ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง! ปี 55 ยอดคนเข้าบำบัดยาเสพติดพุ่ง 5.6 แสนคน เพิ่มจากปี 54 เกือบ 2 เท่า  (อ่าน 972 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
พบปี 55 คนไทยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากถึง 1.2 ล้านคน ยอดเข้าบำบัดรักษาพุ่ง 5.6 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 54 เกือบ 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นนิยมเสพยาบ้า-ยาไอซ์มากขึ้น ด้านกรมการแพทย์เตรียมเปิดโครงการ “พิราบอาสา ต้านภัยยาเสพติด” ตั้งเป้าให้ความรู้สื่อมวลชน
       
       วันนี้ (27 พ.ย.) ที่กรมการแพทย์ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.จิโรธ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “พิราบอาสา ต้านภัยยาเสพติด” ซึ่งเป็นกิจกรรมอบรมความรู้วิชาการด้านยาเสพติด และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชนให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษพิษภัยยาเสพติด เพื่อให้เกิดผลต่อประชาชน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค. 2555 ที่อาคารปาร์คเวนเจอร์ ห้องวิคเตอร์ 2-3 ซึ่งมีสื่อมวลชนเป็นเป้าหมายหลักในการอบรม
       
       นพ.จิโรธ กล่าวว่า ยอดประมาณการผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและผู้เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติดทั่วประเทศระหว่างปี 2553-2555 พบว่า ในปี 2553 มีผู้เกี่ยวข้อง 954,302 คน ผู้เข้าบำบัด 264,083 คน ปี 2554 มีผู้เกี่ยวข้อง 1,084,931 คน ผู้เข้าบำบัด 307,878 คน และปี 2555 มีผู้เกี่ยวข้อง 1.2 ล้านคน ผู้เข้าบำบัด 560,000 คน ส่วนในปี 2556 คาดว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องประมาณ 1.9 ล้านคน โดยตั้งเป้าติดตาม 7 แสนคนและเข้ารับการบำบัด 3 แสนคน โดยเป็นการเข้ารับการบำบัดในสถานที่ที่ให้การบำบัดต่างๆ รวมถึงสถาบันธัญญารักษ์ ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะสถาบันธัญญารักษ์จะมีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรายใหม่ปีละ 70% และผู้ป่วยรายใหม่ 30%

 นพ.จิโรธ กล่าวอีกว่า จากผลการดำเนินการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในปี 2555 หากจำแนกตามประเภทกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มรับจ้างมากที่สุด 41.71% รองลงมาเป็นกลุ่มคนที่ว่างงาน 17.41% การเกษตร 16.81% ท้ายสุดเป็นกลุ่มเยาวชน 9.12% ที่พบตั้งแต่อายุ 18-29 ปี โดยในกลุ่มเหล่านี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไปเข้ารับการบำบัดจาก 500-600 คน มีการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือเป็นพันกว่าคน ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกและควรเร่งหาทางแก้ไข เพราะเท่ากับเป็นการทำลายช่วงอายุของคนไทย เนื่องจากเด็กปัจจุบันจะกลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่ผู้ค้ายาเสพติดมุ่งเน้นกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ค้าและผู้เสพมากขึ้น เพราะหากถูกจับกุมจะได้รับโทษน้อยกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งมีการยับยั้งชั่งใจน้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย ทั้งนี้ เหตุที่ทำให้คนติดยาเสพติดมากขึ้น เพราะหลงผิดไม่รู้เท่าทันว่าทุกครั้งที่เสพยาเสพติดเป็นการทำลายสมอง คิดเพียงทำให้คึก ทำงานได้จำนวนมาก หรือถูกโฆษณาชวนเชื่อหลอกว่าเสพแล้วผิวขาว รูปร่างผอมหุ่นดี
       
