ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.รัฐกำลังจะล้มละลายฝีมือใครกันแน่ ..  (อ่าน 1654 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โรงพยาบาลรัฐกำลังจะล้มละลาย 1

หลายวันก่อนมีข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ระบุตรงกันว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 467 แห่ง กำลังเสี่ยงต่อการขาดทุน 175 แห่ง ขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้นรุนแรง และมีภาวะขาดทุน 505 แห่ง

ส่วนไตรมาส 2 ของปี 2553 มีโรงพยาบาล 191 แห่งที่ขาดสภาพคล่อง ทางการเงิน ชนิดที่ไม่มีเงินบำรุงไว้จ่ายเงินเดือนและเงินทำงานล่วงเวลาแก่ลูกจ้างชั่ว คราว อีก 467 แห่งอยู่ในสภาวะขาดทุนคือรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และมีแนวโน้มว่าจะขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรงในอนาคต บางแห่งไม่มีเงินจ่ายค่ายา จนบริษัทยาไม่ยอมส่งยามาให้อีกแล้ว

จึงมี คำถามว่าทำไมโรงพยาบาลของรัฐจึงขาดทุน ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือมีรายได้น้อยแต่รายจ่ายมาก ได้รับงบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพน้อยไป ไม่คุ้มกับรายจ่ายที่ใช้ในการรักษาประชาชน

โดยงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.รับมาจากรัฐบาลนั้น ตกมาถึงมือโรงพยาบาลไม่ถึงครึ่ง เพราะต้องหักเงินเดือนบุคลากร และ สปสช.เอาไปจัดสรรทำโครงการต่างๆ  ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ สปสช.ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนั้น การจ่ายงบประมาณจาก  สปสช.มายังโรงพยาบาล มีการจ่ายเป็นงวดๆ  ไม่ได้จ่ายตามค่าเหมาจ่ายรายหัวตามเม็ดเงินจริงที่ สปสช.ได้รับมาจากเงินงบประมาณของรัฐบาล ทั้งนี้ เงินเหมาจ่ายรายหัวจากรัฐบาลนั้นมาถึงโรงพยาบาลเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงบฯ ที่รัฐบาลจัดสรรมา ทั้งนี้ สปสช.จะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลไตรมาสแรกเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น

แต่เลขาธิการ  สปสช.บอกว่า  ปีนี้จะจ่ายให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยในงวดแรกจะจ่ายให้โรงพยาบาลร้อยละ 50 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว

นพ. ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ  สปสช. บอกว่า การที่โรงพยาบาลขาดทุน เป็นเพราะโรงพยาบาลจ่ายค่าตอบแทนหมอเพิ่มขึ้น รัฐบาลควรตั้งงบประมาณมาจ่ายค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างหาก แยกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว

ถ้าเรามาอ่าน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 บัญญัติไว้ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากจะมีอำนาจหน้าที่จ่ายค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องจัดประชุม  เพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไป จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี

แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการสาธารณสุขเลย

ตรงกันข้าม สปสช.ใช้เงินเป็นอำนาจในการสั่งให้โรงพยาบาลทำการรักษาผู้ป่วยอย่างไรบ้าง เช่น พิจารณาออกระเบียบการบริหารกองทุนเอง และกำหนดให้โรงพยาบาลซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ปฏิบัติตามระเบียบที่ทางสำนักงานเป็นผู้กำหนดใหม่ทุกปี  ทั้งนี้ สปสช.มิได้จัดการประชุมรับฟังปัญหาอุปสรรค และความไม่เพียงพอของงบประมาณที่โรงพยาบาลต้องใช้จ่ายในการให้บริการแก่ ประชาชน

เรียกว่า  สปสช.กำหนดอัตราการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขตาม อำเภอใจ มิได้รับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในโรงพยาบาลแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่ทำตามระเบียบ สปสช.ก็จะไม่ส่งเงินมาให้ หรือถ้าโรงพยาบาลไหนส่งรายงานช้า สปสช.ก็จะหักเงินที่ควรจะส่งเพื่อเป็นการลงโทษ ทั้งๆที่โรงพยาบาลอาจมีภารกิจมากมายในการดูแลรักษาผู้ป่วย จนอาจจะส่งรายงานล่าช้าไปบ้าง

นอกจากนั้น สปสช.ยังได้ทำผิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการกันเงินเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.ควรจะจ่ายตรงให้โรงพยาบาลเอามาบริหารจัดการเอง เช่น จัดซื้อยา จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ จัดซื้อวัคซีน และจัดโครงการบริหารจัดการโรคเฉพาะ โดยการกำหนดยาและหลักเกณฑ์ในการใช้ยาบางประเภทเท่านั้น เป็นการละเมิดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ที่ไม่สามารถใช้ดุลพินิจในการเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย เพราะถ้าไม่ทำตามที่  สปสช.กำหนดไว้ โรงพยาบาลก็ไม่สามารถเบิกเงินค่ารักษาจาก สปสช.ได้

