ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในโรงพยาบาลถิ่น ทุรกันดาร จำนวน 172 แห่ง
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตามแนวชายแดน 10 จังหวัด ที่ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ นอกจากการบริการรักษาคนไทยที่ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัว โดยต้องเจียดงบประมาณที่ได้ไปช่วยเหลือ ซึ่งกลุ่มคนรอพิสูจน์สัญชาติ เป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยมานาน
ก่อนหน้านี้เคยได้รับบัตรสวัสดิการประชาชนเพื่อรักษาพยาบาล (บัตร สปร.) สิทธิ์รักษาฟรีในฐานะผู้มีรายได้น้อย และนอกจากนี้ยังเคยได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เช่นเดียวกับคนไทยมาก่อน แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2545 หลังจากที่มีการตีความใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนอกจากกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติแล้ว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ข้ามแดนเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งนำบางโรคเข้ามาแพร่ยังคนไทยด้วย เช่น วัณโรค อหิวาตกโรค โรคเท้าช้าง เป็นต้น จำเป็นต้องป้องกันและควบคุม ทำให้เป็นปัญหาที่โรงพยาบาลตามแนวชายแดนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเช่นกัน ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ จึงเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดงบประมาณในการ ดูแลสุขภาพกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีจำนวน 450,000 รายเพื่อให้ได้รับสิทธิบัตรทอง เป็นการช่วยเหลือโรงพยาบาลที่กำลังประสบปัญหา คาดว่าเบื้องต้นจะเป็นการของบประมาณในช่วงครึ่งปี 2553 นี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม จำนวน 550 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวาระพิเศษเพื่อขอมติ