมาได้ ถึงแม้กระนั้นสภาพร่างกายของเขาในขณะนั้นก็ย่ำแย่เต็มที หัวใจของเขามีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีอาการหายใจลำบาก ไตและตับก็กำลังจะวาย    ขาบวมมาก คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น คนไข้ผู้นี้มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือนอนรอความตาย กับเลือกที่จะเสี่ยงทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่นายแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดรับประกันว่า มีเปอร์เซ็นต์ของการรอดชีวิตอยู่ 80% คนไข้คนนี้เลือกหนทางสุดท้ายคือเลือกที่จะผ่าตัด

"สำหรับคนที่ใกล้จะตาย มันไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากลำบากอะไร เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเขาอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายแล้ว สมมติเหมือนมีสิงโตตัวหนึ่งไล่กวดคุณมาที่ริมฝั่งแม่น้ำที่เต็มไปด้วยจระเข้ คุณก็จะเลือกที่จะกระโดดลงไปในแม่น้ำ เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยคุณยังมีโอกาสที่จะรอดโดยว่ายน้ำหนีไปยังอีกฝั่งหนึ่ง" เป็นคำกล่าวของนายแพทย์คริสเตียน บาร์นาร์ด ก่อนที่จะทำการตัดสินใจผ่าตัดครั้งนี้.

(อ่านต่ออาทิตย์หน้า)