ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนคนไทยทุกคน  (อ่าน 2234 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
 จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนทุกคน ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
20 ตุลาคม 2553
เรื่อง ขอให้ประชาชนช่วยแจ้งให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ออกจากวาระการพิจารณาของสภาฯ
เรียน พ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านผ่านสส.ทุกคน
   ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับประชาชนทุกท่านว่า     การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข (Healthcare services) นั้น มีความแตกต่างจากการบริการอื่นๆอย่างไร?
   การบริการอื่นๆโดยทั่วไปเช่นการค้าขาย การโรงแรม การท่องเที่ยว การให้บริการด้านการศึกษา การขนส่ง ฯลฯนั้น ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ สามารถเลือกที่จะไปรับบริการหรือเลือกจะให้บริการหรือไม่ก็ได้ แต่การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ประชาชนเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกว่า จะไปรับบริการหรือไม่ก็ได้ แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ไม่มีสิทธิที่จะเลือกรักษาหรือไม่รักษาผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยไม่ชอบโรงพยาบาลนี้ ไม่ชอบหมอคนนี้ ก็สามารถที่จะเลือกไม่ไปรับบริการก็ได้
   แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถเลือกผู้ป่วยได้ จะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยร้ายแรงรุมเร้ากี่ชนิด จะบาดเจ็บยับเยินแค่ไหน จะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่ แพทย์ไม่มีโอกาสเลือก ต้องพยายามทุ่มเทความรู้ทางการแพทย์(วิทยาศาสตร์) และเลือกเทคนิคและวิธีการ(ศิลปศาสตร์) ที่เหมาะสมและดีที่สุด  เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยของตนทุกคน ที่ถูกส่งมาขอความช่วยเหลือต่อหน้าต่อตา ให้กลับคงมีชีวิตและสุขภาพดีดังเดิม
  แต่การรักษาความเจ็บป่วยนั้น แม้แพทย์จะใช้ศาสตร์และศิลป์ที่คิดว่าดีที่สุดอย่างไรก็ตาม อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยนั้น อาจจะกลับคืนดีดังเดิมไม่ได้ เพราะมีคำกล่าวเตือนใจบุคลากรทางการแพทย์เสมอว่า “Medicine is a science of probability and an art of uncertainty” แปลว่า วิชาการแพทย์นั้น เป็นวิทยาศาสตร์ของความน่าจะเป็น (เป็นไปได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้) และเป็นศิลปะศาสตร์แห่งความไม่แน่นอน” หมายความว่า เมื่อหมอเลือกทำการรักษาตามตำราที่ได้เรียนมาแล้ว ก็อาจจะได้ผลดีหรือไม่ก็ได้ และวิธีการที่รักษานั้นก็อาจได้ผลไม่แน่นอนตามที่คาดหมายไว้ก็ได้ ทั้งนี้ก็เพราะผู้ป่วยอาจจะมีอาการใหม่คือโรคแทรกซ้อน หรืออาการอันไม่พึงประสงค์จากยา หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือเป็นความรุนแรงลุกลามของโรคเอง ที่เลวร้ายทรุดลงไปกว่าเดิม ประกอบกับขีดจำกัดของยา วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยทุกชนิดให้หายกลับดีดังเดิมได้  หรือเป็นเพราะสภาพอวัยวะต่างๆของผู้ป่วยแต่ละคน แต่ละเพศ และแต่ละวัย ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียก็ได้หรือศิลปะศาสตร์ของผู้รักษาเองที่ยังมิได้มีทักษะและความเชี่ยวชาญมากพอในการรักษาในแต่ละกรณีเฉพาะเป็นรายๆไป จึงทำให้อาการผู้ป่วยไม่ฟื้นคืนกลับมา
แต่อย่างไรก็ตามหมอทุกคนก็ได้รับการปลูกฝังจากครูอาจารย์เสมอว่า “First of all, do no harm” หมายความว่า สิ่งสำคัญที่สุดสิ่งแรกในการรักษาผู้ป่วยก็คือ อย่าทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย
  นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้วข้างต้นที่ทำให้ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดผลร้ายนั้น ยังมี สาเหตุสำคัญที่อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยบางคน ที่อาจไม่ฟื้นจากโรคนั้น ได้แก่การที่ผู้ป่วย ไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำหรือข้อห้ามของแพทย์ เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง หมอห้ามกินอาหารเค็ม ให้ลดเกลือ ลดน้ำหนัก ลดความเครียด งดดื่มเหล้า ห้ามสูบบุหรี่ และให้กินยาตามสั่ง แต่ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตในสมองแตก เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตถาวร
  ถ้ายังไม่มีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ผู้ป่วยที่ไปหาหมอแล้วอาการไม่ดีขึ้นนั้น ก็อาจจะยอมรับฟังการอธิบายของหมอว่า ทำไมจึงเกิดผลอันร้ายแรงต่ออาการของตนหรือญาติ แต่ถ้ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แล้ว ผู้ป่วยหรือญาติก็คงนำเรื่องไปร้องเรียน ฟ้องร้อง ฟ้องศาล ได้ 6 ขั้นตอน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์นั้น ต้องส่งคำชี้แจงในการรักษา รวมทั้งต้องไปให้การต่อคณะอนุกรรมการและกรรมการ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 46  และยังต้องถูกเรียกเก็บเงินล่วงหน้า เอาไปให้คณะกรรมการตามพ.ร.บ. สั่งจ่ายได้ตามอำเภอใจที่กำหนดเอาเอง
  ครั้นหมอบอกว่า จะเลือกรักษาผู้ป่วยที่ดูว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเสียหายและการร้องเรียน ประชาชนก็กล่าวหาว่าหมอไม่มีจรรยาบรรณ หรือใช้อารมณ์ข่มขู่ เอาประชาชนคนป่วยเป็นตัวประกัน
   ขอให้ผู้อ่านที่เป็นประชาชน ลองสมมติว่าตัวเองเป็นหมอ ต้องตกอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แบบที่กำลังจะเข้าสภาอยู่นี้ ท่านจะอยากเลือกรักษาผู้ป่วยหรือไม่?  หรือจะยอมรักษาผู้ป่วยทุกคนในจำนวนมากๆเหมือนเดิม โดยไม่ป้องกันความเสียหายต่อผู้ป่วย(โดยการส่งผู้ป่วยต่อไปรักษากับหมอคนอื่นและโรงพยาบาลอื่นที่อาจจะเก่งและมีอุปกรณ์การแพทย์หรือเทคโนโลยีทันสมัยและดีกว่าเรา)แลป้องกันความเสี่ยงต่อการจะติดคุกติดตารางของตนเอง
   ในปัจจุบันนี้นอกจากหมอจะไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยแล้ว หมอยังพยายามช่วยเหลือประชาชนจนสุดความสามารถทุกวิถีทาง ประชาชนป่วยมาก/ป่วยน้อย อาการหนัก/เบา ฉุกเฉิน/เร่งด่วนหรือไม่  เมื่อมาหาหมอแล้ว หมอก็พยายามตรวจรักษาให้ครบทุกคน แม้ว่าจะขาดแคลนหมอ แต่หมอหนึ่งคนก็ยอมตรวจรักษาผู้ป่วยวันละ100-200 คน ไม่มีเตียงนอน หมอก็พยายามหาเตียงเสริม เตียงแทรก หาที่ตั้งตามระเบียง หน้าห้องน้ำ หน้าบันได หน้าประตู ปูเสื่อให้นอน ฯลฯ เพื่อจะให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการดูแลรักษาเต็มที่เท่าที่จะทำได้ โดยที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมิได้ลงมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้แต่อย่างใด แต่หมอทั้งหลายต่างก็พยายามทำงาน เพื่อให้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพ ไม่เป็นสองรองใครในภาวะที่ขาดแคลนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนความผิดพลาด/เสียหายก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และก็มีกลไกในการตรวจสอบ/ ช่วยเหลือ/เยียวยาอยู่แล้ว หลายทาง เช่นมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกลไกอื่นๆที่หลายๆโรงพยาบาลก็ช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว รวมทั้งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา
 แต่ตอนนี้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พยายามผลักดันจะให้สภารับหลักการในการออกมาออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ที่สื่อมวลชนหลายฉบับเรียกว่ากฎหมาย “มีดหมอ”  แปลว่าอะไร? แปลว่าเป็นกฎหมาย “เชือดหมอ” ทั้งๆที่หมอส่วนมากพยายามดูแลรักษาผู้ป่วยจนเต็มที่ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และมอบเวลาให้ประชาชนถึงสัปดาห์ละ 80-120ชั่วโมง มีหมอบางคนต้องอญุ่ประจำโรงพยาบาลชุมชนคนเดียว ต้องช่วยดูแลรักษาประชาชน 20,000-30,000 คนทุกวันตลอดปีมาหลายสิบปีแล้ว
