ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองฯ  (อ่าน 2101 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
จดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
9 ตุลาคม 2553
เรื่อง  ขอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย ผลการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=455&Itemid=45
    สืบเนื่องจกการที่ดิฉันพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้เคยเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และร้องขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงาระดับชาติ เพื่อทำประชาพิจารณ์ฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ว่าเห็นด้วยกับเนื้อหาและหลักการหรือความจำเป็นในการที่จะต้องตราพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไปแก้ไข/เพิ่มเติมพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เพื่อให้สามารถขยายความครอบคลุมในการคุ้มครองประชาชนให้คบถ้วน 65 ล้านคนทั่วประเทศ มิใช่คุ้มครองเฉพาะประชาชน 48 ล้านคนเท่านั้น และอาจแก้ไขให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเพิ่มวงเงินในการช่วยเหลือคุ้มครองประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ท่านนายกฯได้กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบดำเนินการในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง ไม่ต้องมาให้ทางรัฐบาลรับผิดชอบในการทำประชาพิจารณ์ ความนี้เป็นที่ทราบกันดีจากการติดตามข่าวของสื่อสารมวลชนในประเทศ
  มาบัดนี้ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขจะไม่รับผิดชอบหรือสนับสนุนให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แล้ว ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขยังพยายามขัดขวางไม่ให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข อำนวยความสะดวกในการจัดทำประชาพิจารณ์โดยห้ามใช้อาคารสถานที่และห้องประชุมของโรงพยาบาล จัดการประชุมเพื่อทำความเข้าใจและทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... อีกด้วย เพราะผู้บริหารระดับสสจ.หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางแห่ง ไม่กล้าอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมของโรงพยาบาลจัดการประชุม แต่ยอมจ่ายเงินให้ไปจัดที่โรงแรมแทน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะถูกสั่งห้ามจากผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขด้วยหรือไม่
  แต่ถึงแม้พวกเราบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... พวกเราก็ได้เสียสละเวลา กำลังกายและกำลังทรัพย์ของพวกเราเอง ในการไปจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ในหลายๆจังหวัด และยังประสานงานไปยังอีกหลายๆจังหวัด เพื่อจะรับฟังความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครบทุกจังหวัด เพื่อจะนำผลการประชาพิจารณ์มาเสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนทั่วไป
  อนึ่งผลการทำประชาพิจารณ์ของพวกเรา ตั้งแต่เดือนสิงหาคมมาจนถึงปัจจุบันนี้ สามารถทำได้แล้ว 25 จังหวัด โดยมีผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ จนถึงระดับหมออนามัยและอสม. ผู้ที่ได้รับฟังรายละเอียดและมีความเข้าใจร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับร่างของรัฐบาลแล้วไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้ทุกคน กล่าวคือไม่เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์
   การที่เรา walk out จากการประชุมร่วมของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น ก็เพราะเราต้องการให้รอฟังการทำประชาพิจารณ์ให้ครบถ้วนตามที่เราได้แจ้งให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว และเราขอร้องท่านนายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลว่า โปรดตักเตือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า “อย่าขัดขวาง”การทำประชาพิจารณ์ของข้าราชการใต้บังคับบัญชาของท่าน อันเป็นการขัดขวางการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และขอร้องอีกครั้งหนึ่งให้รัฐบาลชะลอการการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จนกว่าการทำประชาพิจารณ์ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานทุกจังหวัดจะเสร็จสมบูรณ์ และขอร้องให้รัฐบาลโปรดรับทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วย
ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.