       นพ.จิโรธ กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ เตรียมการก่อนรักษา, ถอนพิษยา, ฟื้นฟูสมรรถภาพ และติดตามหลังการรักษา เน้นการให้ยาเพื่อให้เซลล์สมองฟื้นตัว เมื่อสมองดีขึ้นก็บำบัดด้านจิตใจ โดยฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด แบ่งการรักษาเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สมัครใจ, บังคับบำบัด และต้องโทษในราชทัณฑ์ ซึ่งสถาบันธัญญารักษ์มีเครือข่ายการบำบัดรักษาครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดประจำภาคในจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดสงขลา, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดปัตตานี และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยปัจจุบันประเทศไทยแบ่งผู้ติดยาเสพติดเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้เสพ (Users) หมายถึงมีการเสพยาเสพติดเป็นครั้งคราว 2.กลุ่มผู้เสพแบบอันตราย (Abusers) หมายถึง เป็นการเสพที่ทำให้เกิดอันตรายหรือปัญหา 3.กลุ่มผู้เสพแบบติด (Dependence) หมายถึง เสพแบบมีปัญหา และ 4.กลุ่มผู้เสพติดรุนแรง (…with comorbidity) หมายถึง กลุ่มผู้เสพ ที่มีปัญหา กาย จิต สังคม โรคร่วม
       
       “ยาเสพติดยอดฮิตจะมี 2 ตัวหลักๆ คือ ยาบ้า และยาไอซ์ ในกลุ่มยาบ้า ชนชั้นแรงงานจะติดเยอะสุด ส่วนยาไอซ์มาจากการสกัดยาบ้าให้บริสุทธิ์มากขึ้น จึงมีความเข้มข้นของตัวแอมเฟตามีนมากขึ้น ออกฤทธิ์ร้ายแรง รุนแรง และรวดเร็วกว่ายาบ้า จะฮิตในกลุ่มชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และกลุ่มวัยรุ่น ทั้งนี้ กลุ่มที่ขายยาบ้า มักจะทำเป็นกิจการครอบครัว แถมคนในครอบครัวก็เสพกับเกือบทุกคน การเลิกจึงทำได้ยาก เพราะแม้จะเลิกได้แล้วแต่ต้องกลับไปอยู่วังวนเดิมๆ ก็เสพใหม่อีก ต่างจากลุ่มที่ขายเฮโรอีน กลุ่มนี้จะขายอย่างเดียวไม่เสพ ขณะที่นักโทษในคุกมากกว่า 60-70% ก็เป็นผู้ทำผิดเรื่องยาเสพติด จึงไม่แปลกที่สังคมมักได้ข่าวการลักลอบนำเข้ายาเสพติด หรือโทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อขายยาปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ” นพ.จิโรธ กล่าว
       
       ด้าน พญ.วิลาวัณย์ กล่าวว่า นโยบายด้านการประชาสัมพันธ์เรื่องอันตรายของยาเสพติดเป็นวาระระดับชาติ ที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความใส่ใจร่วมกัน เนื่องจากปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวของคนใดคนหนึ่ง แต่หากเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องเผชิญกับความไม่สุขสงบในสังคม อันเนื่องมาจากผู้เสพก่อภัยอันตราย ทางกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และสถาบันธัญญารักษ์ จึงเห็นควรจัดงานอบรมสัมมนาความรู้วิชาการด้านยาเสพติด เป็นกิจกรรมเชิงรุกในโครงการ “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค. 55 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ช่วยเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านดังกล่าวต่อสาธารณะ
       
       “เป็นการดีกว่าถ้าเราตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ถึงอันตรายของยาเสพติดว่ามีผลต่อสมองและร่างกายของคนเราขนาดไหน หวังว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้จะช่วยให้คนในสังคมไม่ตกเป็นเหยื่อกระบวนค้ายาเสพติด ช่วยลดปริมาณผู้เสพหน้าใหม่ และเข้าถึงข้อมูลว่าการเข้ารับการบำบัดอาการติดตาเสพติดไม่ได้น่ากลัว น่ารังเกียจ หรือน่าอาย อย่างที่คิด ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยปกป้องคนในยุคเจนเนอเรชันใหม่ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะทุกชีวิตมีความหมาย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 พฤศจิกายน 2555