โรงพยาบาลรัฐกำลังจะล้มละลาย 2

ปัญหาโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดทุน มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 หลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อโรงพยาบาลไม่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณโดยตรง แม้แต่เงินเดือน ก็ต้องแบ่งจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ที่รัฐบาลจ่ายผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แต่โรงพยาบาล จะได้รับเงินนี้ หลังจากส่งรายงานการรักษาผู้ป่วยไปยัง สปสช. แต่เงินที่ได้จาก สปสช.นี้เป็นรายรับที่ขาดทุน น้อยกว่ารายจ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายจริง ตามระเบียบที่ สปสช.กำหนด

ทำให้โรงพยาบาลต้องควักเงินบริจาคที่ยังเหลืออยู่ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย แต่เงินที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับจาก สปสช.นั้น ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องหาทางหารายได้เพิ่ม แต่เมื่อไม่สามารถของบประมาณจาก สปสช.เพิ่มขึ้นได้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อขึ้นราคาค่ายา ค่าห้องพิเศษ ค่าตรวจพิเศษ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าทำบัตร และค่าบริการตรวจรักษาผู้ป่วยอีก 30-100%

บางอย่างไม่เคยเก็บเงิน ก็ต้องเก็บ เช่น ค่าทำบัตรผู้ป่วย ค่าบริการทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อนำรายได้จากผู้ป่วยส่วนนี้ ไปช่วยลดการขาดทุนสะสมจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การขึ้นราคาค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลดังกล่าว จึงทำให้เห็นว่างบประมาณค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการ จึงเพิ่มขึ้นอย่าง มากมายมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายของสวัสดิการข้าราชการ นอกจากจะเพิ่มขึ้นเพราะโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขขึ้นราคาค่าบริการทั้งหมด แล้ว การที่แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งยา ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายของตนแล้ว ยังเป็นเพราะว่าค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็ง โรคหัวใจ  และโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนอื่นๆนั้น  มียาใหม่ๆที่มีราคาสูงแต่มีคุณภาพในการรักษาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นในขณะที่ ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง

จะ เห็นได้ว่าโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ที่รับรักษาผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาจากสวัสดิการข้าราชการ นั้น  จะมีรายได้สูงและนำรายได้จากส่วนนี้มาถัวเฉลี่ยกับการขาดทุนจากระบบหลักประกันสุขภาพ

จากการสัมมนาเรื่องแปดปีภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยแพทยสภาเมื่อไม่นานมานี้ มีข้อเสนอจากที่ประชุมว่า ควรแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยให้ สปสช.ลดบทบาทมาเป็นระดับกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ และจะช่วยลดงบประมาณการบริหารสำนักงาน รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรใน สปสช.ให้เหมาะสม

ระบบการจัดสรรงบประมาณควรมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ แยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบบริการ การจ่ายงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยควรจ่ายตามที่เป็นจริง ควรมีระบบร่วมจ่าย คนจนรักษาฟรี คนไม่จนต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้ เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการจัดบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสำหรับ ประชาชนทุกคน โดยที่โรงพยาบาลไม่อยู่ในสภาพขาดทุนและขาดสภาพคล่องเช่นนี้

และ ข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือน และค่าตอบแทนในภาคราชการของแพทยสภาได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ควรแยก บุคลากรสาธารณสุขออกจาก ก.พ. เพื่อจัดสรรตำแหน่ง เงินเดือน ค่าตอบแทนให้เหมาะกับภาระหน้าที่ ความเสี่ยงภัยจากการติดโรค และความผิดชอบระดับสูงคือ รับผิดชอบชีวิตและสุขภาพประชาชน

ในการจัด สัมมนาทุกครั้ง สมาพันธ์และบรรดาแพทย์ได้เชิญ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ไปเป็นประธาน เผื่อว่าท่านรัฐมนตรีจะได้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ รมต.ไม่เคยว่างที่จะไปร่วมงานสักที

อยากได้บริการที่ดีขึ้น มาตรฐานดีขึ้น ก็มีปัญหาทั้งบุคลากรและเงินอย่างนี้แหละ รัฐบาลก็ชอบหาเสียงเพราะมีปมด้อยกลัวประชาชน ไม่เลือก ก็ไม่รู้ว่าจะซื้อใจประชาชนได้หรือไม่ ทุ่มสารพัดทั้งแจกและแถม ขาดอย่างเดียวใช้สมองทำงาน.

"ลมสลาตัน"
ไทยรัฐ 19 ตุลาคม พ.ศ.2553  "ลมสลาตัน"