    ในทางตรงกันข้าม การบริการอื่นๆ เช่น การบริการด้านการศึกษา การขนส่งคมนาคม การเสริมสวย การประกอบอาหาร การขายสินค้าฯลฯ ทั้งผู้ที่จะไปรับบริการและผู้จัดให้บริการต่างก็มีสิทธิเสมอกัน ในการที่จะเลือกไปรับบริการและหรือให้บริการหรือไม่ก็ได้  และการบริการบางอย่างนั้น ผู้ให้บริการสามารถเลือกผู้รับบริการของตนและปฏิเสธไม่ให้บริการใครก็ได้ที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่ผู้ให้บริการกำหนด รวมทั้งสามารถจำกัดจำนวนผู้ที่จะไปรับบริการได้ด้วย ถ้าจำนวนบุคคลที่จะให้บริการมีขีดจำกัดแค่ไหน ก็จะปิดไม่รับผู้มาขอรับบริการทันที 
   ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือบริการด้านการศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดคุณสมบัติและสอบคัดเลือกเอาคนเก่งคนดี มีคุณสมบัติตามที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต้องการ เข้ารับการศึกษาเล่าเรียน ตามจำนวนที่ครูอาจารย์จะสอนได้หรือตามจำนวนที่จะมีที่นั่งให้เรียนเท่านั้น และถ้าคนที่ได้รับคัดเลือกแล้วนั้นปฏิบัติตนไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ทำตัวเกเร หรือสอบไม่ได้ ก็ต้องถูกผู้ให้บริการคือครูอาจารย์ลงโทษให้ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไป ทั้งๆที่ครูอาจารย์นั้นเองก็อาจะเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อให้เกิดความบกพร่องในการให้การศึกษาด้วย แต่ก็ไม่เห็นมีประชาชนคนไหน ไปขอให้รัฐบาลออกกฎหมายมาเอาผิดครูบาอาจารย์และโรงเรียนว่าเลือกปฏิบัติและทำให้เกิดความเสียหายแก่อนาคตบุตรหลานของตนบ้าง
 ฉะนั้น ถ้าประชาชนยังอยากจะให้หมอทำงานตรวจรักษาผู้ป่วย โดยไม่เลือกปฏิบัติ เหมือนเดิม ช่วยเหลือเกื้อกูลเหมือนเดิม ตามวัฒนธรรมไทยที่โอบอ้อมเอื้ออารีต่อกันเหมือนเดิม ประชาชนต้องช่วยหมอ โดยขอให้ประชาชนและสส.ที่เป็นผู้แทนอันชอบด้วยกฎหมายของประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน ไปทำความเข้าใจกับรัฐบาล  ขอให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ออกจากสภาฯ เพราะประชานนั้น มีสิทธิที่จะเลือกให้หมอรักษาหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่หมอไม่มีสิทธิเลือกผู้ป่วย พยายามช่วยเหลือผู้ป่วยของตนทุกวิถีทางที่จะช่วยได้ และเมื่อเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ โรคแทรกซ้อน พิการ/ตาย แล้ว บ้านเมืองนี้ก็มีกลไกในการช่วยเหลือเยียวยา โดยไม่เพ่งโทษใคร จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และรัฐบาลก็ควรเลิกทำตัวอยู่เหนือปัญหา ยื่นแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมแก่ประชาชน 65 ล้านคนของประเทศ มิใช่เลือกคุ้มครองเฉพาะคน 48 ล้านคนเท่านั้น
  การออกกฎหมายของบ้านเมืองนั้น ย่อมต้องมุ่งหวังที่จะขจัดคนพาลและอภิบาลคนดี แต่พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....นี้ จะขจัดหมอดีออกกจากระบบดูแลรักษาประชาชน แต่ส่งเสริมคนพาลให้มาทำหน้าที่ควบคุมคนดี จนทนอยู่ทำงานเพื่อประชาชนได้
  ขอฝากความหวังดีต่อระบบบริการสาธารณสุข ประชาชนและประเทศชาติไว้ ในความรับผิดชอบของประชาชนทุกท่าน
ด้วยความรักและปรารถนาดีอย่างจริงใจ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
รองประธาน พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุลนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ พอ.นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต เทคนิกการแพทย์วัฒโนทัย ไทยถาวร เภสัชกรหญิงพัชรี ศิริศักดิ์
เลขาธิการ นพ.วรวุฒิ นรสิงห์
สมาชิก