ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขยันผลักดันพ.ร.บ.คค.  (อ่าน 2177 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ทำไมรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขยันผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย?
แต่กลับเพิกเฉยกับการแก้ไขสารพันปัญหาที่ดำรงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข?
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
   ในปัจจุบันข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขมี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือข่าวโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนจนบางแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งแพทย์หลายคนมีความอึดอัดคับข้องใจ ในมาตรการของกรมบัญชีกลาง ที่บังคับให้แพทย์สั่งใช้ยาบางอย่างเท่านั้น เพื่อประหยัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ และมาตรการของสปสช.ในการบังคับเวชปฏิบัติของแพทย์
  จากการสัมมนาเรื่องแปดปีภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งจัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ได้รับฟังความเห็นประกอบกับเอกสารของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้แสดงอย่างชัดเจนแล้วว่า โรงพยาบาลของรัฐบาลขาดทุน กระแสเงินสดติดลบเป็นจำนวน505 แห่งจากจำนวนโรงพยาบาล807 แห่ง คิดเป็นจำนวนโรงพยาบาลขาดทุนจำนวน 62% โดยมีโรงพยาบาลขาดทุนจนขาดสภาพคล่องทางการเงิน 175 แห่ง จนไม่มีเงินจ่ายค่ายาและบริษัทยาจะไม่ส่งยาให้ก็มี
 คณะกรรมการจัดงานสัมมนาได้สรุปปัญหาของการดำเนินงานแปดปีภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพดังนี้
1.งบประมาณรายหัวที่โรงพยาบาลได้รับไม่เพียงพอต่อการดำเนินการรักษาพยาบาลประชาชน
2.มาตรฐานงานคุณภาพบริการทางการแพทย์และศักยภาพงานบริการลดลง
3.ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในการจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพ และฟ้องร้องมากขึ้น
4. บุคลากรสาธารณสุขทำงานด้วยความเครียดและหวาดผวา เพราะกลัวจะถูกฟ้องร้อง จึงให้การตรวจรักษาเกินความจำเป็น (defensive medicine) ไม่กล้ารักษาผู้ป่วยอาการหนักหรือยุ่งยากซับซ้อน แต่ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลระดับสูงมากขึ้น
   แต่แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะรีบเร่งหาทางดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่เห็นจะทำอะไรให้เป็นรูปธรรม ทำให้ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขถูกหยิบยกมากล่าวถึงอีกในระยะนี้ รัฐมนตรีก็โบ้ยให้ปลัดและสปสช.แก้ปัญหา (จากข่าวในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 กย. 2553 หน้า 11)  แต่ก็ยังไม่เห็นข่าวว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะรีบเร่งมีมาตรการแก้ปัญหาแต่อย่างใด  แต่ยังซ้ำเติมปัญหาข้อที่ 4 คือจะออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ให้ได้ ด้วยวิธีการต่างๆเท่าที่จะคิดได้ ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆทุกวัน ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากบุคลากรสาธารณสุขที่ได้ทำประชาพิจารณ์ใน 25 จังหวัดแล้ว พบว่า บุคลากรสาธารณสุขต่างก็ไม่เห็นด้วย 100 % และเรา(สผพท.)ได้ขอร้องให้รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสธ.ทำประชาพิจารณ์ในหมู่ประชาชน เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ก่อนจะดำเนินการใดๆในการออกพ.ร.บ.ให้มีผลใช้บังคับ
  แต่ทั้งรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ และปลัดไพจิตร วราชิต ก็มิได้นำพา ที่จะทำตามคำขอร้องของพวกเราผู้ปฏิบัติงานดูแลรักษาประชาชน
  จึงน่าสงสัยว่า ทำไมทั้งสองคนจึงขยันผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองฯอย่างสุดตัว แต่เมินเฉยในการแก้ปัญหา ทั้ง 4 ข้อข้างต้น อันจะช่วยให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขสามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรมีเวลาทำงานตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
แต่ทั้งสองคนยินดีที่จะรอให้ประชาชนเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหาย พิการ ตายเสียก่อน แล้วให้มาขอเงินชดเชยตามร่างพ.ร.บ.ที่คนทั้งสองกำลังใช้ความพยายามสูงสุดผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
   จึงมีคำถามต่อสาธารณชนว่า สมควรไว้วางใจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงยังอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพประชาชนหรือไม่?